กระยาสารท ตานก๋วยสลาก วันสารทไทย

วันสารทไทย แต่ละภาคเรียกว่าอะไร มีความสำคัญอย่างไร

แม้ในปัจจุบันประเพณีวันสารทไทยอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของคนไทยที่อยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันสืบต่อกันไปให้อยู่คู่เมืองสยามเราไปนานๆ

Home / พิธีกรรม / วันสารทไทย แต่ละภาคเรียกว่าอะไร มีความสำคัญอย่างไร

วันสารทไทย หนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่ชาวไทยปฏิบัติยึดถือสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยตำนานความเป็นมามีมาอย่างไร มีความสำคัญตรงไหน แต่ละภูมิภาคของประเทศไทยปฏิบัติกันยังไง MThai จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกันตามนี้

วันสารทไทย

วันสารทไทยได้รับอิทธิพลมาจากคติอินเดีย เมื่อไทยรับเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีความยึดโยงกับความเชื่อเรื่องสังคมเกษตรกรรมและบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าการทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ จะช่วยดลบันดาลให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตที่พอใจ

ซึ่งหลังจากที่รับประเพณีสารทนี้เข้ามา ด้วยภูมิภาคที่ต่างกันของประเทศไทยและอินเดีย คนไทยจึงดัดแปลงด้วยการนำข้าวสารเก่า ผสมกับถั่วและงา เพื่อใช้ทำขนมกระยาสารท สำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา และผีสาง ที่คอยปกป้องคุ้มครองแทน ต่อมาเมื่อคนไทยหันมานับถือศาสนาพุทธ จึงนิยมทำบุญกับพระสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษอีกด้วย

วันสารทไทยทำไมต้องมี ?

  • เป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมกับทำบุญให้กับพวกท่านและเป็นการรวมญาติไปในตัว
  • เป็นการแบ่งปันแสดงน้ำใจ เนื่องจากในเทศกาลนี้ผู้คนมักจะนิยมนำขนมกระยาสารท หรือขนมตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ไปมอบให้แก่กัน เป็นการเชื่อมโยงชุมชน ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นรู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น
  • เป็นการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองให้พืชผลการเกษตรได้ผลดี
  • เป็นการเอื้อเฟื้อให้ทาน ทำนุบำรุงศาสนาและประเพณีให้มีสืบไป

ประเพณีวันสารทไทยในแต่ละภาค

เนื่องจากวันสารทไทยในแต่ละภาคก็มีธรรมเนียม และชื่อเรียกที่แตกต่างกัน MThai จึงอยากพาทุกท่านมาเรียนรู้ประเพณีของแต่ละภาคตามนี้

ทำบุญเดือนสิบ

ภาคกลาง

ประเพณีวันสารทไทยถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหาร ไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีลฟังธรรมเทศนา

ภาคเหนือ

พิธีสารทไทยในภาคเหนือ มีชื่อเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หรือ ทานสลากภัต (ชื่อในภาคกลาง) และมีชื่ออื่น ๆ อีกตามแต่ในท้องถิ่น เช่น ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก, กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก คำว่า “ก๋วย” แปลว่า “ตะกร้า”หรือ “ชะลอม” ส่วน “สลากภัต” หมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน

ภาคใต้

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว ในเดือน 10 เป็น 2 วาระ คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ครั้งหนึ่ง และวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ดังนั้น จึงมีการทำบุญใน 2 วาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เพราะมีความสำคัญมากกว่า

ภาคอีสาน

มีการทำบุญเดือน 10 ออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ก่อนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่าพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยเฉพาะข้าวสากที่จะมีการนำไปแบ่งปันแจกจ่ายส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก ระยะสองคือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลาเช้า ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัด อุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นช่วงเพลจะนิยมจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใดก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัต จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสาก ก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก

ถึงแม้ในปัจจุบันประเพณีสารทไทยอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีสำคัญของคนไทยที่อยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันสืบต่อกันไปให้อยู่คู่เมืองสยามเราไปนานๆ