Moderna วัคซีน mRNA วัคซีนโควิด-19

รายงานภาวะหัวใจอักเสบในวัยรุ่นหลังรับวัคซีนชนิด mRNA

สรุปรายงานการพบผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ - เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

Home / TELL / รายงานภาวะหัวใจอักเสบในวัยรุ่นหลังรับวัคซีนชนิด mRNA

ประเด็นสำคัญ

  • CDC สหรัฐฯ รายงานยืนยันการพบความเชื่อมโยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ – เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA
  • พบความเชื่อมโยงในกลุ่มอายุ 12-39 ปี โดยเฉพาะในเพศชาย และเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ราว1-4 วัน
  • อย่างไรก็ตาม จากจำนวนที่พบภาวะดังกล่าว ยังคงมีไม่มากนัก หน่วยงานฯ ที่เกี่ยวข้องของหลายประเทศจึงยังแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีน

จากการที่มีรายงานการพบผู้ที่เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น โดยมีรายงานเกิดขึ้นในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ อิสราเอล หรืออังกฤษ ที่มีการใช้วัคซีนชนิด mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna เกิดภาวะหัวใจอักเสบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

ที่มาของการสอบสวนในประเด็นนี้

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศอิสราเอลมีรายงานการพบผู้ที่เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด19 ของ Pfizer พบว่ามีการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. 64 โดยในครั้งแรก ทางการอิสราเอลระบุว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับการเข้ารับวัคซีน

ต่อมาในช่วงต้นเดือน พ.ค. CDC สหรัฐฯ มีรายงานในการพบ แต่ระบุในครั้งแรกว่าไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ได้มีการสอบสวนเพิ่มเติม จนในช่วงกลางเดือน พ.ค. จึงได้เริ่มสอบสวนเพิ่มเติม หลังจากที่มีรายงานการพบความคล้ายคลึงกันของการเกิดภาวะดังกล่าวคือ

  • พบในกลุ่มคนอายุน้อย เป็นส่วนใหญ่
  • เพศชายมากกว่า เพศหญิง
  • พบหลังการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงเวลา 1-4 วัน

ทำให้เริ่มมีการสอบสวนเพิ่มเติมในกลุ่มวัคซีน mRNA เกิดขึ้น

รายงานของทางการอิสราเอล

ทางการอิสราเอลได้ทำการสอบสวนการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ-เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยได้รวบรวมข้อมูลระหว่าง ธ.ค. 2563 – พ.ค. 2564 พบผู้ป่วยในกลุ่นนี้ จำนวน 275 ราย โดยสรุปพบว่า

  • มีการพบ 27 เคสจาก 5.4 ล้านราย หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก ( มี 11 รายที่มีอาการก่อนหน้า)
  • มีพบจำนวน 121 เคส จากผู้รับวัคซีน 5 ล้านราย
  • ส่วนใหญ่ พบในกลุ่มผู้ที่อายุ 16-19 ปี หลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2
  • ช่วงระยะเวลาหลังจากได้รับวัคซีนราว 4 วัน
  • 95% ของผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าว ไม่รุนแรง

ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล สรุปว่า มีความเป็นไปได้ที่มีความเชื่อมโยงกับการรับวัคซีน โดยเฉพาะในเข็มที่ 2 ในกลุ่มเพศชาย อายุระหว่าง 16-30 ปี และส่วนใหญ่พบอัตราที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 16-19 ปี

รายงานของ CDC สหรัฐ

สำหรับการรายงานการค้นพบผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในสหรัฐฯ มีรายงานการพบแล้วรวม 1,226 ราย โดยสรุปพบว่า

  • พบมากในกลุ่มวัยรุ่น – วัยทำงาน ที่มีอายุระหว่าง 12 – 39 ปี เป็นส่วนใหญ่
  • พบในผู้ชายมากกว่า ผู้หญิง
  • ส่วนใหญ่พบหลังจากการรับวัคซีนเข็มที่ 2
  • ระยะเวลาที่พบอาการคือ หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ราว 0 – 4 วัน

จากรายงานการพบอาการเหล่านี้ ทาง CDC สหรัฐฯ ระบุว่า ยังคงพบได้น้อย โดยในขณะนี้พบในอัตรา 12.6 เคสต่อวัคซีน 1 ล้านโดส ซึ่งพบในวัคซีนของ Moderna มากกว่า ของ Pfizer

  • วัคซีน Moderna พบอยู่ที่ 19.8 เคสต่อ 1 ล้านโดส
  • วัคซีน Pfizer พบอยู่ที่ 8 เคสต่อ 1 ล้านโดส

ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่ถือว่า มีความปลอดภัย และยังคงแนะนำให้ประชาชาชนชาวอเมริกันรับวัคซีน เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตน้อยกว่า การติดเชื้อโควิด-19

รายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในสหราชอาณาจักร

รายงานล่าสุดของสหราชอาณาจักรพบว่า มี 53 รายมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และมี 33 รายมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากได้รับวัคซีนของ Pfizer ในขณะที่มีรายงานในผู้ที่ได้รับวัคซีนของ Modernaจำนวน 1 ราย

ซึ่งทางหน่วยงานของสหราชอาณาจักร ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพิ่ม

รายงานการพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในกลุ่ม EU

ในรายงานสรุปเดือน พ.ค. 2564 ของ องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) มีรายงานเบื้องต้นที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยระบุว่า มีการพบจำนวน 122 ราย ที่ได้รับวัคซีนของ Pfizer และอีก16 รายที่ได้รับวัคซีนของ Moderna

อย่างไรก็ตาม ทางองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวนในกรณีที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่

ที่มา