9/11 จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ตาลีบัน บารัค โอบาม่า บิน ลาเดน อัฟกานิสถาน โจ ไบเดน โดนัล ทรัมป์

20ปี จาก 9/11 สู่สงครามในอัฟกานิสถาน จนถึงวันถอนทหารสหรัฐ

สรุปประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้น เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 9/11 - บิน ลาเดน - ตาลีบัน จนถึงวันที่สหรัฐฯ ถอนทหาร

Home / TELL / 20ปี จาก 9/11 สู่สงครามในอัฟกานิสถาน จนถึงวันถอนทหารสหรัฐ

นับเป็นเวลา 20 ปีแล้ว จากวันที่เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน ปี 2544 ที่มีผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินจำนวน 4 ลำ ในสหรัฐฯ ก่อนที่จะเข้าควบคุมเครื่องและเปลี่ยนเส้นทาง โดยเครื่องบิน 2 ลำได้ถูกบังคับให้พุ่งเข้าชน ตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก อีกหนึ่งลำถูกบังคับให้พุ่งเข้าชนตึกเพนตากอน และอีกหนึ่งลำที่เหลือ ผู้โดยสารได้ร่วมกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ก่อนที่เครื่องจะตกลงภายในทุ่ง ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เป้าหมายของเครื่องบินลำนี้คือ อาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี

ภาพในอดีตของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ก่อนเกิดเหตุ 9/11 – U.S. National Archives

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกตะลึงให้กับคนทั่วโลก ภาพเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกสูงระฟ้ากลางนครนิวยอร์ก ที่หลายคนเห็นครั้งแรกต่างคิดว่า นี่เป็นภาพจากภาพยนตร์สักเรื่องของฮอลลีวูด ซึ่ง 3 เป้าหมายหลัก ที่เป็นตัวแทนของภาคธุรกิจ การทหาร และการปกครอง ในการโจมตีในครั้งนี้ ทำให้ชื่อของ โอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ (al-Qaeda) กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

กลุ่มก้อนจากไฟสงคราม โซเวียต-อัฟกานิสถาน

ในช่วงราวปี 2522 สหภาพโซเวียต เข้าบุกยึดอัฟกานิสถาน ซึ่งในขณะนั้นมีหลายกลุ่มที่ร่วมกันต่อสู้กับสหภาพโซเวียตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มนักรบมูจาฮิดีน แม้ในภายหลังจากที่สามารถขับไล่สหภาพโซเวียตออกไปได้ แต่จากการรวมกลุ่มก้อนหลาย ๆ กลุ่มทำให้มีปัญหาความขัดแย้งกันอยู่เป็นระยะ ๆ

หนึ่งในกลุ่มของนักรบมูจาฮิดีน ได้รวมตัวกันในชื่อว่า กลุ่มตาลีบัน โดยมีแนวทางและคำมั่นว่า จะนำสันติภาพกลับมาสู่อัฟกานิสถานอีกครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มต่าง ๆ นั้นทำให้กลุ่มตาลีบัน ได้รับการสนับสนุนมาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถยึดพื้นที่ต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานได้อย่างต่อเนื่อง

Helicopter-tank operation in Afghanistan. Courtesy of Soviet Military Power, 1984. Photo No. 130, page 116.

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กลุ่มอัลกออิดะห์ (al-Qaeda) ก็ได้มีการรวมตัวกัน โดยเป็นกลุ่มเครือข่ายของกลุ่มนักรบญิฮาดิสต์ซาลาฟิสต์ และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง ที่ถูกประกาศเป็นกลุ่มก่อการร้ายในหลายประเทศ รวมถึง UN ด้วย ซึ่งอัลกออิดะห์ เชื่อว่า มีความต้องการของกลุ่มพันธมิตรที่รวมกันในกลุ่มชาวคริสเตียน – ยิว เพื่อร่วมกันทำลายล้างศาสนาอิสลาม ซึ่งได้รวมกลุ่มกัน ในช่วงปี 2531 โดยมี โอซามา บิน ลาเดน เป็นผู้นำกลุ่ม

ในปี 2536 สามารถยึดพื้นที่ได้กว่า 90% ของอัฟกานิสถาน ทำให้ โอซามา บิน ลาเดน ได้ย้ายที่อยู่จากในประเทศซูดาน ไปยังอัฟกานิสถาน หลังจากที่หลบหนีออกจากซาอุฯ เนื่องจากการเป็นผู้สนับสนุนการโจมตีในหลายเหตุการณ์รวมถึงคาร์บอมบ์ สถานทูตฯ สหรัฐในซาอุฯ โดยร่วมมือกับ ตาลีบันในการต่อสู้กับศัตรูในสงครามศักดิ์สิทธิ์ โดยตาลีบันให้การคุ้มครองกับบิล ลาเดน

ซึ่งการร่วมมือกันระหว่าง กลุ่มอัลกออิดะห์ กับตาลีบัน ทำให้กลุ่มอัลกออิดะห์เปลี่ยนภาพจากการเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุน กลายมาเป็นกลุ่มนักรบมากขึ้น

9 ก.ย. 2544 เปิดม่าน สังหารศัตรูตาลีบัน

อาหมัด ชาห์ มาซูด
(ภาพ – Massoud Foundation)

ก่อนที่กลุ่มอัลกออิดะห์ จะเข้าโจมตีสหรัฐฯ สร้างความตะลึงไปทั่วโลก ได้มีการเปิดม่านการโจมตี สะท้านอัฟกานิสถานก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน โดยลอบสังหาร อาหมัด ชาห์ มาซูด ผู้บัญชาการทหารของอัฟกานิสถานคนสำคัญ ทั้งในสงครามระหว่างอัฟกานิสถาน-สหภาพโซเวียต ที่หุบเขาปัญจ์ชีร์ โดยการนำนักรบมูจาฮิดีนไม่กี่พันคน ต่อสู้กับกองทัพสหภาพโซเวียตกว่า 3 หมื่นนาย ที่มาพร้อมกับอาวุธเต็มอัตราศึก ทั้งทางบกและอากาศ แล้วจนรอด สหภาพโซเวียตก็ไม่สามารถเข้าตีปัญจ์ชีร์ ได้อย่างที่ต้องการ จนต้องพักรบ ซึ่งเปิดทางให้ อาหมัด ชาห์ มาซูด ปกครองพื้นที่และสร้างกองกำลังขึ้นมา ทำให้ มาซูด ถูกขนานนามว่า เป็น “สิงโตแห่งปัญจ์ชีร์” จนกระทั่งกลุ่มตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้อีกครั้ง

และมาซูด นี่เอง เป็นหนึ่งในผู้นำกองกำลังในหุบเขาปัญจ์ชีร์ ที่ต่อต้านการปกครองของกลุ่มตาลีบันคนสำคัญ เนื่องจากแนวคิดในการปกครองที่ไม่ลงรอยกัน

มาซูด ถูกสังหารในระหว่างที่มีการนัดสัมภาษณ์ โดยสื่อฯ กลุ่มหนึ่งที่ระบุว่าต้องการสัมภาษณ์ในเรื่องของการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบัน ซึ่งมาซูดตอบรับ แต่หารู้ไม่ว่า นักข่าวที่ถือกล้องวิดีโอบันทึกภาพของมาซูดนั้น เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอัลกออิดะห์ ได้กดระเบิดที่ซุกซ่อนมาในกล้องวิดีโอ แรงระเบิดทำให้มาซูดเสียชีวิตในระหว่างนำส่งโรงพยาบาล

และนั่นเป็นการเปิดม่านความสำเร็จของ อัลกออิดะห์ ในเวทีระดับประเทศในการสังหาร สิงโตแห่งปัญจ์ชีร์ ได้สำเร็จ

โจมตี สหรัฐฯ 9/11

หลังจากการสังหาร มาซูดไม่กี่วัน ก็เกิดปฏิบัติการโจมตีสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ นั่นคือเหตุการณ์ 11 กันยายน โดยกลุ่มอัลกออิดาห์ ได้จี้เครื่องบิน 4 ลำ โดยได้เลือกเที่ยวบินที่เป็นระยะทางไกล ด้วยเหตุผลที่ว่า จะมีปริมาณน้ำมันมากกว่าเที่ยวบินระยะสั้น

โดยในวันที่ 11 กันยายน 2544 เครื่องบินอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 11 พุ่งชนอาคารทางด้านทิศเหนือของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งทันทีที่เกิดเหตุชาวเมืองนิวยอร์กต่างตกตะลึงกับภาพที่เห็น และเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงก็เข้าพื้นที่ทันที

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เที่ยวของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 175 พุ่งชนอาคารทางด้านทิศใต้ซ้ำอีกครั้ง ในเวลาประมาณ 09.03 น. ก่อนที่ในเวลา 09.37 น. เที่ยวบินของอเมริกันแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 77 พุ่งเข้าชนอาคารเพนตากอนซ้ำอีกครั้ง

เพนตากอนหลังถูกโจมตี 9/11 ( ภาพ – U.S. National Archives)

ส่วนยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 93 ลำสุดท้ายหลังจากถูกยึดเครื่องไปแล้ว ได้มีการต่อสู้กันระหว่าง ผู้โดยสารและกลุ่มผู้ก่อการร้าย ส่งผลให้เครื่องตกลงในทุ่งนอกเมือง Stonycreek เมืองเป็นเมืองเล็ก ๆ ในรัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนที่จะไปถึงเป้าหมายคือ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องสร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งโลก หลังภาพเหตุการณ์ถูกถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก ผู้คนได้เห็นภาพของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่กำลังมีควันพวยพุ่งออกมา และเครื่องบินลำที่ 2 พุ่งเข้าชนอาคาร ทำให้อาคารทั้ง 2 พังถล่มลงมา

จากในเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เสียชีวิตเกือบ 3 พันราย ผู้โดยสารในเครื่องบินทั้ง 4 ลำเสียชีวิตทั้งหมด

สหรัฐฯ ตอบโต้หลังเหตุการณ์ 9/11

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้ลงนามข้อกฎหมายในการตอบโต้การโจมที่สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ในการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ในวันที่ 18 กันยายน 2544

และในวันที่ 7 ตุลาคม 2544 กองทัพสหรัฐฯ โดยการสนับสนุนของอังกฤษ ได้เปิดฉากโจมตีกองกำลังของตาลีบัน ใน ปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน หรือ Operation Enduring Freedom – OEF ในการเปิดฉากการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย โดยเริ่มปฏิบัติการทางทหารอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อไล่ล่าบิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ รวมถึงกองกำลังของกลุ่มตาลีบัน ที่ให้การคุ้มครองบิน ลาเดน

A US Army (USA) CH-47 Chinook Helicopter flies over the mountainous terrain near Jegdalek, Afghanistan, during a humanitarian aid mission supporting Operation ENDURING FREEDOM.

หลังจากการโจมตีอย่างหนัก ด้วยอาวุธหลากหลายชนิดทั้งทางบก ทางอากาศ ทำให้กลุ่มตาลีบันต้องล่าถอยออกไป ฐานที่มั่นหลักของกลุ่มตาลีบันเสียหายอย่างหนัก และหลังจากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เสนอให้มีกองกำลังรักษาสันติภาพในช่วงเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ด้วย โดยใช้ชื่อว่า International Security Assistance Force (ISAF)

โดยในช่วงแรก นำโดยกองทัพของสหราชอาณาจักร เข้าพื้นที่ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่หลังคือ กรุงคาบูล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอัฟกานิสถาน

A lead element of more than forty-five Jordanian Special Forces soldiers stationed outside of Aman, Jordan, arrived in Mazar-e Sharif, Afghanistan, in support of Operation ENDURING FREEDOM.

ในขณะเดียวการ การโจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์ ทำให้บิน ลาเดน ต้องย้ายฐานที่มั่น โดยในช่วงเดือน ธันวาคม 2544 บิน ลาเดน ต้องหลบหนีออกจากที่ตั้งไปอยู่ในถ้ำในภูมิภาค Tora Bora ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงคาบูล ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ได้นำกำลังติดตามไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง ใน Operation Torri ยังพื้นที่ภูมิภาค Tora Bora ร่วมกับกองทัพแคนาดา และทหารอัฟกัน แต่ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ให้กองทัพของอัฟกานิสถานเป็นผู้นำในการโจมตี

เฮลิคอปเตอร์ CH-47 Chinook ลำเลียงกองกำลังผสมของสหรัฐฯ , แคนาดา และทหารชาวอัฟกัน เข้าไปยังพื้นที่ Tora Bora เพื่อตามล่าบิน ลาเดน ( ภาพ – U.S. National Archives)

กลุ่มอัลกออิดะห์ ปักหลักสู้กับกองกำลังผสม ในภูมิภาค Tora Bora อย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลาราว 2 สัปดาห์ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งตลอดเวลาของการไล่ล่าตัว บิน ลาเดนในภูมิภาค Tora Bora นี้ มีรายงานยืนยันการพบเห็น บิน ลาเดน แต่ทางกองกำลังผสม ไม่สามารถจับกุมตัวได้

ซึ่งมีรายงานระบุว่า บิน ลาเดน ได้หนีออกจากที่ตั้ง ลัดเลาะออกไปยังดินแดนปากีสถาน เพียง 1 วันก่อนที่ฐานที่มั่นจะถูกตีแตก ในขณะที่กลุ่มตาลีบัน และอัลกออิดะห์ ได้กระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ และยังคงอยู่ในภูมิภาค Tora Bora

อดีตนักรบตาลีบันเข้ามอบตัว ( ภาพ – U.S. National Archives)

กองตาลีบันยอมแพ้ – จัดตั้ง

หลังจากถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงเดือนธันวาคม 2544 ทำให้กองกำลังตาลีบันบางส่วนได้ตัดสินใจวางอาวุธ ยอมจำนนต่อกองกำลังผสม และ มุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำของกลุ่มตาลีบันในขณะนั้นต้องหลบหนีออกจากที่ตั้ง ซึ่งในขณะนั้น หลายฝ่ายต่างคิดว่า นั่นคือการล่มสลายของกลุ่มตาลีบัน

ปี 2545 การโจมตีครั้งใหญ่ และความสงบ

ในขณะที่กลุ่มอัลกออิดะห์ ยังคงปักหลักอยู่ในภูมิภาค Tora Bora ทำให้ในช่วงเดือนมีนาคม 2545 กลองกำลังร่วมระหว่างสหรัฐฯ และกองทัพของอัฟกานิสถาน ราว 3 พันนาย เข้าโจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์อีกครั้ง ใน Operation Anaconda ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่ครั้งแรกในอัฟกานิสถาน ในขณะที่กลุ่มตาลีบัน และกลุ่มอัลกออิดะห์ก็พยายามต่อสู้ด้วยสงครามกองโจร เลี่ยงการเผชิญหน้า อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการในครั้งนี้ ไม่ได้มีการเสริมกำลังเพิ่มเติมแต่อย่างใด เนื่องจากเพนตากอนได้โยกย้ายกำลังบางส่วนไปยังอิรัก

ในวันที่ 17 เม.ย. 2545 ปธน. จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้กล่าวถึง Marshall Plan เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูอัฟกานิสถานขึ้นอีกครั้ง ควบคู่กับการไล่ล่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายต่อไป ใน Operation Mountain Lion เพื่อตามล่ากองกำลังอัลกออิดะห์และกลุ่มตาลิบัน

ในเดือน มิ.ย. 54 ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งนาย แฮมิด คาร์ไซ ได้รับเลือกให้รับตำแหน่งประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน ซึ่งนายแฮมิด คาร์ไซ เคยร่วมกับ อาหมัด ชาห์ มาซูด ในการต่อต้านกลุ่มตาลีบันในช่วงที่ตาลีบันมีอำนาจในดินแดนอัฟกานิสถาน จนกระทั่งมาซูด ถูกลอบสังหาร ก่อนเกิดเหตุ 9/11 ไม่กี่วันนั่นเอง

นายแฮมิด คาร์ไซ นั่งร่วมแถลงข่าวร่วมกับโดนัลด์ รัมส์เฟลด์ (ด้านขวาของภาพ)
(DoD photo by Robert D. Ward)

หลังจากที่มีการตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมาแล้ว สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ได้เดินหน้าวางแผนการฟื้นฟูอัฟกานิสถานอีกครั้ง

ปี 2546 – ความสงบก่อนพายุใหญ่

ในปี 2546 ถือเป็นปีที่มีการเดินหน้าหลายเรื่องในประเทศอัฟกานิสถาน โดยนาย โดนัลด์ รัมส์เฟลด์ ได้ประกาศในช่วงกลางปีโดยระบุว่า สงครามใหญ่ในอัฟกานิสถานจบแล้ว และสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปในการรักษาเสถียรภาพและฟื้นฟูอัฟกานิสถานในทิศทางใหม่

ซึ่งสถานการณ์การรบหลักๆ ในอัฟกานิสถานค่อนข้างเบาลง จึงมีการส่งต่อภารกิจโดยให้ทาง NATO เข้ารับหน้าที่หลักในภารกิจเป็นกองกำลังความมั่นคงระหว่างประเทศ และได้มีการเสริมกองกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานเพิ่มด้วยเหตุผลดังกล่าว

ใบปลิวของบิน ลาเดน โดยมีภาพเหตุการณ์ 9/11 เป็นฉากหลัง
( ภาพ – U.S. National Archives)

ในส่วนของกลุ่มตาลีบัน ยังคงมีการโปรยใบปลิว มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังร่วมต่าง ๆ กับกลุ่มตาลีบัน มีการเข้าโจมตีบุกยึดอาวุธของกลุ่มตาลีบัน, อัลกออิดะห์ เป็นระยะ ๆ ซึ่งทางกลุ่มตาลีบัน ก็ยังคงใช้การรบแบบกองโจร กลุ่มเล็กๆ เข้าปะทะ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการซ่องสุมกำลัง ฝึกกองกำลังรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ในดินแดนของปากีสถาน ซึ่ง มุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบันในขณะนั้น ได้มีการจัดขบวนการใหม่ เมื่อเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็มีการเริ่มโจมตีกองทัพนาโต้ – รัฐบาลอัฟกานิสถาน เป็นระยะ ๆ และถี่ขึ้น

ปี 2546 – บิล ลาเดนกลับมาแล้ว

ในช่วงครึ่งปีแรกสถานการณ์ของอัฟกานิสถานเป็นไปในทิศทางคล้ายเดิม และเหมือนจะดีขึ้น มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในประเทศอัฟกานิสถาน และนำไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการลงคะแนนครั้งประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถานในช่วงเดือน ต.ค. 2546 มีชาวอัฟกันจำนวนมาออกไปเลือกตั้ง ท่ามกลางคำขู่ว่าจะมีการก่อเหตุร้าย ของกลุ่มตาลีบัน

ซึ่งผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น เป็นไปตามความคาดหมาย เมื่อนายแฮมิด คาร์ไซ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของอัฟกานิสถาน ในการเลือกตั้งในครั้งนี้

ในช่วงกลางปี กองทัพสหรัฐฯ ได้เปิดการโจมตีครั้งใหญ่อีกครั้งกับกลุ่มตาลีบัน, อัลกออิดะห์ มีรายงานผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้มากกว่า 100 ราย แม้การโจมตีกลุ่มตาลีบันยังคงมีอยู่เป็นระยะๆ แต่ดูเหมือนไม่สามารถจัดการเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ ในช่วงเวลาต่อมา มุลเลาะห์ โอมาร์ ผู้นำกลุ่มตาลีบัน ออกมาประกาศชัดเจนว่า เดินหน้าก่อเหตุโจมตีกองทัพสหรัฐฯ และรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐฯ เพื่อทวงคืนอธิบไตยของประเทศ

29 ต.ค. 2547 บิน ลาเดน กลับมาอีกครั้ง โดยได้เผยแพร่คลิปวิดีโอแถลงการณ์ ผ่านทางสำนักข่าว Al Jazeera โดยกล่าวโจมตีสหรัฐฯ โดยเฉพาะประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียง 5 วันเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าในท้ายที่สุด จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ตาม

ปี 2548 – การโจมตี/การปะทะ ยังคงมีอยู่

ในช่วงต้นปี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ปธน. สหรัฐฯ และ ฮามิด คาร์ไซ ปธน.อัฟกานิสถาน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการกระชับความสัมพันธ์ และช่วยเหลือกันในระยะยาว ท่ามกลางการปะทะในทิศทางเดิมอย่างต่อเนื่อง

Operation Red Wing – ในช่วงกลางปี สหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้ส่งทีม SEAL เข้าไปยังพื้นที่ของกลุ่มตาลีบัน โดยมีเป้าหมายคือ ผู้นำระดับสูงของกลุ่มตาลีบัน แต่ในระหว่างภารกิจเกิดข้อผิดพลาดทำให้ถูกล้อม และโจมตี จนทำให้ต้องมีภารกิจช่วยเหลือ แต่กลายเป็นว่า ถูกตอบโต้จนเกิดความสูญเสียเพิ่มเติมอีกครั้ง และในเวลาต่อมาทางสหรัฐฯ ได้เปิดภารกิจ Operation Whalers ในการเข้าโจมตีกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ สามารถโจมตีและทำลายฐานที่มั่นของ อาหมัด ชาห์ ผู้ที่เข้าโจมตีทีม SEAL ใน Operation Red Wing ก่อนหน้าได้ กลุ่มของอาหมัด ชาห์ ต้องถอยร่นหลบหนีไปในพื้นที่ของปากีสถาน

หน่วยซีลของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน

ซึ่งในภายหลัง Operation Red Wing ได้มีการนำเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Lone Survivor

ประชาธิบไตยในอัฟกานิสถานยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ในช่วงเดือน ก.ย. 2548 มีการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีประชาชนชาวอัฟกานิสถาน จำนวนกว่า 6 ล้านคนออกมาเลือกตั้งในครั้งนี้

ปี 2549 – ความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ในช่วงปี2549 ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังรักษาสันติภาพในอัฟกานิสถาน และกลุ่มตาลีบัน การโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ในขณะที่การวางระเบิดสถานที่ต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลอัฟกานิสถาน ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ท่ามกลางสถานการณ์การปะทะที่เพิ่มขึ้น ความขัดแย้งในแนวทางการฟื้นฟูและรักษาเสถียรภาพของอัฟกานิสถาน ในหมู่ชาติพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ และ NATO ดูจะไม่สู้ดีนัก และสถานการณ์การปะทะกันก็เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น เช่นเดียวกับความสูญเสียของกองทหารชาติพันธมิตร

ปี 2550 – ผู้นำตาลีบันเสียชีวิต แต่ตาลีบันยังคงอยู่

หนึ่งในผู้นำของตาลีบันเสียชีวิตในการสู้รบระหว่างกองทัพสหรัฐฯ และกองกำลังนาโต แต่การโจมตีของสหรัฐฯ – นาโต้ ก็ยังคงไม่สามารถลดทอนการโจมตีจากกลุ่มตาลีบันได้ การสู้รบยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการสู้รบแบบซึ่งหน้า หรือการใช้ระเบิดพลีชีพ การซุ่มโจมตี จากลุ่มตาลีบัน

( ภาพ – U.S. National Archives)

ปี 2551 – สหรัฐ – นาโต เพิ่มกำลังทหาร

จากสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้น ทำให้แนวคิดการเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถานเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทัพสหรัฐฯ ได้เพิ่มกำลังทหารอีกเกือบเท่าตัว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ช่วงกลางปี นักรบตาลีบันสามารถบุกโจมตี และสามารถปล่อยนักโทษในเรือนจำกันดาฮาร์ จำนวน 1,200 คน ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นสมาชิกกลุ่มตาลีบันออกมาได้

นอกจากนี้ ยังคงมีการลอบโจมตีกองกำลัง NATO ในอัฟกานิสถานเป็นระยะ ๆ ทำให้กองทัพสหรัฐฯ และชาตินาโต้ ตอบโต้อยู่เป็นระยะ ๆ แต่ในช่วงปลายปี กองทัพสหรัฐฯ ได้เปิดการโจมตียังเป้าหมายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ของปากีสถาน จนเป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิต รวมถึงเด็กด้วย ซึ่งทำให้ปากีสถานออกมาประนามการโจมตีในครั้งนั้นอย่างมาก โดยปากีสถานระบุว่า มีพลเรือนเสียชีวิต 20 รายจากการโจมตีที่เกิดขึ้น

ปี 2552 – สหรัฐฯ เปลี่ยนแผน

หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบารัก โอบามา ได้เข้ามารับตำแหน่ง ท่าทีของสหรัฐฯ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการพูดถึงกรอบการถอนทหารในปี 2554 ซึ่งโอบามา ระบุว่า มีแผนจะส่งกำลังทหารสหรัฐ เข้าไปเพิ่ม โดยระบุว่า เพื่อจัดการกับกองกำลังตาลีบันที่เกิดขึ้นใหม่ และขัดขวางไม่ให้มีกองกำลังตาลีบันมีการข้ามพรมแดนจากปากีสถาน-อัฟกานิสถาน

ซึ่งโอบาม่า ระบุถึงแผนการในการสกัดกั้นและเอาชนะกลุ่มอัลกออิดะห์ ทำให้มีการเสริมกำลังทหารเข้าไปยังอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นอีก แต่ในขณะเดียวกันได้มีการร้องขอไปยัง NATO ในการสนับสนุนการช่วยเหลืออัฟกานิสถานเพิ่มขึ้น โดยเน้นการพัฒนาสิ่งก่อสร้าง ความเป็นอยู่ของชาวอัฟกันมากขึ้น โดยแนวทางเปลี่ยนแปลงไปนั้นเน้นการสนับสนุนความเป็นอยู่ ฟื้นฟูสังคม ควบคู่กับทำงานเชิงรุกในการตอบโต้กลุ่มตาลีบันและอัลกออิดะห์

ปธน. ฮามิด คาร์ไซ – ปธน. บารัก โอบาม่า – รอง ปธน. โจ ไบเดน ( PHOTO – White House)

และท่ามกลางการสู้รบในอัฟกานิสถาน ก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานอีกครั้ง และประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซได้รับชัยชนะอีกครั้ง

ปี 2553 – เปิดการเจรจากลุ่มต่างๆ

ปธน.ฮามิด คาร์ไซ มีความพยายามในการเจรจากับกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อหวังนำสันติภาพกลับสู่อัฟกานิสถานอีกครั้ง จากการรวมกลุ่มก้อนเข้ามาร่วมในการพัฒนาประเทศอัฟกานิสถาน ท่ามกลางการเสริมกำลังทหารอย่างมากของทั้งกลุ่ม NATO และสหรัฐฯ โดยมีการมุ่งเป้าในการสังหารผู้นำคนสำคัญ ๆ ของกลุ่มตาลีบัน

ซึ่งการเพิ่มทหาร และท่าทีต่าง ๆ ดูจะไม่ได้รับการต้อนรับจากชาวอัฟกันเท่าใดนัก โดยสหรัฐฯ ระบุว่า มีการโจมตีและสังหารกลุ่มกองกำลังของตาลีบัน, อัลกออิดะห์ อย่างต่อเนื่อง และสามารถสังหารผู้นำได้หลายคน รวมถึงมีการปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งใน Operation Moshtarak ในเมืองใน Marja โดยมีกองกำลังผสม สหรัฐฯ และ NATO ราว 15,000 นาย ในภารกิจนี้ ในขณะที่ทางกลุ่มตาลีบันระบุว่า มีกองกำลังราว 2 พันนาย

(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

ซึ่งในสถานปฏิบัติการครั้งนี้ กองกำลังของสหรัฐฯ – NATO เผชิญกับปัญหาหนักใจ เมื่อในภารกิจครั้งนี้ เนื่องจากไร่ฝิ่นจำนวนมากที่อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มตาลีบัน แต่ในขณะเดียวกัน ไร่ฝิ่นเหล่านี้ คือรายได้หลักของชาวบ้านในพื้นที่

ในขณะเดียวกัน Wikileak ก็ได้เผยแพร่รายงานลับของกองทัพสหรัฐฯ ที่ระบุว่า มีการปกปิดข้อมูลการเสียชีวิตของพลเรือนที่ถูกทหารสหรัฐฯ สังหาร หรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สู้รบจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ระบุถึงการที่หน่วยข่าวกรองปากีสถานร่วมมือกับกลุ่มตาลีบันอีกด้วย ซึ่งนั่นส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดขึ้นระหว่าง สหรัฐฯ และปากีสถาน

ชาวอัฟกันกับไร่ฝิ่น

ในขณะเดียวกัน บนเวทีโลก มีการลงนามข้อตกลงในการถ่ายโอนอำนาจจากกองกำลังของสหรัฐฯ – นาโต้ สู่รัฐบาลอัฟกานิสถาน โดยจะมีการทยอยการส่งมอบพื้นที่ต่าง ๆ ให้รัฐบาลของอัฟกานิสถานดูแล แต่สหรัฐฯ ก็ยังคงมีการเสริมกำลังทหารเข้าไปในดินแดนอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2553 มีทหารสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานเกือบ 1 แสนนาย

ปี 2554 – ครบรอบ 10 ปี และการสังหาร บิน ลาเดน

1 พ.ค. 2554 เหตุการณ์ที่เป็นข่าวไปทั่วโลก นั่นคือ Operation Neptune Spear หรือปฏิบัติการสังหาร โอซามา บิน ลาเดน หลังจากที่สหรัฐฯ เดินหน้าไล่ล่าตัวมาเกือบ 10 ปี หลังจากที่โอบามา ไฟเขียวให้เปิดปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยได้มีการส่ง SEAL Team Six หรือ DEVGRU เข้าปฏิบัติภารกิจ ในเมืองอับบอตทาบัด ประเทศปากีสถานอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัดไปเพียง 50 กม. เท่านั้น ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองที่เงียบสงบแห่งหนึ่งของปากีสถาน โดย CIA เป็นผู้ยืนยันข้อมูลที่หลบซ่อนของ บิน ลาเดน

(ภาพ – Flickr / ทำเนียบขาว)

ราว 40 นาทีหลังจาก DEVGRU เข้าปะทะ ก็สามารถสังหารบิน ลาเดนได้สำเร็จ โดยในระหว่างปฏิบัติการ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน พร้อมด้วยสมาชิกของทีมความมั่นคงแห่งชาติ ติดตามภารกิจในครั้งนี้อยู่ในทำเนียบขาวด้วย

โดยร่างของ บิน ลาเดน ถูกสหรัฐฯ นำออกมาด้วย และทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ได้นำร่างไปฝังไว้ในทะเลอาระเบียน

หลังจากนั้นไม่กี่วัน กลุ่มตาลีบันได้โจมตีครั้งใหญ่ ในเมืองกันดาฮาร์ โดยมีเป้าหมายในการยึดเมืองแห่งนี้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม โอบาม่า ได้ประกาศในช่วงกลางปีว่า มีแผนจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน

ปี 2555 – ข้อตกลงสันติภาพล้มเหลว

ท่ามกลางสงครามในอัฟกานิสถาน มีความพยายามในการเปิดการเจรจาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มตาลีบันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ท้ายที่สุด ถือเป็นความล้มเหลวกลุ่มตาลีบันยกเลิกการเจรจา

ซ้ำร้าย ยังเป็นปีที่มีการรายงานข่าวไม่สู้ดี ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สู้รบที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต การไม่เคารพต่อผู้เสียชีวิต โดยการนำร่างมือระเบิดพลีชีพมาถ่ายรูปต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเหตุการณ์เผาคัมภีร์กุรอาน ที่ยึดได้จากกลุ่มตาลีบัน-อัลกออิดะห์ กับหนังสือและเอกสารอื่น ๆ นับพันเล่ม นำไปสู่การประท้วงทั้งในอัฟกานิสถาน และต่างประเทศ

ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้มีการถอนกำลังทหารตามแนวทางของโอบามา ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายที่สหรัฐฯ ลดจำนวนทหารในอัฟกานิสถาน

(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

….

ปี 2556 – ปีแห่งการเริ่มต้นถอนกำลัง

สหรัฐฯ และ NATO ยังคงถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งมอบอำนาจให้กับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ที่มีนายฮามิด คาร์ไซ ดำรงตำแหน่ง ปธน. อยู่ โดยทางการอัฟกานิสถาน ระบุว่า มีทหาร-ตำรวจชาวอัฟกันกว่า 3.5 แสนนาย ที่เตรียมพร้อมสำหรับการถ่ายโอนอำนาจที่จะสิ้นสุดในปี 2557

ปี 2557 – การก่อเหตุเพิ่มขึ้น – เปลี่ยนปธน. – NATO ถอนตัว

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังคงให้มีการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเป้าให้เหลือกำลังทหาร 9,800 นาย สำหรับฝึกให้กับกองกำลังของอัฟกานิสถาน และรับมือกับภารกิจจัดการกลุ่มอัลกออิดะห์

บารัก โอบามา ในฐานทัพอากาศ Bagram, อัฟกานิสถาน
(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ของอัฟกานิสถานทำให้ได้นาย อัชราฟ กานี เข้ามารับตำแหน่งแทนนายฮามิด คาร์ไซ ท่ามกลางปัญหาในการเลือกตั้ง และนายอัชราฟ กานี  จัดตั้งรัฐบาลผสม ร่วมกับ นายอับดุลลาห์ อับดุลลาห์ คู่แข่ง ซึ่งข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายถูกมองว่า จะเป็นการสร้างปัญหาในการแย่งชิงอำนาจและการคอรัปชั่น

ซึ่งท่ามกลางปัญหาทางการเมือง กลุ่มตาลีบันยังคงเดินหน้า การก่อเหตุต่าง ๆ ของกลุ่มตาลีบัน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเห็นการบุกโจมตีโรงแรมในกรุงคาบูล การโจมตีใส่ทหารสหรัฐฯ อยู่เป็นระยะ ๆ และในช่วงไม่กี่วันก่อนสิ้นปี NATO ประกาศยุติการปฏิบัติภารกิจอย่างเป็นทางการ โดยส่งต่อหน้าที่ให้กับกองทัพสหรัฐฯ

ปี 2558 – ตาลีบันเริ่มมีอำนาจมากขึ้น

จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ ร่วมกับการถอนกองกำลังทหาร และการถอนตัวของ NATO ทำให้กลุ่มตาลีบันเริ่มฟื้นคืนอำนาจอีกครั้ง นอกจากนี้ ทางปากีสถน ยังได้มีปฏิบัติการในการทางทหารกับกลุ่มติดอาวุธตามแนวชายแดนของปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ส่งผลให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นหนีเข้ามาสู่ดินแดนอัฟกานิสถาน และเข้าร่วมกับกลุ่มตาลีบัน

ในขณะที่กองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานเอง ไม่ได้แข็งแกร่งพอที่ต้านทานกับกลุ่มตาลีบัน ทำให้กลายเป็นช่องโหว่ และเกิดการก่อเหตุรุนแรงหลายครั้ง นำไปสู่ความสูญเสียกำลังทหารของอัฟกานิสถานหลายต่อหลายครั้ง

แม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะมีความพยายามในการตอบโต้ รวมถึงการจู่โจมกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ โดยเน้นการปฏิบัติการทางอากาศ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

ช่วงปลายปี สมรถูมิใน Kunduz เมืองทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ถือเป็นจุดปะทะเดือดจุดหนึ่งมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากเมือง แม้ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลอัฟกานิสถานจะยึดคืนได้ก็ตาม และอีกหลายเมือง ก็เป็นการสู้รบอย่างดุเดือด

และการรบที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ จุด เริ่มเห็นภาพของการที่กลุ่มตาลีบัน สามารถยึดพื้นที่เมืองบางเมืองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากองทัพสหรัฐฯ จะส่งทหารเข้าไปช่วยแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถต้านไว้ได้ ในท้ายที่สุด จึงเสียพื้นที่หลาย ๆ เมืองให้กับกลุ่มตาลีบัน

ปี 2559 – ตาลีบันยึดพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น

สถานการณ์ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม เมื่อกลุ่มตาลีบันสามารถเข้ายึดพื้นที่เมืองต่าง ๆ ได้เรื่อยๆ แม้ว่ากองทัพอัฟกานิสถานจะพยายามตอบโต้กลับแล้วก็ตาม รวมถึงสหรัฐฯ ที่สนับสนุนทางอากาศ ในการโจมตีกลุ่มตาลีบันในหลาย ๆ จุด

กลุ่มตาลีบันยังคงรุกเข้าโจมตีอย่างหนักในหลายพื้นที่ รวมถึงมีรายงานว่า มีการใช้อาวุธที่ทันสมัยขึ้น ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว จังหวัดเฮลมันด์กว่า 80% ก็ถูกตาลีบันยึดครอง

ปี 2560 – สหรัฐฯ เปลี่ยน ปธน.

ในช่วงต้นปี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งปธน. สหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ ยังคงเดินหน้าแผนการถอนกำลังทหาร แต่มีการปรับเปลี่ยนแนวทางที่ต่างไปจากโอบามา โดยในการถอนทหารจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างในการก่อการร้าย

ซึ่งแน่นอนว่า การโจมตีของกลุ่มตาลีบันยังเกิดขึ้นไม่ต่างจากปี 2559 เท่าใดนัก แต่กองทัพสหรัฐฯ มีแนวทางมีเริ่มเปลี่ยนไป โดยมีการใช้การโจมตีทางอากาศมากขึ้น มีการใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตี รวมถึงมีการใช้ระเบิดขนาดใหญ่ อย่าง GBU-43/B MOAB (Mother of All Bombs) ซึ่งมีพลังทำลายล้างสูงที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ มีในกลุ่มระเบิดที่ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ โดยใช้ในการโจมตีกลุ่ม ISIS-K เพื่อทำลายฐานที่มั่นที่มีลักษณะเป็น อุโมงค์ที่ซับซ้อนในพื้นที่เป้าหมาย

ผลการใช้ระเบิด MOAB ครั้งนี้ ทำให้กองกำลังของกลุ่ม ISIS-K เสียชีวิตไปกว่า 90 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้นำคนสำคัญหลายคน

ทรัมป์ ระบุว่า ไม่ได้เป็นการอนุญาตให้ใช้ระเบิดลูกนี้เป็นการเฉพาะ แต่ระบุว่า “เป็นการให้สิทธิ์ในการตัดสินใจทั้งหมด” แก่กองทัพ ซึ่งนั่นทำให้ในปี 2560 มีการใช้อาวุธหนักมากกว่า ในปี 2559 กว่าเท่าตัว

โดรน MQ-9 Reaper (ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

ปี 2561 – ตาลีบันรุกคืบ

กลุ่มตาลีบันยังคงรุกคืบในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอัฟกานิสถาน โดยวางกองกำลังในพื้นที่ชนบทต่าง ๆ ไว้โดยรอบ ซึ่งทรัมป์ ยังคงเดินหน้าการกระจายกำลังทหารที่มีไว้ในจุดต่าง ๆ ของอัฟกานิสถาน และเลือกใช้การโจมตีทางอากาศเป็นหลัก โดยไม่มีแนวทางการเปิดการเจรจาแต่อย่างใด

กลุ่มตาลีบัน ก็ยังคงเดินหน้าโจมตีหนักขึ้นเรื่อยๆ มีการโจมตีครั้งใหญ่ในกรุงคาบูล มีผู้เสียชีวิตกว่า 115 ราย โดยเฉพาะการใช้ระเบิดฆ่าตัวตายมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการโจมตีและยึดพื้นที่ได้มากขึ้น เช่นการเข้ายึดเมืองกัซนี เมืองใหญ่อันดับหก ของอัฟกานิสถานไว้ได้ สามารถสังหารทหาร-ตำรวจ ของอัฟกานิสถานได้จำนวนมาก

ซึ่งผลจากการสู้รบที่เกิดขึ้นมีพลเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหประชาชาติมีความกังวลกับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน จนกระทั่งปลายปี ได้มีการเจรจาขอให้มีการยุติการสู้รบ ซึ่งกลุ่มตาลีบันยื่นเงื่อนไขให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ห้ามคัดค้านการจัดตั้งรัฐบาลของกลุ่มตาลีบัน

(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

ปี2562 – นั่งโต๊ะเจรจา

หลังจากที่มีความพยายามในการเจรจากับกลุ่มตาลีบัน ทำให้มีการเปิดการเจรจรอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยในข้อตกลงที่ว่า ให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน แลกกับการที่กลุ่มตาลีบันจะอนุญาตให้กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ใช้ดินแดนอัฟกานิสถานเป็นฐานซ่องสุมกำลัง

ทางด้านของการสู้รบกันระหว่างกลุ่มตาลีบัน และรัฐบาลอัฟกานิสถาน ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และยังคงยึดพื้นที่ต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระหว่างนั้นการเจรจาสันติภาพ ก็ยังคงมีอยู่เป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเดือน ก.ย. โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความระบุว่า ได้ยกเลิกการประชุมลับกับทางกลุ่มตาลีบันแล้ว หลังมีการโจมตีของกลุ่มตาลีบัน และมีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต

โดยทางตาลีบันได้ตอบโต้ว่า การเจรจายังคงเดินหน้าต่อไปได้ แต่การยกเลิกก็มีแต่จะเพิ่มยอดการเสียชีวิต

(ภาพ – Defense Visual Information Distribution Service)

ปี 2563 – ลงนามข้อตกลงสันติภาพ

ต้นปี 2563 ตัวแทนของสหรัฐฯ และตาลีบัน ได้ร่วมลงนามข้อตกลงในการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน รวมถึงการรับประกันว่า ทางกลุ่มตาลีบันจะไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้ดินแดนของอัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่น

และในวันรุ่งขึ้นหลังการลงนาม กลุ่มตาลีบันเข้าโจมตีกองกำลังของรัฐบาลอัฟกานิสถานหลายครั้ง โดยกองทัพสหรัฐฯ ก็ยังคงมีการโจมตีทางอากาศเป็นการตอบโต้เช่นเดิม รวมถึงการโจมตีต่าง ๆ ยังคงมีอยู่เป็นระยะ ๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน พ.ย. 2563 รมต.กลาโหมของสหรัฐฯ ประกาศแผนการลดกำลังทหารในสหรัฐฯ ลง ก่อนการแต่งตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนใหม่, โจ ไบเดน

ปี 2564 – ถอนทหารโดยสมบูรณ์

โจ ไบเดน หลังการเข้ารับตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อย ได้ประกาศว่า สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถถอนทหารออกได้ทันกำหนดเส้นตายตามข้อตกลงที่วางไว้คือ 1 พ.ค. ได้ทัน ซึ่งคาดว่าจะถอนกำลังทหารทั้งหมดได้ภายในวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งไบเดนระบุว่า

“ถึงเวลายุติสงครามที่ยาวนานที่สุดของอเมริกันแล้ว”

ในขณะที่กลุ่มตาลีบันยังคงโจมตีกองกำลังของอัฟกานิสถานเช่นเดิม โดยระบุว่า จะไม่ร่วมการประชุมใดๆ จนกว่ากองกำลังต่างชาติจะออกจากอัฟกานิสถานไปจนหมดสิ้น

ในที่สุด ในวันที่ 15 ส.ค. 2564 กองกำลังตาลีบันก็ยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ ถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐบาลอัฟกานิสถานโดยสิ้นเชิง หลังจากใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการบุกยึดพื้นต่าง ๆ ของอัฟกานิสถานไว้ด้อย่างต่อเนื่อง

หลังจากการล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถานที่มาจากการเลือกตั้ง ปธน.โจ ไบเดน ได้ประกาศยุติการมีส่วนร่วมของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน พร้อมกับส่งกองกำลังราว 6 พันนายเพื่อทำการอพยพเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และพลเรือนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพออกจากอัฟกานิสถาน โดยทางตาลีบันขีดเส้นตายไว้ที่ 31 สิงหาคม 2563

ซึ่งก่อนการถึงเส้นตายเพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 26 ส.ค. เกิดเหตุระเบิดพลีชีพบริเวณด้านนอกสนามบินในกรุงคาบูล เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 ราย โดย 13 รายเป็นทหารสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาต่อมา รายงานเปิดเผยว่า กลุ่ม ISIS-K เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุในครั้งนี้ ทำให้สหรัฐฯ ตอบโต้ผู้ก่อเหตุ ตามคำประกาศของไบเดน พร้อมกับการเร่งอพยพคนออกจากอัฟกานิสถาน

31 สิงหาคม 2564 – สิ้นสุดสงครามอันยาวนานในอัฟกานิสถาน

ภาพการอพยพประชาชน และจนท. ของสหรัฐ ออกจากอัฟกานิสถาน
( ภาพ – U.S. Air Force photo by Senior Airman Taylor Crul)

ข้อมูล :

  • การสังหาร อาหมัด ชาห์ มาซูด
  • https://govinfo.library.unt.edu/911/report/911Report_Ch7.htm
  • https://9-11commission.gov/report/911Report.pdf
  • https://www.cfr.org/backgrounder/al-qaeda-aka-al-qaida-al-qaida
  • https://www.govinfo.gov/content/pkg/PLAW-107publ40/html/PLAW-107publ40.htm
  • https://sgp.fas.org/crs/row/RL30588.pdf
  • https://www.nato.int/docu/update/2003/08-august/e0811a.htm
  • https://www.aljazeera.com/news/2004/11/1/full-transcript-of-bin-ladins-speech
  • https://sgp.fas.org/othergov/doe/lanl/doe_marshall_isl/15137e.pdf
  • https://www.crisisgroup.org/asia/south-asia/afghanistan/interpreting-us-talks-taliban
  • https://www.state.gov/wp-content/uploads/2020/02/Agreement-For-Bringing-Peace-to-Afghanistan-02.29.20.pdf
  • https://www.defense.gov/Newsroom/Speeches/Speech/Article/2418226/acting-secretary-miller-announcement-on-afghanistan-and-iraq-troop-levels/
  • https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/04/14/remarks-by-president-biden-on-the-way-forward-in-afghanistan/
  • https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/08/16/remarks-by-president-biden-on-afghanistan/
  • https://www.state.gov/joint-statement-from-the-department-of-state-and-department-of-defense-update-on-afghanistan/