คเณศจตุรถี บูชาองค์พระพิฆเนศ พระพิฆเนศ

ขั้นตอนการ บูชาองค์พระพิฆเนศ เองที่บ้าน ในเทศกาลคเณศจตุรถี

เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว การบูชาองค์พระพิฆเนศหรือแม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าพิธีกรรม พิธีการ นั้นก็คือ การบูชาด้วยเจตจำนงและจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์

Home / พระพิฆเนศ, พิธีกรรม / ขั้นตอนการ บูชาองค์พระพิฆเนศ เองที่บ้าน ในเทศกาลคเณศจตุรถี

เทศกาลคเณศจตุรถี ถือเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผู้ที่ศรัทธาองค์พระพิฆเนศทั่วโลก มักจะทำพิธี บูชาองค์พระพิฆเนศ เพื่อเป็นการฉลองให้กับวันคล้ายวันเกิดขององค์พระพิฆเนศซึ่งตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 10 ในเดือนภัทรปท โดยในปี 2566 นี้ตรงกับวันอังคารที่ 19 กันยายน 2566 สำหรับเหล่าสาวกผู้นับถือเทพสายฮินดู ผู้ศรัทธาองค์พระพิฆเนศนั้นมีความเชื่อว่า วันนี้เป็นวันที่พระองค์จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์เพื่อประทานพรและรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ที่ศรัทธาและบูชาพระองค์ในแต่ละครั้งกินเวลานานถึง 21 วัน

และเพื่อให้สะดวกต่อการบูชาได้อย่างถูกวิธี ตามปกติในเทศกาลแบบนี้ปอนด์มักจะแนะนำให้ผู้ที่ศรัทธาเดินทางไปร่วมพิธีตามเทวาลัย, วัดแขก สีลม, วัดวิษณุ, วัดเทพมนเฑียร หรือสถานที่ใกล้เคียงที่จัดงาน แต่ถ้าเราไม่สะดวกไปที่ไหนก็สามารถแสดงออกซึ่งความเคารพศรัทธาองค์พ่อด้วยการจัดพิธีต้อนรับบูชาขอพรพระองค์เองได้ง่ายๆ ที่บ้านดังนี้

ขั้นตอนการ บูชาองค์พระพิฆเนศ เองที่บ้าน

บูชาองค์พระพิฆเนศ

1.จัดเตรียมของบูชาและเครื่องสังเวย

1.1จัดเตรียมเทวรูปและหิ้งบูชา

  • ทำความสะอาดห้องบูชา หิ้งบูชาให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อต้อนรับการมาเยือนของพระองค์ เพื่อเป็นการให้เกียรติ ซึ่งกระทำเปรียบเสมือนการต้อนรับแขก ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรัก ที่จะมาเยี่ยมบ้านเรา
  • เตรียมที่ประทับองค์ประธาน อาจเป็นแท่นบูชา ตั่งตัวน้อยๆ ผ้าปู หรือ โตก พาน เท่าที่จะสะดวกหาได้ (แนะนำเพื่อความสวยงาม เลือกขนาดให้เหมาะสมและมีพื้นที่พอต่อองค์บูชาที่เราจะเตรียมนำมาประทับและยังมีพื้นที่รอบๆ ว่างพอที่จะวางถวายบริวาร คือ หนูมุสิกะ) และโต๊ะแยกถวายของบูชา และตกแต่งหิ้งบูชาตามที่พอใจ

    ส่วนโต๊ะสรงสนานและถวายของบูชานั้น เราสามารถปูผ้าสีแดงหรือสีส้มก็ได้
  • จัดเตรียมองค์พระพิฆเนศที่เราสามารถนำท่านมาสรงสนาน (อาบน้ำ) ทำความสะอาดได้โดยที่องค์ท่านจะไม่ชำรุด ผุกร่อน เสียหายแนะนำเป็นเนื้อหิน โลหะ และไม่ควรนำองค์ที่ตกแต่งด้วยเพชร พลอย ปิดทอง เลือกองค์ที่มีขนาดพอดีๆ ไม่ใหญ่มาก เพื่อที่เราจะได้อุ้มท่านได้สะดวก และชาวฮินดูมักจะนิยมเลือกปางที่พระองค์ทรงนั่ง เพราะชาวฮินดูเชื่อว่าท่านจะเสด็จมาประทับถึง 10 วันหากยืนนานเกรงว่าจะเมื่อย แต่ถ้าใครมีองค์ยืนก็ใช้ได้ไม่ผิดค่ะ
  • จัดเตรียมของตกแต่ง เครื่องประดับต่างๆ เช่น ผ้าโพก สร้อย กำไล เอาเท่าที่เราพอจัดเตรียมได้ เพื่อไว้ประดับตกแต่งเป็นกรฉลองให้พระองค์พร้อมทั้งบริวาร หนูมุสิกะ 1-2 คู่

1.2 จัดเตรียมของถวายและเครื่องสังเวย ได้แก่

  1. ปัญโจปจาระ บูชาทั้ง 5 ประกอบด้วย
    เครื่องหอม : ผงซินดูร์ (สีส้ม) ,ผงกุมกุม (สีแดง)
    ดอกไม้ : เน้นดอกไม้สีสด เช่น ชบา ดาวเรือง กุหลาบ หรือ พวงมาลัยก็ได้ และควรมีหญ้าแพรก(ทูรวา)ด้วย
    ธูป : ธูป 3 ดอก หรือ กำยาน 1 อัน (เลือกแค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ)
    ประทีป : เทียน 1-2 เล่ม
    อาหารและน้ำ :
ของไหว้
  • ผลไม้
    จะกี่อย่างก็ได้ แต่ที่นิยมคือ 3,5,9 ชนิด แนะนำผลไม้ชื่อเป็นมงคล ได้แก่ องุ่น กล้วย อ้อยควั่นชิ้นเล็กๆ มะพร้าวอ่อน สัปปะรด เคล็ดเพิ่มเติมคือเป็นผลไม้ที่สุกหรือพร้อมทานได้เลย

    ควรหลีกเลี่ยงชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ระกำ มังคุดและผลไม้มีหนาม เช่น ทุเรียน
  • น้ำเปล่า 1 แก้ว ใส่แก้วใส
  • นมโคจืดหรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ 1 แก้ว/กล่อง
ขนมโมทกะ ลาดู
  • ขนมหวาน เช่น โมทกะและลาดู หรือขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์และไข่

    2. ของถวายเพิ่มเติมอย่าง
  • ข้าวมงคล 9 สี ธัญพืชมงคล 9 ชนิด เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต (แบบแยกชนิด)

3.น้ำปัญจอมฤต ทั้ง 5 คือ น้ำบริสุทธิ์ประกอบด้วย
3.1)น้ำเปล่าหรือน้ำสะอาดหรือน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทราย
3.2)นมโคจืดไม่ปรุงแต่ง
3.3)น้ำเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติ
3.4)น้ำมันเนย(เนยกีร์)
3.5)น้ำผึ้ง
หรือถ้าจัดหาไม่ได้จะใช้แค่นมโคจืดอย่างเดียวก็ได้ พร้อมเตรียมถาด 1 ใบเพื่อไว้รองเวลานำพระพิฆเนศสรงสนาน

4.อุปกรณ์สำหรับอารตีไฟ โดยจะใช้เป็นตะเกียงอารตีจุดกับการบูรหรือใช้เป็นตะเกียงน้ำมัน หรือถ้าทำง่ายๆ โดยเอาถาดกลมมาวางประทีปหรือเทียนลงไป

***สิ่งของที่เตรียมเอาเท่าที่ทำได้ เอาที่ง่าย สะดวก ไม่ลำบากเกินไป เพราะ พระองค์ท่านคงไม่ปรารถนาที่จะเห็นเราลำบาก หรือ เครียดทุกข์ใจในการหาของมาถวายพระองค์แต่เน้นขอให้มีความสุขในการทำดีกว่า

2.ชำระร่างกาย
ด้วยการอาบน้ำ ล้างมือ ล้างเท้า ให้สะอาดก่อนสักการะบูชาองค์พ่อหรือถ้าใครทำได้ก็แนะนำให้รับประทานมังสวิรัติ ล่วงหน้าสัก 1- 3 วันเพื่อเป็นการชำระร่างกายให้บริสุทธิ์เพื่อพร้อมต่อการสักการะพระองค์ และเป็นการสร้างมหากุศลด้วยการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

3. เตรียมจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์
อาจจะด้วยการทำสมาธิสัก 5-10 นาที หรือท่อง “โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา” ไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าจิตใจของท่านสงบ

4. ขั้นตอนการสรงสนาน

  • เอาถาดที่เตรียมไว้ออกมาเพื่อใช้รองในการสรงสนาน
  • นำพระพิฆเนศที่เตรียมไว้มาประทับตรงกลางถาด
  • นำแท่นบูชา เช่น โตก พาน ที่เตรียมเอาไว้มาวางไว้รอเพื่อเตรียมนำพระองค์ขึ้นประทับหลังสรงสนาน
  • ทำการสรงสนานพระองค์ โดยสวด “บทอถรวศิรษะ” มีความเชื่อว่าผู้ใดท่องบทสวดอถรวะศิรษะในระหว่างที่สรงสนานพระองค์ด้วย น้ำ น้ำนม น้ำอ้อย จะกลายเป็นผู้เป็นเลิศในการปราศรัย
  • การสรงสนานจะไล่ลำดับ เริ่มจาก น้ำเปล่าหรือน้ำอ้อย, นมโค, นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต, น้ำผึ้ง และน้ำมันเนย
  • ตอนสรงสนานและสวดบทอถรวะศิรษะนั้น ก็ให้อธิษฐานในใจด้วยว่า ข้าพเจ้าขอน้อมนำถวาย….สิ่งที่กำลังสรงสนาน (น้ำเปล่าหรือน้ำอ้อย ,นมโค ,นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต,น้ำผึ้ง,น้ำมันเนย หรือ นมโคอย่างเดียวก็ได้และจึงตามด้วยน้ำสะอาด)

***บทอถรวะศิรษะเป็นบทที่ค่อนข้างยาว ถ้าท่านสวดไม่ได้แนะนำให้เปิด YouTube เอาก็ได้นะคะ

5.นำผงศักดิ์สิทธิ์มาใช้ในการเจิมและทำความสะอาดพระองค์
โดยชโลมผงกุมกุมหรือผงศักดิ์สิทธิ์ที่เตรียมไว้ให้ทั่วองค์ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามเทวสถานหรือวัดแขกหรือสั่งซื้อออนไลน์ก็ได้ เสร็จแล้วล้างพระองค์ให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า โดยต้องทำความสะอาดพระองค์ให้เกลี้ยง อย่าให้ความหวานจากน้ำปัญจอมฤตหรืออื่นๆ ไปตกค้าง

6.อัญเชิญพระองค์ขึ้นยังที่ประดิษฐานที่จัดเตรียมไว้ให้ โดยกล่าวว่า “ขอเชิญองค์พระพิฆเนศขึ้นประทับยังแท่นประทับที่ข้าพเจ้าได้จัดเตรียมไว้ให้พระองค์”

7.เจิมดิลก
คือ การเจิมพระองค์นั้นเอง เพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคล โดยให้นำผงเจิมใส่น้ำมันเนยไปหน่อยให้มีความเหนียวสักเล็กน้อย ในขณะเจิมไปยังพระพักตร์ของพระองค์ให้ตั้งจิตอธิษฐานให้ดี หลังจากเจิมพระองค์เสร็จ ก็ให้กลับมาเจิมที่หน้าผากของตนเองเพื่อเป็นการขอพรให้เกิดศิริมงคลกับชีวิต

หนูมุสิกะ

8.ถวายชุดฉลองพระองค์
เครื่องฉลองพระองค์ ทั้ง ผ้าโพก สร้อย กำไล รวมไปถึงบริวารของพระองค์คือ หนูมุสิกะ โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอน้อมนำถวายเครื่องแต่งองค์ที่จัดเตรียมไว้นี้แด่พระองค์ ” แล้วก็จัดการตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องแต่งองค์ต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ได้เลย

9.ถวายเครื่องปัญโจปาจาระทั้ง 5 แด่องค์พระพิฆเนศ
โดยไล่ลำดับจาก อาหาร (ผลไม้) , ขนมลาดู-โมทกะ, น้ำเปล่าใส่แก้วใส,นมโคใส่แก้วใส,ดอกไม้,ประทีป(เทียน),ธูปหรือกำยานก็ได้และของถวายเพิ่มเติมต่างๆ เช่น ข้าว 9 สี

10.สวดบูชาถวายพระองค์
จะด้วยบทใดก็ได้ เช่น “โอม ศรีคเณศายะ นะมะฮา” จำนวน 3,9,108 จบ หรือใช้ บทสวดสรรเสริญพระพิฆเนศ 32 ปาง หรือ สวดบท 108 พระนาม แล้วโปรยดอกไม้ไปที่พระบาตร (เท้า) ของพระองค์ไปด้วย จากนั้นขอพรพระองค์ ด้วยการถวายความเคารพ รัก ศรัทธา อันแสดงออกมาด้วยใจแล้วจึงสวดบทบูชา “โอม ศรีคเณศายะ นะมะฮา” 3 จบ แล้วกล่าวขอพรเช่น ข้าพเจ้าชื่อ… เกิดวันที่….อยู่บ้านเลขที่(ที่อยู่)….แล้วขอพรตามที่ปรารถนา โดยแนะนำให้ระบุแสดงเจตจำนงต่างๆ ให้ชัดเจน

แล้วเมื่อกล่าวขอพรจบให้พูดว่า “โอม…ศานติ…ศานติ…ศานติ” แล้วตามด้วยการกล่าวสรรเสริญพระองค์ “มังคลา มูรติ โมรยา”,”คณปติ ปัปป้า โมรยา” เป็นการปิดท้าย

อารตีไฟ

11.บูชาด้วยการอารตีไฟ
ตามคัมภีร์ฤคเวทย์แล้วเมื่อทำพิธีกรรมใดๆ ก็ตามเสร็จสิ้นต้องทำการอารตีไฟ มิฉะนั้นจะถือว่า การทำพิธีกรรมหรือบวงสรวงนั้นๆ ไม่สัมฤทธิ์ผล

ส่วนในกรณีที่มีเทพองค์อื่นๆ ให้ทำการอารตีด้วยการเริ่มต้นจากองค์พระพิฆเนศก่อน โดยเราจะใช้ถาดที่ใส่ประทีป หรือ ตะเกียงอารตีไฟ แล้วควงหรือแกว่งประทีปโดยจะวน เป็นทักษิณาวัตร (วนขวา) ตามเข็มนาฬิกา โดยไล่จาก พระบาตร(เท้า),พระอุระ(ท้อง)และไปที่พระพักตร์ (ใบหน้า) ของพระองค์ โดยจะวน 3 หรือ 9 รอบก็ได้

โดยระหว่างการวนประทีปนั้นให้ท่องคำว่า ” โอม… โอม ศรีคเณศายะ นะมะฮา ” หรือบทอารตีไฟไปด้วย ในระหว่างนั้นถ้ามีกระดิ่ง ก็ให้สั่นกระดิ่งไปด้วย โดยมีความเชื่อว่า เทวดาในกระดิ่งจะนำคำอธิษฐานของเราไปสู่เทพเจ้า และถือว่าเสียงของกระดิ่งจะขับไล่สิ่งชั่วร้าย สิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไป และถ้ามีสังข์ก็ให้เป่าไปด้วย

เมื่ออารตีจบเราจะกวักไฟเทวะ โดยเราจะทำการกวักไฟไปองค์พระพิฆเนศก่อน 3 ครั้ง แล้วเราก็วางตะเกียงอารตีหรือวางถาดประทีป แล้วก็กวักไฟเข้าตัวเอง 5 ที โดยครั้งแรกให้กวักไปที่หน้าผาก ลูบไปที่ศีรษะ ครั้งที่ 2 กวักไปที่ตาทั้ง 2 และที่ใบหน้าของเรา ครั้งที่ 3 คือกวักไปที่หู 2 ข้างของเรา ครั้งที่ 4 ให้กวักไปที่ปาก และครั้งที่ 5 ให้กวักไปที่ใจ

เมื่อทำครบแล้วเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธีค่ะ สำหรับการต้อนรับและบูชาพระพิฆเนศในเทศกาลจตุรถี

***โดยขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ อาจแตกต่างหรือเหมือนกันบ้าง แล้วแต่ทำเนียมการปฎิบัติบนความเข้าใจของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆ ไม่ถือว่ามีใครผิดหรือถูกกว่ากันนะคะ

เพราะเหนือสิ่งอื่นใดแล้ว การบูชาองค์พระพิฆเนศหรือแม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าพิธีกรรม พิธีการ นั้นก็คือ การบูชาด้วยเจตจำนงและจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์ดังนั้นเพียงเรา คิดดี พูดดี ทำดี และเตรียมกาย ใจให้สะอาดก่อนถวายความเคารพ

บทความโดย อ.ปอนด์ โหรามหาเวทย์

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สายมูเตรียมตัว! เทศกาลคเณศจตุรถี ขอพรพระพิฆเนศ 19-28 ก.ย.นี้

บทสวดอารตี บูชาไฟ พระพิฆเนศ สรรเสริญบูชาองค์คเณศวร (ฉบับเต็ม)

อารตีไฟ ขั้นตอนการทำ พิธีบูชาไฟ องค์เทพฮินดู โดยละเอียด