กว่า 25 ล้านตัน/ปี ตัวเลขนี้คือ ค่าเฉลี่ยปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นต่อคนไทยหนึ่งคนในปี 2563 ตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ขยะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มาจากสิ่งที่เราใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก, แก้วน้ำต่าง ๆ , ขวดพลาสติก รวมไปถึงเศษอาหารที่เหลือทั้งในบ้าน ที่ทำงาน เป็นต้น
ขยะต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ ไม่อยากเก็บเอาไว้ และทิ้งไป ซึ่งไม่ว่าเราจะทิ้งมันที่บ้าน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในสถานที่อื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ถูกจัดเก็บไปจัดการ โดยพนักงานเก็บขยะ ทั้งในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด
กลุ่มคนตัวเล็กๆ ในอาชีพที่คนหลายคน ไม่แม้แต่จะมีเสี้ยวหนึ่งของความคิดที่เลือกยึดถือเป็นอาชีพ แต่บรรดาพนักงานเก็บขยะที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ว่าฝนจะตก แดดจะออก หรือแม้กระทั่ง “โควิด” ระบาด คนเหล่านี้ ยังคงปฏิบัติหน้าที่เหมือนเช่นทุกวัน
“ขยะมันไม่มีวันหยุดนะ วันหยุดของคนอื่น นั่นคืองานใหญ่ของคนเก็บขยะอย่างพวกผมนี่ล่ะ ยิ่งหยุดยาวนะ ไม่ต้องห่วงเลย เต็มทุกเที่ยว บางครั้งล้นก็มี”
หนึ่งในพนักงานเก็บขยะ เอ่ยให้ฟังท่ามกลางกลิ่นที่ไม่น่าพึงประสงค์โชยออกมากองขยะที่กำลังคัด-แยกอยู่ตรงท้ายรถเก็บขยะ ทะลุหน้ากากเข้ามาให้เราได้ทุกครั้งที่ถังขยะถังใหม่ถูกเทลงไปในท้ายรถ
…
ไม่ใช่อาชีพในฝัน แต่มันทำให้มีกิน
จากกลิ่นที่ท้ายทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันที ว่าทำไมพนักงานเก็บขยะเหล่านี้ ถือเลือกอาชีพเป็นพนักงานเก็บขยะ เพราะสิ่งที่สัมผัสในทุกวันไม่ใช่สิ่งสวยงามแต่อย่างใด
“อาชีพคนเก็บขยะเนี่ย มันไม่ได้เป็นอาชีพในฝันของใครหรอก เชื่อสิ ที่มาทำ ๆ กันทุกวันนี้ ก็จับผลัดจับผลูกันมาทั้งนั้น ไม่มีทางเลือก ตำแหน่งว่างบวกกับตกงาน ก็สมัคร ๆ กันมาทำนั่นล่ะ”
พนักงานเก็บขยะรายหนึ่งเล่า ถึงที่มาที่ไปของตัวเองที่ได้มาทำงานประจำรถเก็บขยะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว อาชีพพนักงานเก็บขยะ จะมีฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่ราว 9,000 บาทเท่านั้น
โดยอัตราเงินเดือนของพนักงานเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร หากเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวจะอยู่ที่ 8,690 บาท เท่ากับตำแหน่งของพนักงานกวาดถนน ส่วนตำแหน่งพนักงานขับเครื่องจักรกลขนาดเบา (เก็บขนมูลฝอย) อัตราค่าจ้างเดือนละ 9,400 บาท
แต่ถ้าหากเป็นพนักงานประจำ ก็จะได้ฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นไปอีก แต่หากจะหวังได้เงินเดือน 2 หมื่นขึ้นไปในสายอาชีพ พนักงานคนเก็บขยะแล้วล่ะก็ อาจจะต้องมีอายุงานเกิน 10 กว่าปีขึ้นไป กว่าขั้นเงินเดือน จะสามารถขยับขึ้นมาได้
ซึ่งสิ่งที่พนักงานประจำจะได้เพิ่มเติม นั่นคือสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นมา ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวส่วนใหญ่ ทำงานต่อไปเพื่อหวังว่าจะมีโอกาสได้บรรจุ ขึ้นเป็นพนักงานประจำนั่นเอง
…
ขวด-กระดาษ คือรายได้เสริม
แม้เงินเดือนอาจจะไม่ได้สูงมาก แต่ก็ยังคงพอมีรายได้เสริมจากการคัดแยก ขวดแก้ว กระดาษ หรือของเก่าอื่น ๆ ที่เจอในระหว่างการเก็บขยะจากตามบ้าน ซึ่งรายได้ก็ไม่แน่ไม่นอน หากเป็นช่วงเทศกาลหยุดยาว ปีใหม่ ก็จะมีเพิ่มเติมจากส่วนที่เป็นขวดเบียร์ กระป๋องอลูมิเนียมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
รองลงมาก็จะเป็นพวกขวดพลาสติก บางช่วงก็จะมีกระดาษลังมาบ้าง แต่ก็ไม่เยอะมากนัก และขึ้นอยู่กับพื้นที่การจัดเก็บ หากเป็นตามหมู่บ้านใหญ่ ๆ ที่มี รปภ.ดูแล ก็จะมีโอกาสได้ของเก่าที่พอจะไปขายได้เยอะขึ้นมากว่าปรกติ
แต่ถ้าหากเป็นในหมู่บ้าน ในชุมชนทั่วไป ส่วนใหญ่รายได้เสริมเหล่านี้ก็ไม่ได้มากนัก เนื่องจากจะมีนักเก็บของเก่ามาคุ้ยเอาไปก่อนแล้ว
“ไอ้ขวด กระดาษ กระป๋องเบียร์ เนี่ย มันก็พอได้ตามหมู่บ้าน แต่ข้างนอกริมทางไม่ต้องหวังเลย พวกซาเล้งมารื้อไปก่อนแล้ว บางทีก็รื้อทิ้ง ๆ ไว้ให้เราเก็บยากอีกต่างหาก แต่ถ้าขวดไปอยู่ในถุงดำ รวมกับขยะอย่างอื่น นี่ก็เสี่ยงนะ บางทีเทถุงมาไม่เห็น พออัดขยะก็แตก บางทีเศษก็กระเด็นใส่ก็มี
ยิ่งโควิดนี่ยิ่งเสี่ยงหนักเลย บางคนเอาหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ม้วน ๆ ใส่ขวดพลาสติก ซาเล้งมาเห็นก็เปิดขวด เคาะๆ หน้ากากทิ้งไว้”
ในช่วงหลายปีก่อนมีข่าวหัวคิวคนเก็บขยะ เนื่องจากรายได้เสริมเหล่านี้ มีได้เงินเยอะกว่าเงินเดือนหลายเท่าตัว ทำให้มีการเก็บค่าหัวคิวคนเก็บขยะที่จะติดรถไปด้วย แลกกับรายได้เพิ่มเหล่านี้ แต่ปัจจุบัน ราคาขยะที่มีมูลค่าเหล่านี้ ลดน้อยลงเรื่อย ๆ การจ่ายค่าหัวคิวเหล่านี้ ก็ค่อย ๆ หายไป ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ยิ่งในช่วงโควิด-19 นี้
…
รายได้ สวนทางกับความเสี่ยง
จากรายได้ที่จะเห็นว่า ไม่ได้มากมายนัก แม้ว่ารวมกับรายได้จากการขายขวด กระดาษ กระป๋อง ก็เป็นเพียงรายได้ที่ไม่แน่นอน มากบ้าง น้อยบ้าง แบ่ง ๆ กันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด ๆ ที่บรรดาคนเก็บขยะต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือความเสี่ยงในเรื่องของสุขภาพ
โดยปรกติแล้วคนเก็บขยะส่วนใหญ่ เผชิญกับขยะต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย จำนวนไม่น้อยเผชิญกับปัญหาเท้าเปื่อย มือเปื่อย โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกบ่อย ๆ ในช่วงกลางคืน
“ไอ้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ไม้เสียบลูกชิ้น พวกนี้ตัวดีเลย ใส่ถุงมาเรียบร้อย อยู่ในถุงดำ ไอ้คนเก็บก็ไม่รู้ รวบไปเต็มมือ โดนกันมานักต่อนักแล้ว โชคดีก็แค่เป็นแผล ถ้าแย่ก็บาดทะยัก
อีกอย่างหนึ่งก็พวกเศษแก้ว ใส่ถุงมา ถ้าไม่ได้ระวังเอามือรวบเข้าไปนี่ หนักหน่อยก็ต้องไปเย็บ”
ซึ่งคนเก็บขยะเหล่านี้ ต้องเผชิญกับสิ่งของทิ้งถูกทิ้งลงมาทุกอย่าง บางบ้านแยกขยะ แบ่งใส่ถุงมามิดชิด ก็ช่วยให้คนเก็บขยะทำงานสบายมากขึ้น บางแห่งแม้คนในบ้านใส่ถุงดำมัดปากอย่างดี แต่ก็มักจะมีคนหาของเก่า-เก็บของเก่า มารื้อค้น จนขยะกระจายก็ไม่น้อยเช่นกัน
…
ปัญหากับคนก็ไม่เบา
อีกหนึ่งปัญหาที่พนักงานเก็บขยะมักจะพบคือปัญหากับคนและรถในหมู่บ้าน หากเป็นพนักงานเก็บขยะในช่วงค่ำมักจะเจอบ่อย หากต้องไปเก็บขยะในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงดึก คือ ปัญหากับกลุ่มคนในหมู่บ้านที่ตั้งวงดื่มสุรา ซึ่งแม้ว่า จะเจอไม่เยอะ แต่ถ้าเคยเจอตรงไหนมีปัญหา ตรงนั้นก็จะมีประจำ
“วงเหล้านี้ ไปเจอจุดไหนมีพวกเมาแล้วกร่างก็ลำบากหน่อย เพราะบางทีขับผ่านไป เขาก็ตะโกนด่าตามหลังมาว่า เหม็นบ้าง เสียงดังบ้าง ฯลฯ
ก็ทำได้แค่เลี่ยง ๆ ไป บางซอยนี่เจอมีวงเหล้าด้วย จอดรถหน้าบ้านเยอะๆ ด้วยนะ ทำใจเลย กว่าจะเข้ากว่าจะออก โดนด่าไปหลายรอบ”
พี่พนักงานขับรถขยะเล่าให้ฟังถึงปัญหากับคนในชุมชนที่บางครั้งไม่เข้าใจการทำงาน และไม่พอใจ ก็จะมีการร้องเรียนบ้าง ตะโกนด่าบ้างก็มี ตามแต่สาเหตุ เช่น เสียงดังจากการขนย้าย -ลากถัง – เคาะถัง , เรื่องกลิ่นจากรถขยะบ้าง รวมไปถึง ปัญหาการจอดรถหน้าบ้าน ที่ทำให้การเข้าไปเก็บทำได้ยากขึ้น บางครั้งเข้าไม่ได้ หรือไม่ยอมให้เอารถเข้าไปเก็บก็มี เช่นคอนโดฯ อพาร์ทเม้นบางแห่ง ทำให้ต้องไปเสียเวลาเดินไปยกถังมาเท เป็นต้น
“บางทีก็อยากให้เข้าใจเราบ้าง รถขยะมันใหญ่ จะให้วิ่งซิกแซกหลบซ้ายที่ขวาทีมันไม่ง่าย บางซอยเป็นซอยตันอย่าได้หวังเลย เดินยกอย่างเดียว
พอเก็บช้า เก็บไม่ทัน ก็เป็นเรื่องอีก บางทีพวกจอดรถขวางไว้ เก็บไม่ได้ โดนไปร้องเรียนก็มีนะ หาว่า ไม่เก็บประชดเขาบ้าง เสียงดังประชดเขาบ้าง”
ซึ่งงานเก็บขยะเหล่านี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเริ่มงานตั้งแต่หัวค่ำ ยาวไปจนถึงรุ่งสาง สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือ เสียงดังที่เกิดขึ้น บางครั้งขยะที่มีหนัก ทำให้ไม่สามารถยกได้ ต้องอาศัยลาก บางครั้งก็อัดแน่นจนไม่สามารถเทออกมาได้ ก็ต้องมียกถังเขย่า เคาะ ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดเสี่ยงดังเหล่านี้
และจากสาเหตุเหล่านี้ หนึ่งในโรค/อาการที่พบในกลุ่มคนเก็บขยะคือ “อาการปวดหลัง-ปวดไหล่” เนื่องจากการยกถัง ก้มเก็บ-คัดแยก อยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องในช่วงนาน และส่วนใหญ่ก็อาศัยกินยาแก้ปวด
…
โควิด-19 ระบาดหนัก ขยะเพิ่ม เสี่ยงเพิ่ม
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทั้งในรอบแรก รอบสอง และปัจจุบัน ขยะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก กล่องใส่อาหารต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงล็อคดาวน์ การทำงานที่บ้าน สิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากขยะติดเชื้อก็เพิ่มความเสี่ยงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากในขยะที่ทิ้งลงในถังแต่ละครั้ง ไม่มีทางที่คนเก็บขยะจะทราบได้เลยว่า หน้ากากอนามัย ทิชชู่เหล่านั้น เป็นของผู้ติดเชื้อหรือไม่
บางครั้งก็พบว่า มีการม้วน หรือพับหน้ากากอนามัยใส่ขวดปิดฝาไว้อย่างดี แต่นั่นกลับสร้างปัญหาที่มักจะพบว่า มีกลุ่มซาเล้งที่เก็บของเก่าขาย มักจะเปิดฝา และเคาะเอาหน้ากากเหล่านั้นทิ้งกองไว้แทน กลายเป็นคนเก็บขยะ ต้องแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้ต่อนั่นเอง
ในขณะที่ในพื้นที่กทม. หลายจุดมีถังแดง ที่สำหรับขยะติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนว่า จะมีการจัดเก็บแยกต่างหากจากขยะปรกติ แต่จำนวนไม่น้อย ก็ไม่ต่างกับถังขยะสีเขียว สีเหลือง ที่มีอยู่ เพราะทุกสิ่งอย่างก็รวมอยู่ในนั้น
เพราะหลายคนคิดว่า “ทิ้งแยกไป สุดท้ายก็ไปเทรวมกันอยู่ดี” ซึ่งปัจจุบันรถเก็บขยะของกทม. จะมีพื้นที่แยกส่วนสำหรับเก็บขยะรีไซเคิล, ขยะติดเชื้อ, ขยะอันตราย ออกจากขยะมูลฝอยด้านท้ายรถอย่างชัดเจน
ส่วนที่เป็นขยะมูลฝอยต่าง ๆ ก็จะถูกใส่เข้าเครื่องอัดด้านท้ายรถตามปรกติ เพื่อนำไปทิ้งยังจุดกำจัดขยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การคัดแยกขยะถือเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็ควรทำ เพื่ออย่างน้อยในการจัดเก็บของพนักงานเก็บขยะจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น
“ขยะติดเชื้อ อย่างพวกหน้ากากอนามัย ทิชชู่เช็ดน้ำมูก น้ำลาย อยากให้ช่วยใส่ถุงสีแดง แยกไว้ หรือจะทำสัญลักษณ์อะไรให้คนเก็บรู้สักนิดนึง เพราะขยะพวกนี้จะแยกเอาไปเผาทำลาย
อีกอย่างหนึ่ง พอแยกมาแล้ว คนเก็บก็จะเก็บได้เร็วขึ้น ไม่ต้องไปคุ้ย-แยกอีกครั้ง ก็ปลอดภัยด้วย”
…
เหนื่อย เสี่ยง ยังทำต่อไป
แม้ว่ารายได้จะน้อย ความเสี่ยงจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีมากขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 แต่พนักงานเก็บขยะเหล่านี้ ก็ยังคงออกปฏิบัติงาน ทำหน้าที่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง พนักงานหลายคนให้คำตอบคล้ายๆ กันคือ มันเป็นหน้าที่ที่รับผิดชอบมา แม้เงินเดือนไม่ได้สูงมาก แต่อย่างน้อย ก็เป็นเงินเดือนที่เลี้ยงครอบครัวได้
แม้ไม่ได้มีเกียรติเหมือนอย่างอาชีพอื่น ๆ แต่สุดท้ายมันก็ทำให้ท้องของทั้งครอบครัวอิ่มได้นั่นเอง
“อย่าถามเลย เหนื่อยไหม เสี่ยงไหม กลัวโควิดไหม อาชีพนี้น่ะ เห็น ๆ กันอยู่ ไปถามเด็กมันยังรู้เลย
แต่ไอ้เราเลือกแล้ว มาทำอาชีพนี้แล้ว เงินเดือนก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมันก็หน้าที่นั่นล่ะ หน้าที่เราที่ต้องไปเก็บ”
…
ที่มา