โรคบิด (Dysentery) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ บิดชิเกลลา (Shigellosis) หรือบิดไม่มีตัว และบิดอะมีบา (Amebiasis) หรือบิดมีตัว ผู้ที่เป็นมักจะรู้สึไม่สบายท้อง หรือ ปวดท้องบิด อย่างรุนแรง
บิดชิเกลลา (Shigellosis) หรือบิดไม่มีตัว
เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีเชื้อ บิดชิเกลลา (Shigella) ซึ่งเป็นแบคทีเรีย เชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกายเพียงเล็กน้อย ประมาณ 200 – 1,000 ตัว ก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ซึ่งต่างจากเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น ๆ ที่ต้องใช้ปริมาณมากกว่า เชื้อแบ่งตัวและสามารถทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ เมื่อเซลล์ตายจะทำให้เกิดการอักเสบ เป็นหนองและเกิดแผลในลำไส้ โรคบิดมีระยะฟักตัว 1 – 7 วัน พบในคนทุกเพศทุกวัย และพบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ส่วนมากไม่มีอันตรายร้ายแรง อาการไข้จะหายเองภายใน 2 – 3 วัน และอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายได้เองภายใน 5 – 7 วัน (โดยไม่ได้กินยา) แต่บางคนอาจกลับเป็นใหม่ได้อีก ส่วนน้อยอาจมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กและคนสูงอายุ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจถึงตายได้
อาการของบิดไม่มีตัว
- ไม่มีอาการใดๆ เลย แต่จะรู้สึกไม่สบายท้อง เพราะมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในลำไส้
- มีอาการน้อย ถ่ายเหลวเป็นมูกเลือด และปวดบิดแต่ไม่มาก
- มีอาการรุนแรง ปวดท้องบิดอย่างรุนแรง มีไข้สูง อาเจียน ถ่ายมีมูกเลือดและหนองปน ถ่ายน้อยแต่บ่อยมาก ถ้าร่างกายอ่อนแอ อาจจะมีการช็อคได้
- โรคแทรกซ้อน เชื้อโรคเข้าไปยังกระแสเลือด ทำให้เลือดนั้นเป็นพิษ อาจช็อคจนเสียชีวิตได้ ลำไส้ใหญ่มีการอักเสบอย่างรุนแรง เกิดอาการเสียน้ำอย่างมากจนช็อคและเสียชีวิตได้
บิดอะมีบา (Amebiasis) หรือบิดมีตัว
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้ออะมีบา (Ameba) ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวหรือโปรโตซัว (protozoa) ทำให้เกิดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ เชื้อที่ทำให้เกิดโรคอะมีบา มีชื่อว่า เอนตามีบา ฮิสโตไลติคา (Entamoeba histolytica) ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ จึงเรียกบิดมีตัว พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในคนอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ระยะฟักตัว 1 สัปดาห์ – 3 เดือน (พบบ่อย 8-10 วัน) อาการเริ่มแรก ถ่ายอุจจาระเหลวมีเนื้ออุจจาระปน ปวดท้อง และปวดเบ่งที่ก้น ไม่มีไข้ ต่อมาจะถ่ายเป็นมูกเลือดทีละน้อย ไม่มีเนื้ออุจจาระปน แต่มีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ผู้ป่วยจะถ่ายกะปริดกะปรอยวันละหลายครั้ง บางคนอาจถึง 20 – 50 ครั้ง แต่จะไม่อ่อนเพลีย สามารถทำงานได้
อาการของบิดมีตัว
- ไม่มีอาการใดๆ เลย แต่จะรู้สึกไม่สบายท้อง ถ้าไปตรวจจะพบอะมีบาในอุจจาระ
- มีอาการชนิดเฉียบพลัน ปวดบิด ถ่ายอุจจาระเหลว อุจจาระมีกลิ่นคล้ายหัวกุ้งเน่า อาการไม่แรงเท่าบิดไม่มีตัว ถ้าผู้ป่วยต้านทานโรคได้น้อย อาจจะมีไข้สูงและถ่ายเป็นมูกเลือดมาก
- มีอาการชนิดเรื้อรัง เป็นผลจากบิดชนิดเฉียบพลัน แล้วรับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อะมีบาจึงตายไม่หมด ทำให้อาการไม่หายขาด และเป็นไปเรื่อยๆ
- โรคแทรกซ้อน ลำไส้เกิดการทะลุ เกิดแผลที่ลำไส้ใหญ่ เป็นฝีที่ตับ เพราะอะมีบาเข้าไปที่กระแสเลือดและไปยังตับอักเสบและเป็นฝี ฝีนี้อาจแตกทะลุไปยังปอด ทำให้เป็นฝีที่ปอดด้วย
การควบคุมและป้องกันโรค
1. การป้องกันก่อนการเกิดโรค โดย
- จัดหาน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดถูกหลักสุขาภิบาล ดื่มน้ำต้มสุก
- ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม
- กำจัดอุจจาระโดยการสร้างส้วมให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังออกจากส้วม
- ให้สุขศึกษาแก่ชุมชนเกี่ยวกับการสุขาภิบาลอาหาร สุขวิทยาส่วนบุคคล
2. การควบคุมและป้องกันเมื่อมีโรคเกิดขึ้นแล้ว โดย
- รายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคต่อไป
- ระมัดระวังการสัมผัสกับอุจจาระของผู้ป่วย ต้องทำลายเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค
- ปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อบิด และรักษาอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคเรื้อรังและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
- รับประทานอาหารอ่อนที่มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ
ขอบคุณที่มาจาก : สำนักงานระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข
วิกิพีเดีย / การควบคุมและป้องกันโรค สถาบันพลศึกษาวิทยาเขตสุพรรณบุรี