นางกวัก เป็นเครื่องรางของขลังที่นิยมในหมู่พ่อค้าแม่ค้า ด้วยพุทธคุณเด่นด้านกวักโชคกวักลาภ กวักเงิน กวักทอง เรียกเงินเรียกทองให้ไหลมาเทมา เป็นมหาเสน่ห์ใครเห็นใครรัก เมตตามหานิยม ทำให้ค้าขายดี ค้าขายเจริญรุ่งเรือง MTHAI จึงขอแชร์ คาถาบูชานางกวัก สวดทุกเช้า เรียกขวัญกำลังใจ ทำมาค้าคล่อง เรียกเมตตามหานิยมให้พ่อค้าแม่ขายได้กำไรงอกงาม ลาภผลงอกเงยกันถ้วนหน้า พร้อมประวัติศาสตร์ที่มาของนางกวัก พบครั้งแรกในยุคไหน เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ติดตามคาถามูพร้อมติดจรวดความรู้กันค่ะ
คาถาบูชานางกวัก
โอมปู่เจ้าเขาเขียวมีลูกสาวคนเดียวชื่อนางกวัก
หญิงเห็นหญิงทัก ชายเห็นชายรักทุกถ้วนหน้า
พวกพ่อค้าพาณิชย์ พากูไปค้าถึงเมืองแมน
กูจะค้าหัวแหวนก็ได้วันละแสนทะนาน
กูจักค้าสารพัดการก็ได้โดยคล่อง
กูจักค้าทอง ทองก็เต็มหาบ
เป็นร้อยสามหาบมาเรือน สามเดือนเป็นเศรษฐี
สามปีเป็นพ่อค้าสำเภา
พระฤาษีผู้เป็นเจ้าประสิทธิให้ลูกคนเดียว
เอหิ จิตตัง ปิยัง มะมะ มามา มหาลาภาภะวันตุเม
โชคลาภเงินทอง อันอยู่ จตุทิศา อัฏฐะทิศา ไหลมาเทมา
สมาทิมา เอหิมามา สัพเพชะนา พหูชะนา
คาถาบูชานางกวักอย่างย่อ
เอหิ จิตตัง มหาลาภัง ปิยัง มะมะ มามา
เครื่องบูชานางกวัก
- ดอกไม้ ธูป เทียน
- น้ำแดง
- น้ำเปล่า (ถวายทุกวัน อย่าให้ขาด)
- เครื่องประดับ
ความเป็นมาของ นางกวัก
นางกวัก เป็นความเชื่อตามศาสนาผี เป็นคติการนับถือผีผู้หญิงในแบบไทย อย่างเช่น การนับถือพระแม่ธรณี พระแม่โพสพ แม่นาค ฯลฯ โดยพบหลักฐานรูปหล่อปั้นนางกวักครั้งแรกในสมัยยุคกรุงศรีอยุธยา โดยมากพบเป็นขนาดบูชา สร้างจากเนื้อโลหะ, ดินเผา หรือสลักจากไม้ ก่อนพัฒนามาเป็นของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างแพร่หลายที่เรานิยมบูชากันตามแผงร้านค้าในสมัยสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งราชวงศ์จักรี เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสยามเฟื่องฟู มีกิจการร้านค้าในกรุงเทพมหานครและตามหัวเมืองใหญ่ ๆ มากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งตรงกับการเกิดขึ้นของ แมวกวัก ในประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2395 อันตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังรุ่งเรืองเช่นกัน
นางกวักตามคติไทยมีลักษณะเป็นรูปหญิงสวมเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอย่างไทยคือไว้ผมปีกหรือดอกกระทุ่ม ห่มผ้าแถบ นุ่งโจงกระเบน นั่งพับเพียบ มือซ้ายวางลงแตะข้างลำตัวหรือวางบนตัก หรืออาจถือถุงเงินที่มีการจดจารคาถาหัวใจพระสีวลี (อริยสงฆ์ผู้เป็นเลิศด้านโชคลาภ) “นะ ชา ลี ติ” ส่วนมือขวายกขึ้นระดับไหล่ทำท่ากวักมือหรือเรียกเข้ามาหา ซึ่งมือขวาที่ยกนั้นหากอยู่สูงกว่าปากมีความหมายว่า “กินไม่หมด” ถ้าหากต่ำกว่าปากจะมีความหมายว่า “กินไม่พอ”
ในอดีตมักทำนางกวักให้มีขนาดเล็กสำหรับซุกตามแผง จะได้ไม่เกะกะหน้าร้านแต่ปัจจุบันได้พัฒนาให้นางกวักมีทรวดทรงหรือท่าทางที่ต่างไปจากเดิม เช่น แต่งกายสวยงามอย่างนางละคร, มีรูปพรรณอวบอ้วน, ยกมือกวักทั้งสองข้าง หรือการเพิ่มมือกวักให้มีจำนวนมากขึ้น,สะพายกระเป๋าแบรนด์เนม หรือสวมแว่นตากันแดด เป็นต้น
วิธีการทำนางกวัก
สมัยโบราณนิยมทำนางกวักด้วยงาช้าง ไม้จันทร์หอม หรือแก่นว่านตระกูลเสน่ห์ทั้งหลายเช่น เสน่ห์จันทร์ขาว เสน่ห์จันทร์แดง เสน่ห์จันทร์เขียว เสน่ห์จันทร์หอม หรือไม้มงคลต่างๆ จากนั้นำมาแกะสลัก แล้วลงอักขระขอมหัวใจพระสีวลีผู้เป็นเอตทัคคะทางด้านโชคลาภ คือ “นะ ชา ลี ติ” หรือคาถาอื่นๆจากนั้น บริกรรมปลุกเสกอธิษฐานจิตเสร็จแล้วนำไปบูชาที่ร้านค้าได้
ว่านนางกวัก ไม้มงคล
จากชื่อนางกวักนี้ได้ไปพ้องกับว่านชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “ว่านนางกวัก” มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกมีดอกสีขาว มีหัวใต้ดิน นิยมปลูกไว้ในบ้านโดยมีความเชื่อว่าว่านชนิดนี้จะนำโชคลาภมาให้แก่เจ้าของบ้าน ซึ่งหากไม่สะดวกบูชานางกวัก แนะนำให้ปลูกว่านนางกวักไว้ประดับบ้านก็เป็นมงคล สวยงาม และมีประโยชน์มากมายค่ะ
การบูชาเครื่องรางของขลังเป็นการเพิ่มพูนขวัญและกำลังใจอย่างหนึ่ง จิตมุ่งไปยังเป้าหมาย ให้มีมานะฮึดสู้ ขยันทำมาหากินในการประกอบสัมมาอาชีพ หากใครทำได้เช่นนี้ ผู้นั้นย่อมไม่มีวันอด
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นางกวัก! กับเคล็ด(ไม่)ลับ บูชาอย่างไรให้ค้าขายร่ำรวย ?
รวมเด็ด 3 คาถาบูชานางกวัก เสริมมงคลค้าขายร่ำรวย
14 ฮวงจุ้ยร้านค้า พึงระวัง! ค้าขายคล่องหรืออับโชคขึ้นอยู่กับสิ่งนี้