หลายคนอาจจะคิดว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทยซึ่งความจริงแล้ว มะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ส่วนมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับที่ 2 ของโรคร้ายในผู้หญิง ซึ่งผู้ชายก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้สถิติอยู่ที่ประมาณ 5%
ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นที่ข้างหนึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง ซึ่งการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นจะทำให้มีโอกาสหายได้สูง เบื้องต้นสามารถตรวจเต้านมได้ด้วยตนเอง โดยการการคลำเต้านมของตนเองและช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุดคือช่วงหลังหมดประจำเดือน หากพบความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อาการมะเร็งเต้านม
- มีก้อนเนื้อในเต้านมหรือรักแร้
- เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป
- บริเวณหัวนมบุ๋มหรือเป็นแผล
- มีของเหลว คล้ายน้ำเหลืองไหลออกมา
- ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไป
- เต้านมมีผื่น แดง ผื่นคล้ายผิวส้ม
มะเร็งเต้านม แบ่งเป็น 5 ระยะคือ
ระยะที่ 0 มะเร็งเต้านมแบบไม่ลุกลาม โดยจะยังไม่มีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง
ระยะที่ 1 มะเร็งเต้านมแบบลุกลาม เนื้องอกบริเวณเต้านมมีขนาด 2 ซม. หรือเล็กกว่า และพบกลุ่มเซลล์มะเร็งขนาดเล็กในต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ มีโอกาสหายขาดสูงถึง 90%
ระยะที่ 2 ระยะลุกลามเฉพาะที่ เนื้องอกบริเวณเต้านมมีขนาด 2-5 ซม. และพบกลุ่มเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ 1- 3 ต่อม หรือต่อมน้ำเหลืองใกล้กระดูกหน้าอก โอกาสหายขาดอยู่ที่ 80%
ระยะที่ 3 ระยะลุกลามเฉพาะที่ เนื้องอกบริเวณเต้านมทุกขนาด และพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ได้ตั้งแต่ 10 ต่อมขึ้นไป หรือต่อมน้ำเหลืองใกล้กระดูกหน้าอก
ระยะที่ 4 มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายหรือระยะสุดท้าย เนื้องอกบริเวณเต้านมและพบมะเร็งในส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น กระดูก ปอด ตับ สมอง โอกาสหายขาดมีเพียง 20% เท่านั้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
1.ตรวจเต้านมโดยแพทย์เฉพาะทาง
แพทย์จะตรวจเต้านม ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ซักประวัติ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
2.การทำแมมโมแกรม
แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี เป็นการเอกซเรย์เต้านมที่ใช้รังสีปริมาณต่ำ มีความคมชัดสูง สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก การทำแมมโมแกรมบางครั้งอาจมองเห็นความผิดปกติไม่ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ที่มีเต้านมเล็ก
3.อัลตราซาวนด์เต้านม
การอัลตราซาวนด์จะตรวจในกรณีที่พบความผิดปกติและต้องการผลที่แน่ชัดขึ้น ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์จะช่วยให้ตรวจหาและวัดขนาดผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอก ก้อนซีสต์ หรือถุงน้ำ
4.การเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจ
แพทย์จะแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งเพื่อความแม่นยำ ถ้าเป็นมะเร็งจะได้ทำการผ่าและรักษาต่อไป แต่ถ้าชิ้นเนื้อผลออกมาไม่ใช่มะเร็งก็จะต้องมาตรวจทุกๆ 6 เดือน เพื่อติดตามผลหรืออาจจะต้องผ่าตัดก้อนเนื้องอก
วิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ได้ผลดี มีดังนี้
- การรักษาโดยการผ่าตัด มีแบบผ่าตัดสงวนเต้าและแบบผ่าตัดแบบเอาเต้าออกทั้งหมด
- การรักษาโดยการรังสี เป็นการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำเฉพาะที่
- การรักษาโดยเคมีบำบัด หากให้ก่อนผ่าตัดเพื่อทำให้ขนาดมะเร็งเล็กลง หากให้หลังผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงของการกลับมาของมะเร็ง
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน ยาต้านฮอร์โมนเพื่อลดฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย
- การรักษาแบบเจาะจงเซลล์มะเร็ง โดยปกติจะฉีดยานี้ผ่านทางเส้นเลือด ยาจะช่วยทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ
เรียบเรียงโดย Health Mthai Team