คนไร้บ้าน

เมื่อความหนาวของคนไร้บ้าน ไม่ใช่ อากาศ

เรื่องราวของคนไร้บ้าน เมื่อ "บ้าน" ไม่ใช่ "บ้าน"

Home / TELL / เมื่อความหนาวของคนไร้บ้าน ไม่ใช่ อากาศ

เมื่อความหนาวระลอกนี้ มาเยือนประเทศไทย สร้างความสดชื่นให้กับใครหลายคนที่รอสัมผัสความเย็นแบบนี้มานาน โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่จะได้นอนสวมถุงเท้า ห่มผ้าหนาๆกอดตุ๊กตาอุ่นๆให้หนำใจ

แต่ใครเลยจะรู้ว่า ท่ามกลางความเย็นที่แสนจะชื่นใจ กลับกลายเป็นความหนาวเหน็บแสนสะท้านของพวกเขาเหล่านี้ ….. “คนไร้บ้าน”

มหานครคนไร้บ้าน

จากรายงานการวิจัยของหลาย ๆ แหล่ง หลาย ๆ หน่วยงานระบุตรงกัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น มีคนไร้บ้าน มาใช้ชีวิตอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศ เท่าที่มีรายงานการสำรวจ พบว่า มีคนไร้บ้านราว 3 พันราย ที่อาศัยพื้นที่สวนสาธารณะ ป้ายรถเมล์ หรือริมทางเท้า เป็นพื้นที่หลับนอนในช่วงกลางคืน ก่อนที่ช่วงกลางวันจะเดินทางไปรับจ้าง หรือทำงานตามไปเรื่อยๆ

ที่เหลือในพื้นที่ต่างจังหวัดก็มีคนไร้บ้านอยู่บางส่วน แต่ไม่มากนัก และเกาะกลุ่มกันอยู่ในพื้นที่บริเวณหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ชลบุรี ฯลฯ กลุ่มคนไร้บ้านในเมืองใหญ่ ส่วนมากประกอบอาชีพเก็บของเก่า บางส่วนรับจ้างทั่วไป และบางส่วนก็ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น พวงมาลัย

ดังนั้นสิ่งแรกที่หลายคนควรเข้าใจในบริบทของคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่ไม่ใช่ขอทาน แต่เป็นคนที่มีงานทำ หรือมีประสบการณ์ทำงานต่าง ๆ มาก่อน แต่เลือกที่จะใช้ชีวิตค่ำไหน นอนนั่น เพียงเพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เพื่อเติมเต็มความผิดหวังบางอย่างในชีวิต

คนไร้บ้าน ที่อาศัยป้ายรถเมล์นอน

13 กลุ่มคนไร้บ้าน

สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านในปัจจุบันนั้น แบ่งได้เป็น 13 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • คนไร้บ้าน (ไม่มีบ้าน/ที่อยู่)
  • คนเร่ร่อนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
  • คนเร่ร่อน หนีออกจากบ้าน
  • ผู้ป่วยข้างถนน
  • ผู้พ้นโทษและไม่ได้รับโอกาส
  • ผู้พักอาศัยชั่วคราว
  • คนจนเมือง
  • ครอบครัวเร่ร่อน
  • พนักงานบริการ
  • ชาวต่างชาติเร่ร่อน
  • แรงงานต่างด้าว
  • ผู้ติดสุรา/ยาเสพติด
  • กลุ่มค้าบริการ

ไม่ไร้บ้าน แค่ต้องการที่พักใจ

คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ จำนวนมาก “ไม่ใช่คนไม่มีบ้าน” หากแต่หลายคนรู้สึกว่า บ้านที่อาศัยอยู่เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างบังฝน-บังแดดเท่านั้น “ไร้ความผูกพันธ์-ความเข้าใจ” ทำให้หลายคนเลือกออกมาใช้ชีวิต รวมกลุ่มกับกลุ่มคนไร้บ้านอื่น ๆ ที่พบเจอกัน เพื่อพูดคุย – แลกเปลี่ยน – คลายเหงา และหาคนที่เข้าใจความรู้สึก ของคนเหล่านั้น ที่ไม่สามารถหาได้ที่บ้าน หรือ เป็นหนึ่งในวิธีการหลีกหนีปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต

ซึ่งอาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อม – สังคมที่แตกต่างกัน รวมถึงประสบการณ์ในช่วงวัย ทำให้ความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัว ไม่สามารถพูดคุยหรือเข้าใจได้ จึงออกมาใช้ชีวิตภายนอกบ้าน “เสมือนคนไร้บ้าน” เพื่อเติมเต็มชีวิตบางส่วนที่ต้องการนั่นเอง

ดังนั้น จำนวนคนไร้บ้าน จะแปรผันตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา เมื่อค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ค่าเช่าที่พักอาศัย-ที่ดินสูงขึ้น และค่าแรงไม่เพียงพอที่จะจ่าย ผู้มีรายได้น้อยก็จะถูกผลักออกห่างจากพื้นที่เมือง เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

บางครั้งเค้าเรียกเรา คนเร่ร่อน คนจรจัด ฟังแล้วบางทีมันก็… นะ

คือเราไม่ได้เป็นช้างเร่ร่อน หรือสุนัขจรจัดอะไรพวกนั้น เราก็ไม่ได้อยากออกมาเร่ร่อน นอนข้างทางแบบนี้นะ หลายคนมาด้วยปัญหาที่บ้านไม่เข้าใจเขา บางคนมาเพราะตกงาน บางคนเพราะบ้านโดนไล่

คือเราแค่คนจน ๆ เท่านั้นเอง

– คนไร้บ้าน 1 –

คนไร้บ้านหลายคนเป็นผู้ป่วย ไม่ว่าจะด้วยสภาพร่างกาย หรือจิตใจ หรือบางคนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด ประกอบกับการถูกกีดกันออกจากสังคม ญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งคนใกล้ชิด สุดท้ายต้องผันตัวมาเป็น คนไร้บ้าน ที่ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน

“Life”

ศูนย์ไร้บ้าน ไม่ใช่บ้าน

ปัญหาของคนไร้บ้าน มีมาโดยตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์คนไร้ที่พึ่งพิง ในหลายพื้นที่ด้วยกัน เช่น สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี, สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี, ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง นนทบุรี, ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู

ล้วนแล้วแต่เปิดโอกาสผู้ที่ต้องการที่พัก หรือกลุ่มคนไร้บ้าน สามารถเข้าไปพักอาศัยอยู่ได้ แต่หลายคนก็ไม่ได้เข้าไป หลายคนเข้าไปแล้วก็กลับออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกศูนย์ฯ

ไม่ใช่ว่า ศูนย์ฯ ไม่ดีนะ มันก็ดี มีที่นอน ที่พัก ไม่ต้องตากฝน แต่มันคือเหมือนที่ซุกหัวนอน ไม่ต่างกันกับข้างนอก สบายกว่ากันก็เท่านั้น

แต่เค้าก็มีกฎ มีกติกาของศูนย์นะ เราไม่ชอบไง คือลุงก็อายุเยอะแล้ว มันนอนไม่หลับ พอเวลานอนไม่หลับ เราชอบเดินไปเรื่อย ๆ ง่วงค่อยนอน พอไปอยู่แล้วมันมีกฎของเค้า ไอ้เรามันชอบอิสระมากกว่า

– คนไร้บ้าน 2 –
วิถีคนไร้บ้านในสภาพอากาศหนาวเย็น

ภาวะคนไร้บ้านโดยจำเป็น

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการ ส่งผลกระทบคนงานอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างรายวัน ที่เมื่อกิจการหยุด/ระงับ ไม่ว่าถาวรหรือชั่วคราว คนเหล่านี้คือคนที่จะได้รับผลกระทบก่อนเป็นกลุ่มแรก ๆ

ก็ไม่ได้อยากมานอนอยู่ที่หัวลำโพงนะ คือเราเคยมีงานนะ แต่พอเค้าให้เราหยุดต่อเนื่อง มันก็แย่นะ เพราะเราหาเช้า-กินค่ำ พอไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ก็ต้องออกมา

ไอ้เราก็อย่าว่าแต่เสื่อผืนหมอนใบเลย มีแค่เสื้ออยู่ในกระเป๋านี่ล่ะ ก็เลยมานอนที่นี่ วนหางานทำไป ถ้าได้งานก็จะได้ไม่ต้องกลับไปบ้านต่างจังหวัด เพราะกลับไปก็ไม่มีงานเหมือนกัน

อยู่กรุงเทพฯ ก็ยังคงพอหวังว่าจะหางานได้ รายวันก็ยังดี แล้วค่อยขยับขยายไป ช่วงนี้ไม่มีงาน ก็นอนแบบนี้ไปก่อน

– คนไร้บ้าน 3 –

เมื่อไม่มีงาน แต่มีภาระเงินค่าเช่าที่พักที่ต้องจ่ายยังไม่นับค่าไฟ ค่าน้ำ ฯลฯ ที่จะต้องจ่ายทุกสิ้นเดือน ทำให้หลายคนเลือกออกมานอนอยู่ตามสถานีขนส่ง หรือจุดหลัก ๆ อย่างเช่น หัวลำโพง เป็นที่พักชั่วคราวก่อน เพื่อที่จะเป็นทางเลือกที่ดี สำหรับใช้เป็นที่พักชั่วคราวในระหว่างที่ยังไม่สามารถหางานได้

เนื่องจากในพื้นที่หัวลำโพง มีห้องน้ำ ที่อาบน้ำ ไฟฟ้าสว่าง คนพลุกพล่าน ทำให้รู้สึกปลอดภัยกว่าการไปนอนอยู่ตามป้ายรถเมล์ หรือริมถนน

ริมถนน

คำว่าบ้าน ตอนที่กลายมาเป็นคนไร้บ้าน นี่มันไม่รู้จะพูดยังไงเลยนะ ยิ่งช่วงหน้าฝนที่ฝนตกหนัก ๆ หนาว ๆ คิดถึงบ้านมากเลยนะ

แต่มันไม่ใช่บ้านที่มีหลังคา ไม่ใช่แค่มีคนอยู่นะ แต่มันอยากให้มีคนเข้าใจเราด้วย

คือถ้ากลับไปแล้วเจอสภาพเดิม ๆ ลูกชายกินเหล้าเมาด่าลูกสะใภ้ เรื่องหนี้ค่าไพ่ที่ไปติดเค้าเจ้ามือไว้, บ้านข้าง ๆ เมายาโวย ทุบสังกะสี ทุบทีวี

ก็ไม่ต่างอะไรกับมานอนข้างถนนนี่ล่ะ แต่อย่างน้อย มันก็ยังพอมีคนเหมือน ๆ กัน คุยกันรู้เรื่องบ้างก็ยังดี

– คนไร้บ้าน 4 –

ส่งท้าย :

บทความนี้จึงเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่เรื่องราวของคนไร้บ้าน ที่พบเห็นได้อยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ มีหลากหลายเรื่องราวของปมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ยึดโยงกับสภาพปัญหาเศษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก

หลายคน หลายปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคนชายขอบในเมืองที่แสงไฟไม่เคยดับ รอวันที่ไฟจะส่องมาถึงให้คนมองเห็นปัญหาเหล่านั้น


ข้อมูล

  • ดั่งสวรรค์ปานอเวจี: การสร้างโลกแฟนตาซีของคนสนามหลวง, อรอนงค์ กลิ่นศิริ
  • คนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย, วช.
  • แนวทางการให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง, กมธ. พม.