ตั้งครรภ์ เด็กทารก

ดูแลครรภ์คุณแม่ด้วยวิธี MFM เริ่มตั้งแต่วันแรก…จนคลอดลูกน้อย

ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์คือช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง การได้รับการดูแลโดยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) จึงมีความสำคัญ เพื่อการดูแลแบบเชิงลึก ให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงและทารกในครรภ์ลืมตาดูโลกอย่างราบรื่น พร้อมจะเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต ดูแลครรภ์คุณแม่ด้วยวิธี MFM นายแพทย์ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล สูติ – นรีเวช ศูนย์สุขภาพสตรี…

Home / HEALTH / ดูแลครรภ์คุณแม่ด้วยวิธี MFM เริ่มตั้งแต่วันแรก…จนคลอดลูกน้อย

ช่วงเวลาของการตั้งครรภ์คือช่วงเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง การได้รับการดูแลโดยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) จึงมีความสำคัญ เพื่อการดูแลแบบเชิงลึก ให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงและทารกในครรภ์ลืมตาดูโลกอย่างราบรื่น พร้อมจะเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต

ดูแลครรภ์คุณแม่ด้วยวิธี MFM

นายแพทย์ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล สูติ – นรีเวช ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า วิธีการดูแลแม่ตั้งครรภ์แบบ Maternal Fetal Medicine (MFM) คือ การดูแลโดยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โดยมีการต่อยอดหลังจากจบการฝึกอบรมสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา เป็นการดูแลมารดาตั้งครรภ์และทารกในครรภ์แบบเชิงลึก เพื่อตรวจหาความเสี่ยง อัลตราซาวนด์ดูความสมบูรณ์ของทารก ประเมินการรักษา ป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนให้คำปรึกษาและคำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่และเจ้าตัวน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรง

หน้าที่หลักของแพทย์ด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ Maternal Fetal Medicine(MFM) ได้แก่

1.การดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างฝากครรภ์ ช่วงเวลาคลอด และหลังคลอด

2.ดูแลและรับฝากครรภ์ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง

3.แนะนำและให้คำปรึกษาเมื่อสงสัยหรือตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีภาวะผิดปกติ

4.ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์และหาความพิการของทารกในครรภ์

5.ตรวจคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์

6.รักษาทารกในครรภ์ที่มีความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ได้แก่ ทารกบวมน้ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

7.ตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์มารดา ได้แก่ การเจาะน้ำคร่ำ การเจาะชิ้นเนื้อรก การเจาะเลือดสายสะดือทารก เป็นต้น

8.ดูแลการทำคลอดและหลังการคลอดบุตร

9.ยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบ่งชี้การแพทย์

โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษคือ คุณแม่ที่มีครรภ์เสี่ยงสูง ได้แก่

1.คุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี

2.อายุน้อยกว่า 18 ปี

3.คุณแม่ครรภ์แฝด โดยเฉพาะแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันจะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น ทารกมีการถ่ายเทเลือดระหว่างกัน ทารกเติบโตขนาดไม่เท่ากัน เป็นต้น

4.คุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไต ลมชัก โรคหอบหืด โรคมะเร็ง

5.คุณแม่ที่มีหมู่เลือดผิดปกติ คือ Rh negative ที่มี isoimmunization

6.คุณแม่ติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ

7.คุณแม่ที่มีประวัติรับยาหรือสารเคมีที่อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์

8.คุณแม่ที่มีภาวะปากมดลูกสั้น

9.คุณแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคาม แท้งบ่อย รกเกาะต่ำ

10.คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรก่อนกำหนด

11.คุณแม่ที่เคยคลอดทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์

12.คุณแม่ที่เคยคลอดทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย คลอดทารกตัวเล็กกว่าปกติ (IUGR)

13.คุณแม่ที่คลอดบุตรมีความพิการแต่กำเนิด

14.คุณแม่ที่มีโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย 15.คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจคัดกรองด้วยการอัลตราซาวนด์กับแพทย์ที่มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ อย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 (สัปดาห์ที่ 11 – 14) ตรวจเพื่อดูพัฒนาการของทารก หากพบความผิดปกติสามารถหาทางแก้ปัญหาได้โดยเร็ว ช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

ครั้งที่ 2 (สัปดาห์ที่ 18 – 23) ตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของโครงสร้างทารก หากไม่พบความผิดปกติในช่วงนี้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าทารกแข็งแรง โดยจะมีการตรวจรก เนื้องอก ความผิดปกติภายในมดลูก วัดความยาวของปากมดลูกเพื่อตรวจเช็กความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดของแม่ตั้งครรภ์ด้วย

ครั้งที่ 3 (สัปดาห์ที่ 32 – 36) ตรวจเพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตำแหน่งรก ปริมาณน้ำคร่ำ ความผิดปกติบางอย่างอาจพบเจอในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์แม้โอกาสที่เกิดขึ้นจะไม่มากนัก

ดังนั้น การดูแลแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์กับแพทย์ที่มีความชำนาญทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) เป็นสิ่งสำคัญในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง จะช่วยให้สามารถดูแลตนเองและลูกน้อยได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถแก้ปัญหาความผิดปกติได้ทันท่วงที

นอกจากนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเบาๆ เลี่ยงการเอกซเรย์ สารเคมี ควัน และยาที่อาจมีผลกับการตั้งครรภ์ ที่สำคัญควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายสื่อสารการตลาด โรงพยาบาลกรุงเทพ