เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นกรณีที่เกิดขึ้นรุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้นวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตออกมาเป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน มีระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาสั้นกว่าวัคซีนทั่วไป ดังนั้นหลังฉีดวัคซีนเหล่านี้อาจมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นตามมาได้เช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วก็ยังถือว่าการฉีดวัคซีนมีข้อดีกว่ามาก ทั้งนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. จึงได้ออกมาตรการเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์กรณีแพ้วัคซีนโควิด-19 เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่ฉีดอีกทางหนึ่งด้วย
ก่อนอื่นทุกคนควรสังเกตอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน COVID-19 โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรงและสามารถหายได้เองในเวลา 2 วัน แต่ควรเฝ้าระวังหลังจากฉีดไปแล้ว 30 นาทีแรก ในกรณีที่พบอาการแพ้รุนแรงมักจะเกิดอาการภายใน 15 นาที โดยแบ่งอาการได้ดังนี้
อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไม่รุนแรง
- ปวด บวม แดง แสบ ร้อน คัน บริเวณที่ฉีด
- มีไข้ต่ำๆ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้
- อาเจียน
อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดรุนแรง (หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์)
- มีไข้สูง
- ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อรุนแรง
- ใจสั่น
- หนาวสั่น
- แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- ปวดศีรษะรุนแรง
- อาเจียนไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง
- หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีจุดเลือดออกจำนวนมาก
- ผื่นขึ้นทั้งตัว ตุ่มน้ำพอง
- บวม เช่น หน้าบวม คอบวม บวมทั่วร่างกาย
- ท้องเสีย
- ชัก
- หมดสติ
สปสช. เยียวยากรณีใดบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจ
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท
- กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท
- กรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษา ช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้จำนวนเงินที่จะอนุมัติช่วยเหลือเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละเคส ว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด โดยมีอนุกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณา โดยนอกจากดูประวัติทางการแพทย์แล้ว ยังจะพิจารณาไปบริบททางสังคมหรือเศรษฐกิจครัวเรือนด้วย ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช. ได้ที่โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติมสายด่วน สปสช. โทร. 1330