ทองไม่รู้ร้อน สำนวนไทย

สำนวนไทย – ทองไม่รู้ร้อน

ที่มาที่ไปของสำนวนไทยที่คุ้นหู

Home / TELL / สำนวนไทย – ทองไม่รู้ร้อน

“แม้สถานการณ์จะน่ากังวลเป็นอย่างมาก แต่เขายังคงทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่เลย”

สำนวน “ทองไม่รู้ร้อน” เป็นหนึ่งในสำนวนไทยที่มีการใช้กันบ่อยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งในสมัยโบราณนั้น มีเกณฑ์ในการเรียกทองที่แตกต่างกันไป เช่น ทองชมพูนุช เป็นทองที่มีเนื้อสีเหลืองเข้ม ออกไปทางสีแดงเล็กน้อย ส่วนทองคำบริสุทธิ์ก็จะมีคำเรียกอื่น ๆ เช่น ทองเนื้อแท้ ทองคำเลียง

ซึ่งทองคำนั้นเป็นโลหะที่อ่อนและเหนียว สามารถตีแผ่ทองคำให้เป็นแผ่นบางมากๆ ได้ รวมถึงลักษณะของเนื้อทองที่จะมีสีเหลืองสว่างสดใส และมีความสุกปลั่ง เป็นประกายมันวาวสะดุดตา ไม่ว่าจะฝังอยู่ในดิน โคลน หรือในน้ำ ก็ไม่เกิดสนิมหรือหมองได้ง่าย

ในการนำทองมาขึ้นรูปทำเป็นเครื่องประดับจึงจำเป็นต้องมีการผสมโลหะอื่น ๆ ลงไป โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการกำหนดคุณภาพของทองคำ ตามความบริสุทธิ์ของทองที่อาจจะมีส่วนผสมของแร่อื่นอยู่ด้วยตามราคาต่อน้ำหนักทองหนึ่งบาท

  • ทองเนื้อสี่ หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 4 บาท
  • ทองเนื้อห้า หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 5 บาท
  • ทองเนื้อหก หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 6 บาท (ทองดอกบวบ)
  • ทองเนื้อเจ็ด หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 7 บาท
  • ทองเนื้อแปด หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 8 บาท
  • ทองเนื้อเก้า หมายถึง ทองคำหนักหนึ่งบาท ราคา 9 บาท

ในกระบวนการทำทองจากเม็ดทองคำที่ร่อนได้ สู่ทองคำแท่ง-ทองรูปพรรณที่เราสวมใส่กันนั้น จะมี “การหลอมทอง” โดยการนำทองมาหลอมด้วยความร้อนมากกว่า 1000 องศาฯ เพื่อให้ทองคำละลาย เป็นน้ำทอง ก่อนนำไปเทลงเบ้า เพื่อนำไปทำงานต่าง ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตี การชัดลวด หรือการรีด ฯลฯ นำไปสู่การทำเป็นเครื่องประดับต่อไป

ซึ่งกระบวนการหลอม หรือการหล่อ หรือแม้แต่การเชื่อมชิ้นงานเข้าด้วยกัน ก็จะมักใช้ความร้อนในการทำให้ทองอ่อนลง ทองที่ผ่านการผสมกับโลหะอื่น ก็จะทำให้การใช้ไฟลนจำเป็นต้องใช้ความร้อนที่สูงมาก หรือหากผสมกับตะกั่ว ก็จะใช้ความร้อนที่ต่ำกว่า ความผันแปรดังกล่าวจึงจะกลายเป็นที่มาของคำว่า “ทองไม่รู้ร้อน”

เพราะเมื่อโดนไฟลนจำนวนมากแล้ว ทองบางชิ้นยังยังคงสีสัน คงรูปเหมือนเดิมไม่ยอมอ่อนได้โดยง่าย ซึ่งทองที่มีส่วนผสมของโลหะอื่น ๆ มาก็จะมีความสามารถในการคงรูป หรืออ่อนตัวได้แตกต่างกันไป ตามสัดส่วน และชนิดของโลหะที่ผสมในเนื้อทองนั้น ๆ

ความหมายของคำว่า “ทองไม่รู้ร้อน”

จากที่มาดังกล่าว ทำให้สำนวนที่ว่า “ทองไม่รู้ร้อน” จึงมีความหมายในลักษณะเปรียบเทียบเปรียบเปรยถึงการที่ไม่กระตือรือล้น ไม่สะดุ้งสะเทือน เฉยเมย ไม่สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร หรือจะกระทบต่อใครบ้างนั่นเอง

ตัวอย่างการใช้งาน

  • แม้จะมีคนท้องเดินขึ้นมาบนรถเมล์ แต่เขาก็ยังคงนั่งเฉย ทำเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” ไม่ยอมลุกให้นั่งเลย
  • งานเอกสารจำนวนมาก ต้องเร่งให้เสร็จพรุ่งนี้เช้าแล้ว แต่เลขาฯ คนนั้นยังคงทำเป็น“ทองไม่รู้ร้อน” อยู่เลย ไม่รู้ว่า พรุ่งนี้จะเสร็จหรือเปล่า