งิ้ว วัฒนธรรม อุปรากรจีน

งิ้ว – ในวันที่อ่อนแรงและโรยรา

ท่ามกลางกระแสสังคม-วัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

Home / TELL / งิ้ว – ในวันที่อ่อนแรงและโรยรา

หากงานวัดในไทย มีลิเกเป็นส่วนหนึ่งของงาน งิ้วก็ไม่ต่างกันที่แทบทุกศาลเจ้าในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่มักจะมีการแสดงงิ้วในช่วงวันเฉลิมฉลองตามเทศกาลสำคัญ ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศิลปะการแสดงที่พบเห็นมาอย่างยาวนาน กับวัฒนธรรมชาวจีนในประเทศไทย มาโดยตลอด

ไม่แน่ชัดว่า งิ้วเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเวลาใด เท่าที่มีจารึกไว้ เริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ เมื่อครั้งมีการจัดแสดงให้กับราชทูตจากฝรั่งเศสได้รับชม ซึ่งจากวัฒนธรรมการแสดงที่มักจะแสดงในราชสำนักตามรากเหง้าดังเดิมในประเทศจีน ก็แพร่ขยายออกมาให้ประชาชนทั่วไปได้ชมกัน ก่อนข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทย ก่อนจะเฟื่องฟูมากในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

การแสดงงิ้ว

เด็กงิ้ว สู่หน้าม่าน

นักแสดงงิ้วส่วนใหญ่ มักจะเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับคณะแสดงงิ้ว หรือพ่อแม่นำตัวมาฝากไว้กับโรงงิ้ว ด้วยหลากหลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักคือ ฐานะ-การเงิน-ความจำเป็น ที่จะต้องออกไปหาเงินเลี้ยงครอบครัวและไม่สามารถหาใครช่วยดูแลลูก-หลานได้ “เด็กงิ้ว” หลายคนจึงมีโรงงิ้วเป็นบ้านหลังที่สอง ใช้ชีวิตกิน-นอน-เรียนอยู่ที่โรงงิ้ว

โรงงิ้วจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ถูกใช้เป็นช่องทางหารายได้เสริมให้ครอบครัว หากเด็กงิ้วรายใด “มีแวว” ก็จะได้รับการนำมาฝึกฝนเพื่อแสดง ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาช่วยเหลือครอบครัวได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยเริ่มต้นฝึก-เรียนรู้การแสดงงิ้วตั้งแต่เด็ก ผ่านการฝึกฝน ทั้งการแต่งหน้า การแต่งตัว การแสดง การพูด การเดิน ฯลฯ ซึ่งในการฝึกมีกฎ-ระเบียบค่อนข้างชัดเจน และเข้มงวด จนมีเรื่องเล่าติดตลกกันว่า

นักแสดงงิ้ว ถ้าได้เป็นแล้วก็เป็นกันจนวันตาย ต่อให้ออกไปเป็นทำอาชีพอื่น ได้ยินเสียงรัวกลอง มือไม้มันก็ไปแล้ว


การแต่งหน้างิ้ว

การแต่งหน้างิ้ว

การแต่งหน้าของนักแสดงงิ้ว จะมีโทนสีสัน เส้นสายที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับบทของตัวละครแต่ละตัว เช่น

  • สีแดง แสดงถึงตัวละครที่กล้าหาญ ซื่อสัตย์
  • สีดำ จะแสดงถึงความซื่อตรง ฉลาด
  • สีขาว แทนความหมายในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่

แต่ในขณะที่ตัวละครบางตัวจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองชัดเจน เช่น กวนอู , เปาบุ้นจิ้น ที่จะเป็นการแต่งหน้าในโทนสี-รูปแบบ ที่ผู้ชมเห็นก็จะรู้ทันทีว่า ตัวละครนี้คือใคร


รายวัน-ผูกสัญญา-ย้ายค่าย

เด็กงิ้วรายใดที่มีฝีมือดีมีแววดี ได้ขึ้นแสดงบนเวที ก็จะได้รับค่าจ้างกันตามบทบาทที่ได้รับ เช่น บททหาร ที่แค่ขึ้นไปยืนนิ่ง ๆ บนเวทีตามบท อาจจะมีแอคชั่นบางเล็กน้อยตามสถานการณ์

แต่เมื่อต้องเริ่มมีบทพูด การเปร่งเสียงจึงเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เด็กงิ้วหลายคนต้องฝึกฝน เนื่องจากต้องมีส่งเสียงร้อง ลากเสียง รวมถึงดัดเสียงที่ต้องใช้ความสามารถและการฝึกฝน

เมื่อฝึกฝนมากขึ้น ก็ขยับไปเป็นตัวขุนนาง-ขันที-ตัวโกง ฯลฯ ซึ่งรายได้ก็จะขยับตามขึ้นไปด้วย ส่วนใหญ่แล้วเมื่อฝีมือดีขึ้น ได้แสดงเป็นตัวหลักไม่ว่าจะในบทใดก็ตาม ส่วนใหญ่ เจ้าของคณะงิ้ว ก็จะทำการ “ผูกสัญญา” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่ดีทั้งสองฝ่าย นักแสดงงิ้วที่ผูกสัญญาก็จะมักจะมีเงินเดือนที่มั่นคงกว่าการได้รับเงินเป็นรายวัน ในขณะที่คณะแสดงงิ้วเอง ก็จะได้นักแสดงอยู่ประจำประจำคณะ

นอกจากทางท่าแสดงแล้ว สีหน้า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการแสดงงิ้ว

นักแสดงงิ้วส่วนใหญ่ เมื่อมีชื่อเสียงดังขึ้น เป็นที่นิยมมากขึ้น ก็จะมีคณะงิ้วคณะอื่น ๆ มาติดต่อทาบทามให้ไปร่วมแสดงด้วย ซึ่งแน่นอนว่า สัญญาที่ตกลงกันไว้กับเจ้าของคณะ ก็จะมีระยะเวลากำหนด 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ก็จะเป็นส่วนที่ช่วยรั้งตัวนักแสดงงิ้วตัวเด่น ๆ ให้ยังคงอยู่กับคณะงิ้วได้

รุ่งเรือง สู่ โรยราตามยุคสมัย

งิ้ว จึงเป็นวัฒนธรรมที่อยู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ผ่านจุดรุ่งเรืองที่ในครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีคณะงิ้วหลากหลายคณะ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแสดงตามงานต่าง ๆ ทั้งในศาลเจ้า จนไปถึงมีโรงงิ้วที่เป็น “วิก” ประจำ เป็นแสดงงิ้วให้คนได้เข้ามาดูกัน ไม่ต่างจากโรงหนังในอดีต

เมื่อเวลาผ่านไป ความบันเทิงอื่น ๆ เข้ามาในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งทีวี โรงภาพยนต์ สู่ยุคปัจจุบันที่ความบันเทิงสามารถดูผ่านมือถือได้ทุกที่ ทุกเวลาตามที่ต้องการ ความนิยมในการชมงิ้ว ก็ลดลง เมื่อกวาดสายตามองกลุ่มผู้ที่มานั่งชมงิ้วในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีอายุอานามเกินครึ่งชีวิตมาแล้วทั้งสิ้น

ในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การแสดงงิ้ว มีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากเดิมที่ทีแสดงเรื่องราวตามความเชื่อ-เรื่องเล่าตามรูปแบบจีน ใช้ภาษาจีน ก็มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องราวทันยุค-สมัยมากขึ้น มีหลายคณะมีการใช้ภาษาไทย ในการแสดงมากขึ้น เพื่อยังคงรักษาฐานผู้ชมไว้ให้ได้มากที่สุด

บางคณะมีการประยุกนำเรื่องราวที่ทันสมัยและมีความเป็นไทย บางเรื่องราว มาปรับปรุงให้สามารถแสดง-ร้องงิ้วได้ แต่เรื่องราวก็ยังคงอยู่ในกรอบของความดี-ความชั่ว ความดี-ความแค้น ตามอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีน

ผู้ชมลด – งานลด – เวลาลด

แต่สุดท้าย สิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่า “การแสดงงิ้ว” จะมีการเปลี่ยนแปลงมุ่งหวังให้ดึงผู้ชมไว้ แต่ก็โรยราลงไปไม่ต่างจากกลุ่มอายุผู้ชม การแสดงงิ้วที่เคยมี “วิก” แสดงเป็นของตัวเอง ก็หายไป การแสดงที่เกิดขึ้นก็จะขึ้นอยู่กับงานเทศกาลและศาลเจ้ามากขึ้น เรื่อย ๆ

ในขณะที่ศาลเจ้าหลายแห่ง อยู่ติดกับชุมชนมาเป็นเวลานาน จากชุมชนชาวจีน กลายเป็นคอนโดมิเนียมสูงหลายสิบชั้น การแสดงที่ต้องใช้เสียงอย่างงิ้ว จึงมักจะถูกร้องขอให้ “ลดเวลา” การแสดงลงไปด้วย จากเดิมที่จะแสดงได้ 3-4 ชั่วโมง หรือยาวไปถึงเที่ยงคืน ปัจจุบันหลายแห่งแสดงได้เพียง 2 ชั่วโมง

งิ้ว

เมื่อทั้งงาน ผู้ชม เวลา ลดลง ก็ส่งผลถึงรายได้ที่เกิดขึ้นลดลงตามกันไปด้วย ทำให้นักแสดงิ้วหลายคนต้อง หันไปหารายได้เสริมอย่างอื่น ทดแทน หลายคนอายุมากเกินกว่าจะหันไปหางานประจำ และการเป็นนักแสดงงิ้วมาเกือบทั้งชีวิต จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยในการหารายได้อื่น ๆ

โควิด-19 ซ้ำ – ทรุด

งิ้ว เป็นอีกหนึ่งสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากพิษการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างหนักหน่วง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการแสดงแต่ละครั้งก็จะต้องอาศัยผู้เข้าชมเป็นหลัก จากการระบาดรอบแรกที่ต้องหยุดแสดงไปถึง 4 เดือน ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามาเลย และยิ่งหนักกว่าเดิมเมื่อการระบาดระลอกสองเข้ามาซ้ำเติม นี่ยังไม่นับถึงปัญหาการหาคนรุ่นใหม่ที่จะมารับช่วงสืบทอดต่อนาฏศิลป์โบราณที่กำลังจะเลือนหายไปจากความทรงจำ

การแสดงงิ้ว

พี่ต๋อง ธัชชัย อบทอง วัย 56 ปี ผู้จัดการ และนักแสดงงิ้วคณะ “ไซ้ ย่ง ฮง” เล่าให้ทีมช่าว MThai ฟังว่า เมื่อก่อนนักแสดงในคณะมีร่วมร้อยชีวิต ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 คน “โควิดรอบแรกว่าแย่แล้ว เจอรอบใหม่แย่ยิ่งกว่าเดิม” รายได้เหลือเพียง 10% ที่อยู่รอดมาได้เพราะเจ้าของคณะคอยช่วยเหลือทั้งนักแสดง และชาวคณะทุกคนที่ยังอยู่ตอนนี้ ถึงตอนนี้จะมีงานกลับเข้ามาแล้วบ้าง ซึ่งเป็นเหมือนการต่อลมหายใจของทั้งคณะงิ้ว ไซ้ ย่ง ฮง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์การระบาด และต้องหยุดแสดงไปอีกครั้งก็คงจะแย่ไปกว่านี้


เสียงร้องหนึ่งในสิ่งสำคัญของงิ้ว

ไมค์ถูกแขวนอยู่กลางเวที

การแสดงงิ้ว ถูกเรียกในภาษาอังกฤษว่า Chinese opera เนื่องจากเป็นการแสดงการขับร้อง ผสมผสานการแสดง

ซึ่งการแสดงงิ้ว ยังคงใช้การติดตั้งไมค์ไว้กลางเวที นักแสดงงิ้วจำเป็นจะต้องเปร่งเสียงร้องตามท้วงทำนอง สูงต่ำ รวมถึงลากเสียงหรือดัดเสียง ตามบทที่เกิดขึ้นด้วย


บทสรุป – ต้องเดินต่อไป

การแสดงงิ้ว จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวของนักแสดง เจ้าของคณะ หรือศาลเจ้า แต่เป็นหนึ่งในวัตนธรรมที่สืบทอดมายาวนาน ไม่ต่างจากการแสดงประเภทอื่น ๆ เช่น โขน ลิเก โนราห์ ตะลุง ในภาคอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบทั้งจากกระแสโลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติมให้ทรุดลงไปอีก

“หลายคนเริ่มเล่นงิ้วมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก มีความรัก และความผูกพันธ์กับอาชีพนี้ ถ้ามันจะหายไปผมก็คงเสียดาย แต่อย่างน้อยจะพยายามยื้อให้ถึงที่สุด ถึงจะหาผู้มาสืบทอดยาก แต่ก็จะยังทำอาชีพนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว” พี่ต๋องกล่าวปิดท้าย


ขอบคุณ นักแสดงงิ้วคณะ “ไซ้ ย่ง ฮง”
ภาพ – ธนโชติ ธนวิกรานต์