วิธีจัดการความเครียด สุขภาพจิต โควิด-19 ไวรัสโคโรน่า 2019

จิตแพทย์แนะ วิธีจัดการความเครียด…รับมือ Covid-19 ไม่ให้ป่วยใจ

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชนทุกคนล้วนมีความเครียดและความกังวลใจ มาดูสักนิดว่า เราจะช่วยกันรับมือ ดูแลจิตใจ และผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้อย่างไร การจัดการความเครียดเพื่อรับมือ COVID-19 อย่างถูกวิธีที่จิตแพทย์อยากแนะนำ วิธีจัดการความเครียด…รับมือ…

Home / HEALTH / จิตแพทย์แนะ วิธีจัดการความเครียด…รับมือ Covid-19 ไม่ให้ป่วยใจ

ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชนทุกคนล้วนมีความเครียดและความกังวลใจ มาดูสักนิดว่า เราจะช่วยกันรับมือ ดูแลจิตใจ และผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้อย่างไร การจัดการความเครียดเพื่อรับมือ COVID-19 อย่างถูกวิธีที่จิตแพทย์อยากแนะนำ

วิธีจัดการความเครียด…รับมือ Covid-19 ไม่ให้ป่วยใจ

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์​ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่าความเครียดเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เตรียมตัววางแผนและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพการที่เรารู้สึกเครียดกลัว วิตกกังวล เป็นสิ่งที่ดี เพราะเราจะได้ขวนขวายหาความรู้ หาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ให้มีการวางแผนและเตรียมการ รับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น

CDC สหรัฐฯ แนะนำลองสังเกตอาการของตัวเองในสถานการณ์ COVID-19 ว่ามีดังต่อไปนี้หรือไม่

  • อารมณ์แปรปรวน
  • กลัว เครียด กังวล
  • หงุดหงิดง่าย
  • นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทฝันร้ายต่อเนื่องเรื้อรัง
  • พฤติกรรมการกินผิดปกติ บางรายกินไม่ลง บางรายกินมากผิดปกติ
  • รู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่สดชื่น เฉื่อยชาเบื่อ ไม่อยากทำอะไร
  • สมาธิจดจ่อไม่ดี หลงๆ ลืมๆ ทำงานบกพร่อง
  • สูญเสียการตัดสินใจ

ผู้ป่วยที่มีโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ในระยะนี้อาการอาจกำเริบแปรปรวน เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดตามตัวหรือมีผื่นขึ้น ตื่นตระหนกฯลฯ เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นต้น หลายคนไม่ตระหนักว่ากำลังเกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง จนอาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงาน มีปัญหาความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องส่วนตัวและกับเพื่อนร่วมงาน ความเครียดสะสมยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาดนำชีวิตดิ่งลงได้โดยง่าย

4 สาเหตุหลักในผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ ระบุว่าCovid-19 ทำให้เกิดความเครียดคือ

1. กลัวการติดเชื้อ เพราะไม่แน่ใจได้ว่าที่ไหนจะปลอดภัย ทุกที่สามารถเกิดการแพร่เชื้อได้หมด เกิดอาการรู้สึกหวาดระแวงคนรอบข้างคนใกล้ตัว หรือแม้แต่คนที่ดูปกติแข็งแรงก็สามารถกลายเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการและสามารถแพร่เชื้อได้

2. สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรายวัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นโยบายรัฐบาลปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เกือบทุกวัน วันนี้อาจไปทำงานปกติ วันรุ่งขึ้นที่ทำงานอาจถูกปิด

3.ความกังวลเรื่องหน้าที่การงาน บางคนโดนสั่งพักงานหรือที่ทำงานต้องปิดตัว

4. สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดมากคือ การที่ไม่มีทางรู้ว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานเพียงใด ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยาวนานแค่ไหนแม้หลายคนจะให้ความร่วมมือกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม(Social Distancing) หรือปฏิบัติตามรายงานของภาครัฐอย่างเคร่งครัดแต่การแพร่ระบาดก็อาจจะยังไม่ยุติในระยะเวลาอันใกล้

ทั้งนี้ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health)อยู่เดิม อาการอาจกำเริบรุนแรงขึ้นได้ทั้งนี้ก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 มีผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเครียด องค์การอนามัยโลกได้มีรายงานเมื่อต้นปี 2020 ว่า ทั่วโลกมีคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 264 ล้านคน โดยประเทศไทยพบอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากปี 2560 คือ 4.94 ต่อประชากรแสนคน เป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 นอกจากนี้ยังมีโรควิตกกังวล ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานผู้ป่วยวิตกกังวลโดย The Anxiety and Depression Association of America สูงถึง 18.1% ของประชากร หรือประมาณ 40 ล้านคน เมื่อเกิดวิกฤติ COVID-19 ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีอาการกำเริบหรือแย่ลงได้แม้ยังได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้นหากคุณหรือคนใกล้ชิดเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยหรือสงสัยว่าจะป่วย ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินและรักษาอย่างเหมาะสม หรือหากมีนัดก็ไม่ควรหยุดพบแพทย์ เพราะอาจนำไปสู่อาการรุนแรง และเป็นอันตรายได้ ซึ่งปัจจุบันมีการให้บริการการรักษาทางไกลที่เรียกว่าE – Mental Healthทำให้คนไข้ได้รับความสะดวกมากขึ้น

วิธีการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19อย่างเข้าใจคือ

1.ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ในสถานการณ์แบบนี้อาจเกิดความเครียดขึ้นได้ แต่ความเครียดอาจทำให้เกิดภาวะท้อถอยหมดหวัง อารมณ์ที่ไม่เป็นปกติทำให้เรามีโอกาสตัดสินใจทำสิ่งใดๆ โดยไม่รอบคอบ คำแนะนำคือ ควรประคับประคองอารมณ์ให้ผ่านสถานการณ์ไปให้ได้ในแต่ละวันรักษาตัวให้ดีอย่าให้ติดเชื้อ

2. ติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น เช็คข่าววันละครั้งก็เพียงพอเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ลดการเสพโซเชียลมีเดีย ระมัดระวังข่าวปลอม

3. ปฏิบัติตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น

4. ตรวจสอบอาการทางร่างกายจิตใจอารมณ์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังอาการซึมเศร้า

5. ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติและมีคุณค่า แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราก็จำเป็นต้องดำเนินชีวิตให้เป็นปกติอย่ามัวแต่จดจ่ออยู่กับข่าวจนป่วยทั้งใจและกาย

เทคนิคใช้ชีวิตให้ปกติ (Healthy Routine) ประกอบด้วย

  • กินให้เป็นปกติ ทำอาหารง่าย ๆ เช่น หุงข้าว ทอดไข่ เป็นต้น
  • นอนให้ปกติ การนอนหลับให้เพียงพอเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ป้องกันไวรัสและภาวะซึมเศร้าได้
  • เชื่อมต่อกับผู้คน แม้จะเจอเพื่อนฝูงผู้คนเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ แต่ยังสามารถเชื่อมต่อ พูดคุยปรึกษาหารือกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อถึงกัน หากิจกรรมทำอย่าให้ว่าง
  • แม้จะ Work From Home ก็ควรทำตัวเหมือนปกติ ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว หรือออกกำลังกายตามยูทูบแทนการไปฟิตเนส
  • ทำสิ่งที่สนใจและงานอดิเรกที่ชอบ เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
  • ออกกำลังกายสมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ทำกิจกรรมในเงื่อนไขสถานการณ์ที่จำกัด เช่น ลองวาดรูปภาพด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี อบขนมหรือทำอาหารง่าย ๆ ฟังเพลงเป็นต้น
  • สุดท้าย คือ ฝึกปรับทัศนคติ อย่าตระหนก อย่ากังวลจนเกินไป ลองใช้เวลาสักวันละ 5 นาที สำรวจ ทบทวนความคิด ความรู้สึก หรือการตอบสนองทางร่างกาย หรือถ้าไม่แน่ใจลองถามคนรอบข้างและคนใกล้ชิด