โรคงูสวัด (Herpes zoster) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส คือ varicella zoster virus (VZR) หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายก็จะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส ถึงแม้ร่างกายกลับมาหายแข็งแรงเป็นปกติแต่เชื้อชนิดนี้จะซ่อนตัวอยู่ที่ปมประสาทบริเวณไขสันหลังและสมองของเราไปตลอดชีวิต เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันลดลง เครียด อดนอน อายุมากขึ้น หรือ เป็นผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อภูมิต้านทานต่ำลงโรคนี้ก็จะกำเริบขึ้นมากลายเป็นโรคงูสวัดนั่นเอง
โรคนี้สามารถติดต่อโดยการสัมผัส ช่วงที่ต้องระวังคือช่วงที่มีตุ่มใสและตกสะเก็ด สำหรับใครที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนถ้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดก็จะเป็นโรคอีสุกอีใสก่อน ส่วนใครที่เป็นอีสุกอีใสมาแล้วก็จะกลายเป็นงูสวัด แม้ว่าโรคงูสวัดอาจจะดูไม่ร้ายแรงแต่ก็มีผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดแล้วเสียชีวิตถึง 20%
อาการของโรคงูสวัด
- มีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- รู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท
- มีผื่นแดงหรือตุ่มใสๆ จะเป็นด้านใดด้านหนึ่งตามร่างกาย เช่น ใบหน้า คอ แขน ขา ลำตัว รอบเอว
- ผื่นหรือตุ่มจะเรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวของเส้นประสาท ไม่กระจายทั่วตัวเหมือนโรคอีสุกอีใส
- ตุ่มน้ำใสจะเป็นประมาณ 5 วัน จากนั้นผื่นจะตกสะเก็ดอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะค่อยๆหายไป แต่อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้
การรักษาโรคงูสวัด
การรักษาจะรักษาตามอาการร่วมกับใช้ยาต้านไวรัส Acyclovir, Valacyclovir, Famciclovir ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาแล้วได้ผลดี ช่วยระงับอาการของโรคได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาภายใน 48-72 ชั่วโมง แต่เมื่อหายแล้วเชื้อไวรัสจะยังคงฝังตัวอยู่ที่ปมประสาท ถ้าร่างกายมีภาวะอ่อนแอก็กลับมาเป็นอีกได้
การดูแลรักษาโรคงูสวัดด้วยตัวเอง
- ควรอาบน้ำเย็นและใช้ครีมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของคาลาไมน์ ก็จะช่วยบรรเทาอาการคันได้
- ประคบเย็นที่ตุ่มน้ำงูสวัด จะช่วยลดอาการปวดแสบร้อนได้
- ระยะเป็นตุ่มน้ำใส ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลืออุ่นๆ ประคบไว้ประมาณ 5-10 นาที โดยประคบวันละ 3-4 ครั้ง น้ำเกลือจะทำให้แผลแห้งได้เร็วยิ่งขึ้น
- ระยะตุ่มน้ำแตก ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือสะอาด แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
- ถ้าปวดแผลมาก สามารถทานยาแก้ปวดได้
- ไม่ควรแกะเกาตุ่มงูสวัดอย่างเด็ดขาด เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและทำให้แผลหายช้า
- ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าแบบหลวมๆ ไม่รัดแน่นจนเสียดสีกับผิวเพราะจะทำให้เจ็บปวดบริเวณผิวหนังได้
วิธีป้องกันโรคงูสวัด
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง
- ผู้ที่เคยป่วยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ควรฉีดเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด เพื่อเสริมสร้างให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ยังช่วยป้องกันโรคอีสุกอีใสได้อีกด้วย โดยฉีดเพียงแค่เข็มเดียวราคาอยู่ที่เข็มละประมาณ 5,000 บาท สามารถป้องกันโรคนี้ได้ประมาณ 10 ปีนับจากวันที่ฉีด
โรคงูสวัด พันรอบตัวแล้วตายจริงไหม?
เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการกระจายตัวของผื่นงูสวัดจะเป็นฝั่งใดหนึ่งของร่างกายเท่านั้น หากขึ้นทางซ้าย ผื่นก็อยู่แค่ข้างซ้าย ลักษณะเป็นผื่นแถวแนวยาวตามเส้นประสาทของเราและจะสิ้นสุดที่บริเวณกลางลำตัวเท่านั้น และควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งหายได้ไวขึ้นเท่านั้น
เรียบเรียงโดย Health Mthai Team