จากที่มีข่าวการระบาดของโรคไข้ซิกาในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ประกาศเตือนพลเมืองของสหรัฐ ที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ระบาด 14 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส มาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม เวเนซุเอลา และเครือรัฐเปอร์โตริโก
โรคไข้ซิกา (Zika fever) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี มียุงลาย เป็นแมลงนำโรค
มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน สั้นสุด 3 วัน และยาวสุด 12 วัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ข้อบวม ปวดหลัง อาจมีอาการอื่นๆ ได้ เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจติดเชื้อแล้วทำให้ทารกมีศีรษะเล็ก และสมองฝ่อได้ ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 5 ราย ซึ่งไม่ถือว่าสูงผิดปกติ อัตราป่วยใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง โรคนี้แล้ว ตั้งแต่ปี 2555
หากผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดในวงกว้าง รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทย มีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ สามารถมารับการรักษาและปรึกษาได้ที่ คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง สถาบันบำราศนราดูร และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันการติดเชื้อ โดยการ ตรวจเลือดผู้ป่วยในระยะเฉียบพลัน เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสซิกา ส่วนการตรวจหาแอนติบอดีไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากมีผลบวกลวงสูง และ สามารถส่งเลือดมาตรวจได้ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะ การรักษาจะรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาการเจ็บป่วย
การป้องกัน ระวังไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย กำจัดลูกน้ำและยุงลายตัวแก่ หากป่วยด้วยอาการไข้ ออกผื่น เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดศีรษะรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว
ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422