THE OPINION เปิดประเทศ โควิด-19

1 พ.ย. เปิดประเทศ โอกาส-ปัญหา-ความท้าทายท่องเที่ยวไทย

การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งรายได้หลักของประเทศไทย แต่การเปิดประเทศในขณะนี้ ยังคงมีความท้าทายอีกมากมาย

Home / TELL / 1 พ.ย. เปิดประเทศ โอกาส-ปัญหา-ความท้าทายท่องเที่ยวไทย

ประเด็นที่น่าสนใจ

  • [NOTE] – บทความเป็นข้อคิดเห็นมิใช่บทสรุปแต่อย่างใด
  • การเปิดประเทศของไทยเป็นหนึ่งในช่องทางสร้างรายได้เข้าประเทศได้ และทำให้ธุรกิจใจภาคท่องเที่ยวสามารถต่อลมหายใจไปได้อีกระยะ
  • การฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น – โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก – การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการเปิดประเทศ สร้างโอกาสให้ท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
  • แต่คงไม่ง่ายนัก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ยังคงมีอยู่ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้หลายประเทศก็เตรียมเปิดประเทศเช่นใน ในขณะที่ไทยยังอยู่ในคำเตือนการเดินทางการท่องเที่ยวในหลายประเทศ
  • ดังนั้นความท้าทายจึงอยู่ที่ จำนวนนักท่องเที่ยว คุณภาพนักท่องเที่ยว และการสร้างโอกาสอื่น ๆ ในการดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศอีกครั้ง

เพียงสัปดาห์เดียวที่ประเทศไทยจะเข้าสู่การเปิดประเทศในการให้ชาวต่างชาติใน 45 ประเทศ และ 1 เขตการปกครองพิเศษได้เดินทางเข้ามาในประเทศ แบบไม่ต้องกักตัว หากได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว และมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ

ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวต่างเฝ้ารอการมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อหวังว่าจะเป็นหนึ่งในการต่อยอดลมหายใจของธุรกิจในภาคท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องอีกหลายส่วน ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 2 ปี จากการระบาดของโควิด-19

จากต้นปีถึงวันนี้

ตลอดช่วงเวลาเกือบ 10 เดือนของปี 2564 สถิติการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติมายังประเทศไทยดิ่งลงจากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปกว่า 90% รายได้จากภาคการท่องเที่ยวก็ไม่มีสภาพไม่ต่างกันมากนัก เมื่อเทียบกับปี 2563

พัทยาในวันที่แทบจะไร้นักท่องเที่ยว

แรงกระตุ้นของการท่องเที่ยวไทย

ในปีนี้ สถานการณ์ภาพรวมของโลก แม้ว่าอัตราการติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวได้รับผลกระทบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องใช้ชีวิตอย่างจำกัด และอยากออกมาท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้ มีปัจจัยบวกที่แตกต่างจากปี 2563 หลายประการ

▪️ วัคซีนที่มีมากขึ้น

สถานการณ์การฉีดวัคซีนในหลายประเทศนั้นมีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอย่าง สหรัฐฯ ยุโรปในหลายประเทศ กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เข้ามาไทยอย่างต่อเนื่องเช่น จีน

จากการที่วัคซีนมีมากขึ้น ทำให้บรรยากาศของการผ่อนคลายมีสูงขึ้นกว่า เมื่อเทียบปี 2563 ที่ยังไม่มีวัคซีนใช้ ทำให้ทำผู้ที่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีกำลังซื้อ มีความสบายใจในการเดินทางมากขึ้น พร้อม-กล้าที่จะออกมาท่องเที่ยวกันมากขึ้น

▪️ การผ่อนคลาย/มาตรการอยู่ร่วมกับโควิด-19

หลายประเทศเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และมีแนวนโยบายของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 มากขึ้น พอ ๆ กับวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชน ดังนั้นการผ่อนคลายเงื่อนไขข้อจำกัดการเดินทางก็ยังมีมากขึ้นตามไปด้วย ตามแผนการเปิดประเทศของหลาย ๆ ประเทศที่เริ่มทยอยดำเนินการแล้วเช่นกัน

▪️ ภูเก็ตแซนด์บ็อก

สำหรับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่เป็นโครงการเพื่อทดลองความเป็นไปได้ในการจัดการท่องเที่ยวท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาตัวของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก รวมถึงการต่อยอดโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว 7+7 ไปยังพื้นที่อื่น ๆ

ซึ่งจากตัวโครงการเอง มีนักท่องเที่ยวราว 5 หมื่นราย สร้างรายได้หมุนเวียนในจังหวัดภูเก็ตได้เกือบ 3 พันล้านบาท เทียบไม่ได้กับช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 แต่ตัวโครงการนำร่องนี้ ก็ยังคงเป็นก้าวที่สำคัญ ในการนำไปรับใช้กับพื้นที่อื่น เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทย

และในช่วงโค้งสุดท้ายของภูเก็ตแซนด์บ็อก ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นดังไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อรัสเซลล์ โครว์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์และเดินทางเข้ามาผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก กลายเป็นหนึ่งแรงกระเพื่อมที่สำคัญทำให้ภาพของโครงการนี้ปรากฎสู่สายตาชาวโลก ก่อนการเปิดประเทศ นอกจากนี้ ยังมี แซค แอฟรอน นักแสดงระดับโลกอีกหนึ่งราย ที่ได้อวดภาพการท่องเที่ยวของไทย ผ่านบัญชีอิสตาแกรมส่วนตัว ที่มีผู้ติดตามอีกเกือบ 50 ล้านคน

▪️ เปิดประเทศในช่วงไฮซีซั่น

สถานการณ์ในหลาย ๆ ประเทศในช่วงนี้เริ่มมีอาการเย็น สะท้อนถึงสภาพอากาศในปีนี้ที่กำลังจะเข้าสู่ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งฤดูหนาวในประเทศไทย สำหรับนักท่องเที่ยวทางยุโรปแล้ว แทบไม่ต่างจากช่วงซัมเมอร์ ดังนั้นการเดินทางหนีอากาศหนาว มายังประเทศไทย จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ดีในช่วงปลายปีที่กำลังจะเปิดประเทศเช่นนี้

ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ที่หลากหลาย มีอาหารไทยที่ได้รับการยอมรับบนเวทีโลก ในหลาย ๆ เมนูด้วยกัน จึงยังคงจะเป็นจุดขายที่ดีของไทยได้ไม่ยากนัก

แต่ไม่ง่าย ในเมื่อหลายอย่างยังเป็นปัญหา

ในปัจจัยบวกที่เป็นแรงกระตุ้นการเดินทางเข้าประเทศของไทยที่ดูจะมีเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้ จากกระแสต่าง ๆ ที่รวมถึงการโปรโมทการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่ท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นคืนเหมือนเดิม

▪️ การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรที่ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงแล้วก็ตาม จึงส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางที่ต้องคิดหนักมากขึ้น

หลายประเทศมีมาตรการคุมเข้ม ล็อกดาวน์ จำกัดการเดินทาง เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่

▪️ สถานะของไทย ยังติดขึ้นเตือนการท่องเที่ยว

ในขณะที่ประเทศที่มีอัตราการระบาดต่ำ อย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ต่อวันน้อยกว่าประเทศไทย การเดินทางจากประเทศเสี่ยงต่ำ มายังประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ป่วยต่อวันสูงกว่า นั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าจะต้องคิดหนัก สำหรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้

ในขณะที่หลายประเทศยังคงประกาศให้ประเทศไทยอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” หรือมีคำแนะนำในการท่องเที่ยว หรือแม้แต่คำเตือน ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น เนื่องจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับที่สูงต้น ๆ ของภูมิภาค ดังนั้นนักท่องเที่ยวหลายคนจึงยังคงต้องคิดหนักในประเด็นนี้เช่นกัน

นักท่องเที่ยวในชุดป้องกันแบบเต็มตัว (แฟ้มภาพ)

▪️ สภาพเศรษฐกิจที่มีปัญหาในหลายประเทศ

แน่นอนว่า จากการล็อกดาวน์ การปิดกิจการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศส่งผลต่อเงินในกระเป๋าของนักท่องเที่ยวอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นจำนวนของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ คงไม่ง่ายที่จะเป็นไปตามความคาดหวังไว้อย่างแน่นอน และการดึงเงินออกจากกระเป๋านักท่องเที่ยวคงไม่ง่ายเช่นกัน

▪️ ภาพลบของการท่องเที่ยวไทย

นอกนี้ ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยยังคงเป็นปัญหา แม้กระทั่งในช่วงการโปรโมทโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก ก็ยังมีข่าวฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวสวิตเซอร์แลนด์เกิดขึ้นก็กระทบกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไม่น้อย

ยังไม่นับปัญหาเดิม ๆ ที่ยังคงวนเวียนอยู่ในการท่องเที่ยวของไทย เช่น ปัญหาการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารถ ฯลฯ ที่เป็นปัญหาสุดคลาสสิคของวงการท่องเที่ยวไทย ที่มีมาอย่างยาวนาน และยังไม่เห็นทางออกของปัญหาเหล่านี้


ประสบการณ์ตรงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับสิ่งที่นักท่องเที่ยวรายนี้เรียกว่า “Taxin Mafia”

ตัวอย่างหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโพสต์ข้อความถึงปัญหาที่ประสบ และเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “แท็กซี่มาเฟีย”

โดยเล่าว่า เมื่อเดินทางมาถึงเกาะสมุย และเรียกแท็กซี่เพื่อไปที่พัก ซึ่งเรียกแท็กซี่ในสนามบินก็ได้รับคำตอบว่า 700 บาท ในขณะที่เมื่อออกมาเรียกแท็กซี่ด้านนอกในราคา 400 บาท

ในขณะเดียวกันเมื่อเรียกบริการผ่านแอปฯ เหลือราคาเพียง150 บาท แต่ก็ไม่สามารถขึ้นได้ เนื่องจากแท็กซี่ระบุว่า การเรียกบริการดังกล่าวผิดกฏหมาย แถมยังถูกเดินตามนักท่องเที่ยวรายนี้ออกมา หลังปฏิเสธที่จะขึ้นแท็กซี่อีกด้วย

ซึ่งตัวของนักท่องเที่ยวรายนี้ ต้องเดินออกมานอกสนามบินเป็นระยะทางราว 1 กม. เพื่อขึ้นรถรับส่งที่เรียกผ่านแอปฯ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวรายนี้ระบุว่า ตนเองมีศักยพภาพอที่จะจ่าย เพียงแต่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น


▪️ ปลายทางของการท่องเที่ยว ไม่ใช่ “ไทย” ที่เดียวที่จะเปิดประเทศ

นอกจากนี้ หลายประเทศต่างเตรียมแผนในการเปิดประเทศเช่นกัน ทั้งในภูมิภาคอาเซียน-เพื่อนบ้าน ที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ต่ำกว่า หรือแม้กระทั่งประเทศยอดนิยมในการท่องเที่ยวทั้งหลายอย่างยุโรป ที่ก็มีแผนการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

จะฝ่าวิกฤตินี้ได้อย่างไร?

จากอุปสรรคที่ดูจะไม่ง่ายนัก ในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาภายในประเทศ การเปิดการเดินทางโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน จึงดูเป็นเพียงหนึ่งแรงกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวไทยเท่านั้น

▪️ ทำอย่างไรให้ท่องเที่ยวไทยคุ้มค่าพอที่จะจ่าย

หลายฝ่ายได้กล่าวถึงการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในการดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีกำลังจับจ่ายใช้สอย เข้ามาทดแทนจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งนั่นคงต้องถามกลับว่า “ไทยมีความคุ้มค่าในการจ่ายเงินเพียงพอหรือไม่?” ในตลาดการท่องเที่ยว

ปัญหาเดิม ๆ อย่างการฉวยโอกาสขึ้นราคาค่ารถ ค่าอาหาร ฯลฯ ยังคงมีอยู่ในเห็นอย่างต่อเนื่อง พบได้ตามกรุ๊ปต่าง ๆ ในโซเซียลมีเดียของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงมีอยู่

การปรับยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวทั้ง 17 จังหวัด ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ดูจะช่วยให้การท่องเที่ยวสะดวกขึ้น แต่สถานบันเทิง – ผับ – บาร์ รวมถึงมาตรการการอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ยังคงมีอยู่ ทำให้ตรงจุดนี้ เป็นอีกหนึ่งยังเป็นปัญหาหาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

▪️ ลดความเสี่ยงของโควิด-19

การเร่งการฉีดวัคซีนป้องกันให้มากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดการระบาด เพิ่มความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลขหนึ่งที่หลายประเทศใช้ในการ “ให้คำแนะนำ” กับประชาชนของตนก่อนการเดินทางมาไทย

ดังนั้นหากการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าในระดับที่สูงและรวดเร็ว การลดจำนวนผู้ป่วยได้มากพอ นั่นจะถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากความเชื่อมั่นในการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขของไทย เป็นหนึ่งในจุดแข็งหนึ่งเช่นกัน

จำนวนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย เฉลี่ยกว่า 8 แสนโดสต่อวัน

▪️ ยกระดับการท่องเที่ยว เพิ่มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

แนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) อยู่ในระดับต้น ๆ ของโลก ทั้งในแง่ของการเข้าถึงแพทย์-โรงพยาบาลได้ง่าย ค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่า รวมถึงบริการที่ดีกว่า ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มนี้มีแนวดน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีแผนเปิดการท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นด้านการแพทย์มาก่อน ดังนั้นจึงไม่ยากที่จะยกระดับการท่องเที่ยวไปสู่จุดนั้น

แต่อุปสรรคก็คงจะเป็นปัญหาของยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังสูงอยู่ ทำให้บุคลากรด้านการแพทย์ เตียง โรงพยาบาล ยังคงมีภารหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อยู่นั่นเอง

ความหวังในการดึงเม็ดเงินสู่ประเทศ

[บทสรุป]

ในท้ายที่สุดนี้ ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยว จะรุ่ง หรือ ร่วง ก็คงขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ภาคส่วนที่จำเป็นต้องร่วมกันในการผลักดัน ภาพลักษณ์ และดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ ด้วยโอกาสต่าง ๆ

▪️ ภาครัฐ เปิดทาง – ส่งเสริม – สนับสนุนให้ชัด

ในเชิงนโยบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนคลายมาตรการ, การกระตุ้นการท่องเที่ยว, การประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องดำเนินการคือ “ความชัดเจน” – “ตรงจุด” – “กระชับ”

  • ชัดเจน – ถึงสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวว่าเป็นอย่างไร, ข้อกำหนดในการเดินทางเป็นอย่างไร สิ่งใดทำได้-ไม่ได้ ฯลฯ เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการได้เข้าใจอย่างแท้จริง
  • ตรงจุด – ในเรื่องของการสื่อสาร การจัดการ การรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการจัดสรรวัคซีน-เวชภัณฑ์ เช่น ชุดตรวจ ATK ที่เข้าถึงได้ในราคาไม่แพง สำหรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เป็นต้น
  • กระชับ – ลดพิธีการ ขั้นตอน รูปแบบลง เพื่อสร้างความสะดวก สบายให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่อง “เล็กน้อย” ที่มักจะกลายเป็นปัญหาตลอดมา

▪️ ภาคเอกชน / ผู้ประกอบการ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวแทบจะทำอะไรไม่ได้มากนัก หลายกิจการจึงต้องถูกพักไปอย่างยาวนาน ดังนั้นเมื่อกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นักท่องเที่ยวพบเจอ ไม่ว่าจะเป็น การบริการ, สิ่งอำนวยความสะดวก, คุณภาพ และราคา กลายเป็นประเด็นพบเห็นได้เป็นระยะ ๆ ในโลกโซเซียล ดังนั้นการเตรียมพร้อมแนวทางการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้น่าเที่ยว น่าจับจ่ายมากยิ่งขึ้น

▪️ คนไทยผู้เป็นเจ้าบ้าน

เหนือสิ่งอื่นใด ๆ คือ คนไทยทุกๆ คนที่เป็นเจ้าบ้าน ถือเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวพูดถึงเสมอมา ถึงความเป็นมิตร รอยยิ้ม ของคนไทยทุกคน ดังนั้นจึงเป็นการดีหากเรายังคงรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ในฐานะของ “สยามเมืองยิ้ม”