NEXTPEOPLE คนไม่หมดไฟ

คุณยายทอผ้าหลานคนออกแบบ ตะกายฝันวงการแฟชั่นผ้าไทย อาย กชกร

อาย กชกร เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Kotcher คุณอายเล่าว่าจุดเริ่มต้นเหล่านี้มาจากความฝันในวัยเด็ก อยากเป็นคนที่ออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้อื่นได้สวมใส่แล้วเขารู้สึกมั่นใจในเสื้อผ้าของเรา..

Home / TELL / คุณยายทอผ้าหลานคนออกแบบ ตะกายฝันวงการแฟชั่นผ้าไทย อาย กชกร
https://youtu.be/6x1gJ9kbsAA

อาย กชกร เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Kotcher คุณอายเล่าว่าจุดเริ่มต้นเหล่านี้มาจากความฝันในวัยเด็ก อยากเป็นคนที่ออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้อื่นได้สวมใส่แล้วเขารู้สึกมั่นใจในเสื้อผ้าของเรา บวกกับคุณยายเป็นช่างทอผ้าเป็นคนที่ชอบทอผ้ามากๆ คุณอายก็เลยรู้สึกว่าถ้านำเอาสิ่งที่คุณยายทำมาต่อยอดมันน่าจะสนุกและท้าทายดี

ฝันที่อยากจะเป็นเริ่มต้นด้วย “คุณยาย”

“อายเริ่มจากตอนเด็กๆ ว่ามันเป็นความฝันวัยเด็กของเรา เราอยากเป็นคนที่ออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้อื่นได้สวมใส่แล้วเขารู้สึกมั่นใจในเสื้อผ้าของเรา แล้วก็ด้วยคุณยายเราเป็นช่างทอผ้าเป็นคนที่ชอบทอผ้ามากๆ เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราเอาสิ่งที่คุณยายทำมาต่อยอดมันน่าจะสนุกและก็ท้าทายดีค่ะ ก็ตั้งแต่จำความได้เลยคุณยายก็ว่างจากการเลี้ยงหลานๆ เลี้ยงเราหรือว่าทำอาชีพเกษตรกรรม ท่านก็จะมาทอผ้า ปลูกม่อน เลี้ยงไหม ส่วนใหญ่คุณยายของอายจะปลูกม่อนเลี้ยงไหมทอผ้าไหมเป็นหลักค่ะ”

จุดไฟ ประกายฝันด้วยคุณค่าของ…ผ้าไทย

“อายเรียนจบคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ของ ม.ขอนแก่นค่ะ ตอนที่เราเรียนอยู่มหาลัยเราได้มีการลงพื้นที่ไปหากลุ่มชาวบ้าน พัฒนาโปรดักส์อะไรมากมายจนจุดประกายให้เราแบบของเหล่านี้รู้สึกว่ามันมีคุณค่าแล้วก็สวยในแบบฉบับของมันค่ะ ถ้าเผื่อเรามีไอเดียดีๆ เราก็น่าจะต่อยอดสิ่งนี้ได้”

ชักชวนคนท้องถิ่นแท้ๆ มาร่วมตัดเย็บ

“อายมองว่าด้วยความที่อายเป็นคนต่างจังหวัดอยู่แล้ว เป็นลูกหลานชาวอีสานอยู่แล้ว มันค่อนข้างที่จะเข้าหาแม่ๆ ป้าๆ ได้ง่าย อายก็พูดภาษาอีสาน เข้าไปหา ‘คุณยายเป็นยังไง’ อะไรอย่างงี้ ก็ตอนแรกเราก็เข้าไปก่อน ‘หนูอยากจะมาให้แม่ๆ ช่วยตำหน่อย’  คือก็บอกว่าเราทำแบรนด์เสื้อผ้า เราอยากจะให้แม่ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น แม่ๆ เขาก็ยินดีอยู่แล้วค่ะ การที่จะทำให้เขาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้มากขึ้น พวกท่านก็ยินดีที่จะช่วยเราอยู่แล้ว อีกทางนึงมันก็มีประโยชน์กับกลุ่มแม่ๆ ด้วย อายมองว่าการที่เราเข้าไปช่วยชาวบ้านในส่วนนี้อะค่ะ อาจจะไม่ได้เป็นอาชีพหลักของเขาเพราะว่าเขามีอาชีพหลักอยู่แล้วซึ่งอาจจะเป็นเกษตรกรรม หรือชาวบ้านบางคนอาจจะมีหน้าที่การงานอย่างอื่นแต่ว่าการที่เราเข้าไปเสริมในส่วนนี้ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ในทางอื่นมากขึ้น สามารถมีอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้มากขึ้นค่ะ”

ความแตกต่างของแบรนด์ “Kotcher”

“เรามีวัตถุดิบที่มีเรื่องราว ผ่านคนสร้างสรรค์ผลงานมากมายหลายมือ ทั้งคนทอ คนออกแบบ คนตัดเย็บ คนทำแพทเทิร์น ซึ่งมันก็จะเป็นงานแฮนด์เมดแทบจะ 100% เพียงแค่เราไม่ได้ปั่นฝ้ายเองแค่นั้น แล้วก็ที่สำคัญเลยก็คือรูปแบบและสีสันของเสื้อผ้าของเราที่ค่อนข้างจะจัดจ้านแล้วก็เราก็จะดีไซน์ให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น อายก็มองหาช่องว่างก่อนน่ะค่ะว่าผ้าไทยมันยังไม่เคยทำออกมาในรูปแบบแบบนี้ มันน่าจะ น่าสนใจดี คนน่าจะให้ความสนใจถ้าเผื่อเราทำผ้าไทยออกมาในรูปแบบสีสันจี๊ดจ๊าดแบบนี้อะค่ะ มันเป็นมุมมองที่แปลกใหม่สำหรับผ้าไทยเราก็เลยลองทำขึ้นมาดู ซึ่งมันก็ให้การตอบรับที่ดีมากๆ เกิดเป็นไวรัลในช่วงนึงค่ะ”

ผ้าไทยกับคนในยุคปัจจุบัน

“อายรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากเลยนะคะ เพราะว่าเรามองว่าการที่คนหันมาใส่ผ้าไทยมันมากกว่าการอนุรักษ์แล้ว มันคือการที่คนหันมาใส่มากขึ้นจะช่วยให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น อาจจะไม่ต้องมาอุดหนุนแค่แบรนด์เราก็ได้นะคะ เพราะว่ามีแบรนด์ผ้าไทยอีกมากมายหลายแบรนด์ที่นำวัตถุดิบในชุมชนมาใช้ อายก็อยากเห็นผ้าไทยไม่ใช่มีแค่รูปแบบเดิมๆ อยากเห็นผ้าไทยในรูปแบบที่มันสร้างสรรค์แล้วก็แปลกใหม่มากขึ้นในโลกของผ้าไทยค่ะ”