ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็น โรคมะเร็ง ชนิดต่างๆเพิ่มขึ้น ประกันสังคมจึงให้สิทธิแก่ผู้ประกันตนให้เข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ โดยไม่จำกัดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายและจำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาพยาบาล แต่ทั้งนี้ก็มีเงื่อนไขอื่นๆซึ่งสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกองทุนประกันสังคม และนี่คือ 10 โรคมะเร็ง ที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้
โรคมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง
- ผู้ที่มีประวัติญาติที่ใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านม ก่อนอายุ 50 ปี
- การใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อยและใช้ต่อเนื่องนานมากกว่า 5 ปี
- ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือนเป็นระยะเวลานาน
- อาการของมะเร็งเต้านม คือ ก้อนที่เต้านมหรือมีเลือด น้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม
โรคมะเร็งปากมดลูก
- มีประวัติติดเชื้อหูดหงอนไก่ หรือติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การมีคู่นอนหลายคน ซึ่งความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามจำนวนคู่นอน
- อาการของมะเร็งปากมดลูก จะมีเลือดหรือตกขาวออกทางช่องคลอดผิดปกติหรือมีกลิ่น
โรคมะเร็งรังไข่
- มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี และผู้ที่หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 55 ปี
- สตรีที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ หรือ คลอดลูกคนแรกหลังจากอายุ 30 ปีไปแล้ว
- มีประวัติคนในครอบครัวโดยเฉพาะคนใกล้ชิด แม่ พี่สาว น้องสาว เคยเป็นมะเร็งรังไข่
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
- อาการของโรคมะเร็งรังไข่ จะมีอาการท้องอืดเป็นประจำ อาหารไม่ย่อย ปวดท้องเรื้อรัง ท้องโตกว่าปกติ
โรคมะเร็งโพรงจมูก
- ผู้ที่มักรับประทานอาหารหมักดอง เช่น ปลาเค็ม ปลาร้า เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน ผักดอง
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
- มีประวัติคนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง เป็นมะเร็งโพรงจมูก
- อาการของโรคมะเร็งโพรงจมูก มักมีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คัดจมูกคล้ายเป็นหวัดเรื้อรังรักษาไม่หาย มีเลือดกำเดาออก มีเสมหะปนเลือด
โรคมะเร็งปอด
- ผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10-30 เท่า
- ผู้ที่ได้รับควันพิษจากผู้ที่สูบบุหรี่
- มีประวัติคนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง เป็นมะเร็งปอด แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ก็ตาม
- อาการของโรคมะเร็งปอด มีอาการเหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
- ท้องผูกเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ส่งผลให้สารก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน
- เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม
- มีประวัติคนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มักชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงและมีไขมันสูง
- อาการของโรค ผู้ป่วยมักจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย และปวดเบ่งบริเวณทวารหนัก
โรคมะเร็งหลอดอาหาร
- ผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-70 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดและมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- ผู้ที่มักดื่มเครื่องดื่มร้อนจัดเป็นประจำ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด
- การสูบบุหรี่จัด
- ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง
- อาการของโรคมะเร็งหลอดอาหาร มีอาการกลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ ตั้งแต่คอจนถึงระดับลิ้นปี่
โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี
- เป็นโรคมะเร็งที่ผู้ชายไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง
- มีประวัติเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ
- รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น กุ้ง หอย ปลาน้ำจืด
- รับประทานอาหารที่มีเชื้อรา เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ดื่มปริมาณมากสะสมเป็นเวลาหลายปี
- อาการของโรคนี้ คือ ท้องอืด ท้องโตขึ้น ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- การสูบบุหรี่จัด หรือผู้ที่ได้รับควันพิษจากผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยาง หนัง สี เช่น ช่างเหล็ก ช่างเครื่องยนต์ ช่างทำผม
- เคยติดเชื้อและระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด บางครั้งปัสสาวะปนเลือดแต่ไม่มีอาการเจ็บปวด
โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- อายุที่พบบ่อยคือมากกว่า 60 ปี
- มีประวัติญาติใกล้ชิด พ่อ พี่น้อง เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ผู้ที่มักรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- อาการของโรคนี้ มักมีอาการปัสสาวะที่ผิดปกติ
ในกรณีการรักษา โรคมะเร็ง ชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากโรคมะเร็ง 10 ชนิด ประกันสังคมจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อรายต่อปี
เรียบเรียงโดย Health Mthai Team