มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลกและในประเทศไทย ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พบได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงควรตรวจมะเร็งเต้านมสม่ำเสมอทุกเดือน เพื่อจะได้รักษาได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ก็จะมีโอกาสหายเป็นปกติได้
การตรวจมะเร็งเต้านมสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองด้วยการคลำเต้านมเพื่อหาก้อนเนื้อซึ่งก้อนที่คลำเจออาจเป็นเพียงถุงน้ำก็ได้ ซึ่งในอาการเริ่มต้นมักจะไม่รู้สึกเจ็บ หากพบความผิดปกติแพทย์จะใช้วิธีการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ แนะนำให้ผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุกปี สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไปควรตรวจปีละ 2 ครั้ง
วิธีการ ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง : ท่ายืนหน้ากระจก
ยืนตัวตรงแล้ว ยกมือทั้งสองข้างให้สูงเหนือศีรษะ จากนั้นสังเกตเต้านมทั้งสองข้าง ไม่ควรมีรอยนูน รอยบุ๋มจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป เต้านมทั้งสองข้างควรอยู่ในระดับเดียวกัน
วิธีการ ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง : ขณะอาบน้ำ
เริ่มจากยกมือไว้เหนือศีรษะข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจ แล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างมาคลำเต้านมข้างที่ยกมือไว้ จากนั้นกดและค่อยๆคลำเบาๆ หมุนไปโดยรอบเต้านม ฐานหัวนม หัวนม และลองบีบหัวนมว่ามีน้ำเลือด น้ำเหลืองไหลออกมาหรือไม่ จากนั้นคลำไปที่บริเวณรักแร้และเหนือไหปลาร้าทั้งสองข้างด้วย
การคลำในแนวขึ้นลง (up and down)
โดยเริ่มคลำจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า โดยใช้นิ้วมือ 3 คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง คลำในแนวขึ้นลง จากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า คลำสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
การคลำในแนวรูปลิ่ม (wedge)
เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วขยับนิ้วมือจากฐานถึงหัวนมคลำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทั่วเต้านม
การคลำในแนวก้นหอยหรือตามเข็มนาฬิกา (circles)
เริ่มคลำจากส่วนบนของหัวนม แล้ววนนิ้วมือไปตามแนวก้นหอยเป็นวงกลม วนไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงฐานเต้านมและบริเวณรอบรักแร้
การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรตรวจอย่างน้อยเดือนละครั้ง และช่วงเวลาที่ควรตรวจ คือ ช่วง 7 วันหลังจากมีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่ตึงมากจึงสามารถคลำหาก้อนได้ง่าย หากพบความผิดปกติความรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมในทันที