โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตีบหรือตัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไขมันที่สะสมอยู่ในผนังของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแข็ง ในรายที่เป็นเรื้อรังหรือเกิดการร่อนหลุดของตะกรันไขมันที่เกิดใหม่มาอุดหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดยังเป็นปัญหาสำคัญในทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยที่ยังคงมีความเสี่ยง และครองแชมป์การเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก หนึ่งในโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้มากที่สุดในปัจจุบันคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ จากข้อมูลเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ที่ประมาณ 130 ล้านคน โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ข้อมูลโดยเฉลี่ยพบว่าผู้ชายเป็นโรคหัวใจอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านคน และผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านคน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 150 – 300 ต่อแสนประชากร ในปีพ.ศ.2561 พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 1,396.40 คนต่อแสนประชากร นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ที่ปีละประมาณ 300,000 – 350,000 แสนรายต่อปี เฉลี่ยนาทีละ 2 คน และนับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ1 ของประเทศไทยในปัจจุบัน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ มาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
1. ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ ได้แก่ พันธุกรรม มีประวัติครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ หรือญาติสายตรง มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 50 ปี อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน มีโอกาสเกิดหลอดเลือดแดงแข็งได้มากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงจะมีส่วนในการช่วยขยายเส้นเลือด หากหมดประจำเดือนหรือหมดฮอร์โมนเพศหญิงก็มีโอกาสทำให้เกิดความเสี่ยงได้
2.ปัจจัยที่แก้ไขได้และหรือควบคุมได้ ได้แก่ โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยย่อยที่มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ ความเครียด การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วน ไม่รับประทานผักและผลไม้ ซึ่งจะเห็นว่าความเสี่ยงเกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ดังนั้น การดูแลตัวเอง การควบคุม รวมถึงการป้องกันต้องดูให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งหมด
วิธีลดความเสี่ยง โรคหัวใจ จากคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คือ
1.หยุดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย สารพิษในควันบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง อาจส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหัวใจขาดเลือดได้ หยุดความเครียด เพราะความเครียดจะเข้าไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
2.คุมน้ำหนัก โรคอ้วนยังคงเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทย ยิ่งไปกว่านั้นคือส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา คุมเบาหวานและไขมันในเลือด คนที่เป็นโรคเบาหวาน หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดช้า ทำให้น้ำตาลและไขมันไปเกาะกับผนังหลอดเลือด เกิดการอักเสบได้ คุมความดัน เพราะความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคที่ทำให้เกิดผลแทรกซ้อนของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
3.เพิ่ม อาหารที่ดีต่อสุขภาพ ผักและผลไม้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมสัปดาห์ละ 150 นาที