ประเด็นที่น่าสนใจ
- ธุรกิจขายบริการทางเพศ หรือ ธุรกิจเพศพาณิชย์ ยังคงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน
- ทั้งที่อาชีพขายบริการทางเพศ มีมาอย่างยาวนานในสังคมไทย
- ประเทศไทยเคยมี เก็บภาษีบำรุงถนน และ พ.ร.บ.ป้องกันสัญจรโรค ที่เปิดให้ขออนุญาตเปิด “โรงนครโสเภณี” และขึ้นทะเบียน “หญิงนครโสเภณี” เป็นช่องทางการจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง ป้องกันและดูแลสวัสดิภาพของผู้ขายบริการทางเพศ
- ปัจจุบันมีข้อมูลที่สำรวจในขณะนี้ พบว่า มีผู้ขายบริการทางเพศในไทยราว 2แสน – 1 ล้านคน เม็ดเงินหมุนเวียนนับแสนล้านบาทต่อปี
…
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่คำสั่งปิดสถานบันเทิง สถานบริการ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้คำสั่งดังกล่าว มีกลุ่มผู้ที่อยู่นอกระบบ พื้นที่สีเทา ๆ ของธุรกิจ “ค้าเนื้อสด” หรือ “อาชีพขายบริการทางเพศ” ที่ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
ในประเทศไทย อาชีพขายบริการทางเพศ เป็นพื้นที่สีเทาที่ไม่ได้รับการยอมรับจากทั้งในแง่กฎหมาย สังคม ที่ตั้งแง่ของศีลธรรม ความถูกต้องต่าง ๆ ที่มองคนเหล่านี้ ในด้านลบตลอดเวลาที่ผ่าน ทั้งที่ อาชีพขายบริการ เกิดขึ้นมานาน และทุกคนก็รับรู้กันว่า “มีอาชีพนี้อยู่ในประเทศไทย”
ย่านโคมแดง – สำนักโคมแดง – นครโสเภณี – โรงรับทำชำเราบุรุษ
หากจะเอ่ยถึงอาชีพขายบริการทางเพศ ในบันทึกของประวัติศาสตร์โลก หลายครั้งถูกเรียกว่า “อาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์” ในประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน มีบันทึกไว้ในหลายยุคหลายสมัย ทั้งที่อย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ซึ่งหาดูเฉพาะในที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เช่น
- กฎหมายตราสามดวง ในบทพระไอยการลักษณผัวเมีย ในช่วงปี พ.ศ. 1904
- บันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ได้มีการเอ่ยถึง “โรงรับทำชำเราบุรุษ” ย่านตลาดบ้านจีน ติดกับปากคลองขุนละครไชยเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยา
จนต่อเนื่องถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มีบันทึกไว้อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับกรณีการเก็บ “ภาษีบำรุงถนน” ซึ่งอาจจะถือเป็นหนึ่งในประกาศการเก็บ “ภาษีโสเภณี” ไว้อย่างชัดเจน โดยมีเนื้อหาเอ่ยถึงการ “อนุญาตให้ค้าประเวณีได้” และมีการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการ บันทึกลงในราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยเรื่องของการตั้ง “โรงหญิงนครโสเภณี”
โดยได้กำหนดนิยามคำว่า “หญิงนครโสเภณี” ไว้ว่า เป็นหญิงที่รับจ้างชำเราสำส่อน โดยได้รับผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง และมีการขึ้นทะเบียน-รับใบอนุญาต “หญิงนครโสเภณี” ไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนด ข้อห้ามต่าง ๆ ไว้อีกด้วย
ซึ่งการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี นั้นจะมีข้อกำหนดให้แขวนโคมไฟไว้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “สำนักโคมเขียว” ซึ่งหมายถึงสถานบริการทางเพศนั่นเอง
สำหรับในช่วง รศ.127 นี้ จากพ.ร.บ. ภาษีบำรุงถนน ฉบับนี้ ทำให้เกิดการขยายตัวของโรงนครโสเภณีเพิ่มมากขึ้น ในขณะนี้เดียวกันก็กลายเป็นช่องทางใช้อำนาจของเจ้าภาษีอากร มีการเรียกรับเงินจากหญิงนครโสเภณี จึงมีการเปลี่ยนแปลงจาก พ.ร.บ. ภาษีบำรุงถนน เป็น พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรค แทนเพื่อหวังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้การจัดเก็บภาษี ขึ้นทะเบียนผู้ค้าบริการทางเพศ กำหนดให้มีการตรวจโรค ซึ่งถือได้ว่า เป็นข้อกฎหมายช่วยทำให้ชีวิตของผู้ค้าบริการทางเพศดูได้รับการคุ้มครองดีกว่าที่ผ่านมา
หลังจากนั้นในปี 2485 ได้มีการปฏิวัติวัฒนธรรมต่าง ๆ มากขึ้น ในยุคสมัยของจอมพล ป. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น และกฎหมายการมีผัวเดียวเมียเดียว ก็มีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่ค่านิยมของเรื่องเพศยังไม่เปลี่ยนแปลงไป บรรดาชายไทยมีการเปลี่ยนหันไปใช้บริการโสเภณีเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีจำนวนหญิงที่ขายบริการทางเพศมากขึ้น ซึ่งพบหลอกลวงหญิงสาวจากในต่างจังหวัด เข้ามาขายบริการมากขึ้น เรื่อยๆ และมีอายุน้อยลง จึงทำให้การค้าประเวณีลุกลามออกนอกโรงนครโสเภณี
รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีแนวนโยบายที่จะยกเลิก “โรงนครโสเภณี” ตามกรอบการปราบปรามการค้ามนุษย์ของสหประชาชาติ การค้าประเวณี จึงลุกลามออกสู่สถานบันเทิงประเภทอื่น อย่าง โรงน้ำชา โรงเต้นรำ ไนท์คลับ โรงแรม มากขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การยกเลิกการต่อทะเบียนหญิงนครโสเภณีในปี 2499 และยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันสัญจรโรค ในปี 2503
ก่อนที่จะมีการออก “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503” ในสมัยของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้อาชีพโสเภณีผิดกฎหมายนับแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่การค้าขายบริการทางไม่ได้ลดน้อยลง และยังคงแพร่กระจายไปสู่สถานบริการอื่น ๆ รวมถึงมีอิทธิพลของฝั่งตะวันตกเข้ามา จึงเกิดคำว่า “ย่านโคมแดง” เกิดขึ้น เนื่องจากในฝั่งตะวันตกนั้นใช้สัญลักษณ์ของไฟสีแดงเป็นป้ายบอกถึงสถานบริการทางเพศ จึงทำให้กลายเป็นที่เข้าใจกันในหมู่นักเที่ยว สวนกระแสข้อกฎหมายในประเทศไทย ที่ยกเลิกการค้าประเวณี และถือเป็นอาชีพผิดกฎหมาย
…
ผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้หายไป
อาชีพค้าประเวณี หลังจากที่มีถูกผลักออกจากการยอมรับในสังคม และกฎหมาย ทำให้การค้าประเวณีที่เกิดขึ้นกลาย ธุรกิจสีเทา ผู้ค้าประเวณีกลายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย กลายเป็นธุรกิจลับๆล่อๆ ภายในประเทศ ที่หลายฝ่ายรับรู้ว่า “มีอยู่” แต่ไม่ได้รับการยอมรับ กลายเป็น ธุรกิจลับ ๆ ล่อ ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ผ่านทางสถานบริการ อาบ-อบ-นวด, บาร์, คาราโอเกะ ในรูปแบบต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งผ่านช่องทางสมัยใหม่ อย่างไลน์ และโซเซียลมีเดีย แทนที่ “นางทางโทรศัพท์” ที่สมัยหนึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ในกลุ่มผู้มีอิทธิพล คนมีสีต่าง ๆ ที่ไม่อยากเสี่ยงไปยังสถานบริการ-อาบอบนวด ให้สื่อมวลชนนำภาพขึ้นมาเล่าบนหน้าหนังสือพิมพ์
ในสถานการณ์ของโควิด-19 นี้เช่นกัน สถานบันเทิง บาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวดถูกสั่งปิด ไม่ว่าจะทั้งที่ ย่านพัฒพงษ์, ซอยคาวบอย หรือในต่างจังหวัดเช่น พัทยา, ภูเก็ต หรือที่เที่ยวชื่อดังในย่านรัชดา, พระราม 9 ฯลฯ ย่านสถานบันเทิงที่เป็นที่นิยมต่าง เงียบเหงาไปอย่างมาก
ผู้ขายบริการทางเพศเหล่านี้ มีทั้งที่ทำประจำ และพาร์ทไทม์ ก็ได้รับผลกระทบตาม ๆ กันไปจากการปิดตัวลง บางรายพอมีที่ทางก็เดินทางกลับต่างจังหวัด ไปประกอบอาชีพอื่น บางรายผันตัวเองมาขายบริการผ่านช่องทางโซเซียล บางรายผันตัวเองไปเป็นนางโชว์ผ่านช่องทางสมัยใหม่อย่าง OnlyFans ที่มีความเสี่ยงต่ำติดโควิด-19 น้อยกว่ามากแทน
…
ผู้ค้าบริการในยุคโควิด-19
หลังจากสิ้นสุด “โรงนครโสเภณี” อาชีพของผู้ขายบริการทางเพศ ก็ลงไปอยู่ในพื้นที่ของธุรกิจสีเทา โดยคาดการณ์กันจากหลายแหล่งที่มีการสำรวจ พบว่า คนที่อยู่เป็นผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทยมากกว่า 2 แสนคน และทั้งหมด “ไม่ถูกกฎหมาย”
ผู้ขายบริการทางเพศไม่ว่าจะเป็นเพศใด ก็จะต้องดูแลตัวเองเป็นหลัก ยิ่งเป็นผู้ขายบริการที่ไม่มีสังกัด ไม่ได้อยู่ในอาบอบนวด จึงต้องระวังตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องมารับงานเอง ไม่ว่าจะเป็นข้างถนน หรือออนไลน์ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญหากับลูกค้าประเภทใด แบบใด จะโดนหลอกฟรีหรือไม่
ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ขายบริการทางเพศที่อาศัยพื้นที่ริมถนนถูกทำร้าย ข่มขู่ ฯลฯ และทั้งหมด ไม่ได้มีการแจ้งความเอาผิดกับผู้ก่อเหตุ
ในสังคมยุค 4.0 ยิ่งทำให้การค้าประเวณี มีความเข้าถึงได้ง่าย ทั้งผู้ขายบริการและผู้ค้าบริการ หลายคนเลือกขายบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะไม่อยากเปิดเผยตัวเองว่ารับงานขายบริการ
ความเสี่ยงก็จึงซับซ้อนมากขึ้น การหลอกลวง-ล่อลวงมาเพื่อถ่ายคลิปและนำไปขายก็มีเพิ่มมากขึ้นโดยที่ผู้ขายบริการเหล่านั้นไม่ได้ยินยอม มีการข่มขู่ที่จะปล่อยคลิปให้กับคนใกล้ชิด แลกกับการใช้บริการทางเพศ / เงิน จากผู้ค้าบริการทางเพศเหล่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าวมา นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คนเหล่านี้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ และได้รับผลกระทบจากการระบาดที่เกิดขึ้น ไม่ต่างจากคนในอาชีพอื่น ๆ เนื่องจากนักเที่ยวก็ไม่กล้าที่จะซื้อบริการเหมือนเดิม ผู้ขายก็กลัวที่จะติดโควิด-19 เช่นกัน ทำให้รายได้ลด และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนใด ๆ จากภาครัฐ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ถูกกฎหมาย
เกิดคำถาม “ขัดศีลธรรม” หรือ “ขัดขาใคร”
ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี หลังจากที่มีประกาศยกเลิกโรงนครโสเภณี และการบริการทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพขายบริการทางเพศไม่ได้ลดลง เช่นเดียวกับเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากการขายบริการเหล่านี้ ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ด้วยจากการที่อาชีพนี้ เป็นเรื่องผิดกฏหมาย ทำให้เม็ดเงินและจำนวนของผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ ไม่ได้มีการสำรวจ หรือจัดเก็บข้อมูลมากพอที่จะยืนยันยอดที่แท้จริงได้ แต่จากการสำรวจของหลาย ๆ หน่วยงาน ระบุว่า มีผู้ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ ไม่น้อยกว่า 2 แสนคน คิดเป็นรายได้ต่อปีเกือบ 2 แสนล้านบาท
ในขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าพ่ออ่างเมืองไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ขายบริการทางเพศมากกว่า 1 ล้านคน โดยใช้ผับ บาร์ บาร์เบียร์ อาบอบนวด เลาจน์ ร้านนวด คาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ไปถึง ซ่องแบบเต็มตัว ซึ่งเม็ดเงินในธุรกิจสีเทานี้ ขยายตัวหลายแสนล้านต่อปี และมากกว่าธุรกิจมืดอย่างยาเสพติดเสียอีก
ซึ่งที่ผ่านมา ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ ถูกขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ และขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ และแน่อนว่า ตั้งแต่ผู้ขายบริการตามริมถนน ไปจนถึงสถานประกอบการต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่พูดถึงสิ่งเดียวกันคือ “เคลียร์แล้ว”
และคำว่า “เคลียร์แล้ว” เหล่านี้ ก็หมายถึงการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับสูง ให้ปิดหูปิดตา กับสิ่งที่เกิดขึ้น และทำให้เราเห็นข่าว “ไม่พบการค้าประเวณี” หลังการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบันเทิงในพัทยา-ป่าตอง-พัฒพงษ์ ทำให้หลายฝ่ายจึงเกิดข้อสงสัยว่า
…
ธุรกิจสีเทานี้ ไม่สามารถขึ้นมาถูกกฎหมายได้เป็นเพราะ “ขัดศีลธรรมอันดี” หรือ “ตัดรายได้” ของใครบางคนที่รับเงินใต้ดินเหล่านี้ และใช้คำว่า ศีลธรรม เป็นข้ออ้างในการคัดค้านกันแน่
…
การท่องเที่ยวไทยที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นึกถึงธรรมชาติอันสวยงาม วัฒนธรรมของไทย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จำนวนไม่น้อย ก็นึกถึงผับ บาร์อะโกโก้ ย่านโคมแดงของไทยเช่นกัน
หากเราเดินไปถามใครสักคนที่เดินอยู่ริมถนนว่า อาบ-อบ-นวด ที่เปิดให้บริการถูกกฎหมายเหล่านี้ มีค้าประเวณีหรือไม่? คงไม่ต้องเดาคำตอบที่จะได้รับ แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับป้ายในสถานบริการเหล่านั้นที่ติดไว้ว่า “ห้ามค้าประเวณี” ก็ตาม
ปัจฉิมลิขิต :
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงอยากเปิดประเด็น และตั้งคำถาม ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นสังคมที่เราเป็นที่รับรู้กันว่า อาชีพขายบริการทางเพศ มีอยู่ และมีตัวตนอยู่ในสังคมตลอดมา แต่หลายครั้งที่เรื่องนี้ ถูกเพิกเฉยที่จะนำขึ้นมาหาข้อสรุป ด้วยเหตุผลบางอย่าง
ดังนั้น บทความนี้ จึงไม่ใช่ข้อสรุปของการสนับสนุน หรือคัดค้าน แต่เปิดประเด็นให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่า การเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย
ที่มา
- ประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรค
- NPR : How The Pandemic Has Upended The Lives Of Thailand’s Sex Workers
- ธุรกิจเพศพาณิชย์, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์