พิธีโกนจุก พิธีโกนผมไฟ โกนจุก

พิธีโกนจุก ตำนานความเชื่อพิธีมงคลของคนโบราณ

การโกนจุก เปรียบเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่าได้ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การตัดจุก 3 ปอย หมายถึงการขัดเกลาและขจัดตัดทิ้งเสียซึ่งมูลกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง อันเป็นมารผลาญความสุขของมนุษย์

Home / พิธีกรรม / พิธีโกนจุก ตำนานความเชื่อพิธีมงคลของคนโบราณ

เด็กยุค 90 หลายคนคงเคยเห็นเพื่อนไว้จุก หรือเคยไว้จุกเองกันอยู่บ้าง แต่สำหรับคนไหนที่ยังคงสงสัยว่าไว้จุกทำไม พิธีโกนจุก คืออะไร MThai จะพาไปหาคำตอบเอง

ความเชื่อการไว้จุก

เด็ก

ในสมัยโบราณมีประเพณีนิยมให้เด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชายไว้ ผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ และผมเปีย กันแทบทั้งนั้น เพราะมีความเชื่อว่าเด็กเกิดมามีอายุได้ประมาณ 1 เดือน ก็จะโกนผมไฟทิ้ง แล้วเริ่มไว้จุกเพื่อความเป็นมงคลเพราะเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า การไว้ผมให้เด็กแบบดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่เจ็บ ไม่ป่วย เลี้ยงง่าย ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องขวัญ และเมื่อย่างเข้าสู่วัยแรกรุ่นเด็กผู้ชาย มีอายุประมาณ 13-15 ปี ส่วนเด็กผู้หญิง มีอายุ 11 ปี

พิธีโกนจุก

พิธีโกนจุก

เมื่อผ่านการไว้จุกมาจนถึงอายุครบกำหนด ถือว่าเป็นการก้าวเข้าสู่วัยรุ่น จึงต้องทำพิธีตัดผมนี้ทิ้งไป เรียกว่า พิธีมงคลโกนจุก ซึ่งสามารถทำรวมกับพิธีมงคลประเภทอื่นได้ เช่น งานบวช งานทำบุญวันเกิด หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ โดยพิธีที่ทำมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ บางรายก็จัดให้มีแต่พิธีสงฆ์อย่างเดียว และต้องทำตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้ ส่วนสถานที่ที่ทำพิธีนั้นมีทั้งที่บ้าน ที่วัด และที่โบสถ์พราหมณ์ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือหม้อน้ำมนต์ มีดโกน กรรไกรใส่พาน โดยเจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป หรือ 7 รูป มาร่วมพิธี ซึ่งงานจะมี 2 วันคือ สวดมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งเช้าทำพิธีตัดจุก

ขั้นตอนการโกนจุก

พิธีโกนจุกสายฟ้า

วันแรกช่วงเวลาเย็นในวันสุกดิบ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ โดยเจ้าภาพจะนำเด็กไปไว้ที่บ้านญาติ เพื่อโกนผมรอบจุกของเด็กแล้วแห่มาจนถึงบ้านของตนเอง เข้ามานั่งสวดมนต์โดยสวมมงคลลงยังผมจุกของเด็ก แล้วเอาสายสิญจน์มาคล้องศีรษะเด็ก จากนั้นหมอทำขวัญทำพิธีสู่ขวัญเด็ก หลังเสร็จพิธีพิณพาทย์ประโคม ลั่นฆ้องและโห่ร้องเอาชัย จากนั้นให้เด็กเปลี่ยนชุดแต่งกายเป็นธรรมดาเป็นอันเสร็จพิธีสำหรับวันแรก ในช่วงกลางคืนอาจมีมหรสพสมโภชและกินเลี้ยงฉลองกัน

สายฟ้า

เช้าวันที่สอง เป็นขั้นตอนการเลี้ยงพระ เด็กจะต้องนุ่งขาวห่มขาว แบ่งผมจุกเด็กออกเป็น 3 ปอย นำสายสิญจน์ผูกปลายผมกับแหวนนพเก้าและใบมะตูมทั้งสามปอย ปอยละ 1 วง เอาใบเงินใบทองแซมไว้ที่ผม และเอาหญ้าแพรกขมวดเป็นแหวนหัวพิรอดสวมครอบจุกไว้ จากนั้นนำเด็กออกจากพิธี ชาวบ้านที่มาร่วมงานร่วมกันทำบุญตักบาตร นำอาหารถวายพระ เมื่อพระฉันเสร็จและได้เวลาฤกษ์ก็ลั่นฆ้องชัย เจ้าภาพของเด็กเชิญประธานมาตัดจุก พราหมณ์ส่งสังข์ให้รดน้ำศีรษะเด็กและส่งกรรไกรตัดผมออกจุกหนึ่ง แล้วเอา มีดเงิน ทอง นาก โกนเล่มละ 3 ที พอเป็นพิธี แล้วเชิญแขกตัดอีก 2 ปอย จากนั้นมอบให้ช่างโกนผมจนเสร็จ นำเด็กไปยังที่นั่งเบญจารดน้ำ แขกจะทยอยมาให้พรเด็ก เสร็จแล้วทัดใบมะตูมที่หูขวา จากนั้นนำเด็กไปเปลี่ยนชุดให้ทันก่อนพระฉันเพลเสร็จ เด็กถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เป็นอันจบพิธี ส่วนผมที่โกนจะนำไปใส่กระทงลอยน้ำอธิษฐานขอความก้าวหน้า

ความหมายแฝงของพิธีโกนจุก

การโกนจุก เปรียบเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจว่าได้ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การตัดจุก 3 ปอย หมายถึงการขัดเกลาและขจัดตัดทิ้งเสียซึ่งมูลกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง อันเป็นมารผลาญความสุขของมนุษย์

ถึงแม้พิธีโกนจุกในปัจจุบันจะหาดูได้ค่อนข้างยาก แต่หลายพื้นที่ตามต่างจังหวัดก็ยังคงรักษาประเพณีนี้กันไว้จากรุ่นสู่รุ่น หากใครมีโอกาสได้ไปดูอย่าลืมซึมซับบรรยากาศความมงคลนี้มาเผื่อกันด้วยนะ!

ภาพประกอบจาก chomismaterialgirl