ผ้าอาบน้ำฝน คือ ผ้าที่พระสงฆ์ใช้ผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำ มีคติเหมือนผ้าขาวม้า เรียกตามคำวัดว่า ผ้าวัสสิกสาฎก (ผ้าอาบ) เป็นผ้าที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ได้เป็นผืนที่ 4 นอกเหนือจากไตรจีวรและทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายได้ก่อนเข้าพรรษา 1 เดือน ที่เรียกว่าผ้าอาบน้ำฝนเพราะเป็นผ้าที่ถวายกันในต้นฤดูฝน ใช้สำหรับสงฆ์นุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรืออาบน้ำทั่วไป การ ถวายผ้าอาบน้ำฝน ให้พระภิกษุนั้น เป็นประเพณีสำคัญอีกประการในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้ท่านได้ใช้สำหรับอาบน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งจัดเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมามีเพียงปีละครั้งก่อนเข้าพรรษา คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 7 เป็นต้อนไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 โดยจะเลือกช่วงเวลาไหน วันใด ก็ได้ในช่วงเวลานี้
ซึ่งขนาดของผ้าอาบน้ำฝนนั้น กำหนดมาตรฐานไว้ว่าต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยประมาณที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ คือ เป็นผ้าผืนยาว 6 คืบ พระสุคตกว้าง 2 คืบครึ่ง คิดโดยประมาณของช่างไม้ปัจจุบันยาวรวม 4 ศอก กับ 3 กระเบียด กว้างศอกคืบ 4 นิ้ว 1 กระเบียด กับ 2 อนุกระเบียด ถ้าทำให้ยาวหรือกว้างเกินประมาณนี้ไป พระภิกษุใช้สอยต้องอาบัติ ต้องตัดส่วนที่กว้างหรือยาวเกินประมาณนั้นออกเสีย จึงแสดงอาบัติได้
กำเนิดประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน
ในสมัยพุทธกาล มีธิดาเศรษฐีแห่งเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ นามว่า นางวิสาขา บุตรสาวของท่านธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนาเทวี ผู้มีจิตเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ขณะอายุได้เพียง 7 ขวบ นางได้มีโอกาสฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นปู่ ก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน (โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสพระธรรม ผู้แรกบรรลุถึงกระแสพระธรรม คือ การบรรลุโสดาบัน) และเมื่อเติบใหญ่ได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถีและย้ายมาอยู่ตระกูลสามี
วันหนึ่งนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ให้สาวใช้นำภัตตาหารมาถวายพระสงฆ์ยังพระเชตวัน เมื่อสาวใช้มาถึงก็ร้องอุทานว่า “พุทธบุตรหายไปไหนหมด มีแต่อาชีวก (นักบวชชีเปลือย) อยู่เต็มไปหมด” นางรีบกลับไปแจ้งนางวิสาขาผู้เป็นนายทันที ด้วยปัญญาแห่งนางผู้เป็นพระโสดาบันตั้งแต่ 7 ขวบ จึงทราบว่าอาชีวกที่สาวใช้เห็นนั้นคือพระภิกษุสงฆ์ที่พากันปลดจีวร เพื่ออาบน้ำฝนตามพุทธโองการของพระผู้มีพระภาคเจ้า และด้วยความที่นางเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน เป็นมหาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์จึงทราบเหตุการณ์โดยตลอดว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอยเพียง 3 ผืน คือ ไตรจีวร ได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) และ สังฆาฎิ (ผ้าห่มซ้อน นอกใช้เวลาอากาศหนาว) ดังนั้น เมื่อเวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำ
นางวิสาขาจึงอาศัยเหตุนี้เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้ว นางวิสาขาจึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น นางวิสาขาจึงเป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์จนเกิดประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พิธีการและขั้นตอนการ ถวายผ้าอาบน้ำฝน
- นำผ้าอาบน้ำฝน 1 ผู้นำและของถวายอย่างอื่นเป็นบริวาร เช่น ร่ม พุ่มเทียน ไม้ขีด สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ ฯลฯ
- เมื่อพระสงฆ์ลงประชุมเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นหัวหน้ากล่าวคำถวายผ้าอาบน้ำฝน
- เมื่อกล่าวคำถวายผ้าอาบน้ำฝนเสร็จแล้ว เจ้าของผ้าประเคนผ้าแก่พระภิกษุผู้จับได้ฉลากของตนเป็นราย ๆ ต่อไป
- เสร็จการประเมินแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา ทายกกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว
อานิสงส์ของการถวายผ้าอาบน้ำฝน
การ ถวายผ้าอาบน้ำฝน นั้นเชื่อกันมานานว่า ผู้ใดที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้กับพระภิกษุสงฆ์ จะถือว่าเป็นการทำบุญที่ช่วยทำนุบำรุงและสนับสนุนพระศาสนาให้คงอยู่สืบไป และเพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องลำบากในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน แต่จะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาและช่วยเผยแผ่ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป และผู้ทื่ได้บริจาคผ้าอาบน้ำฝน ก็จะได้พบแต่ความสุขความเจริญ จะมั่งมีด้วยทรัพย์สินเงินทองและบริวารมากมาย