ความดันโลหิตสูง ลดน้ำหนัก วิธีดูแลตัวเอง เบาหวาน โรคเบาหวาน

เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 2 โรค ที่ไม่ต้องสร้าง แต่เกิดขึ้นเองได้ หากดูแลตัวเองไม่ดีพอ

เมื่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโคจรมารวมอยู่ในคนๆ เดียว ส่งผลกระทบและความยุ่งยากในการใช้ชีวิตไม่น้อย ดังนั้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ 2 โรคนี้ให้ชัดเจน น่าจะเป็นทางออกที่สามารถทำให้การใช้ชีวิตเป็นปกติและสร้างสมดุลย์ในชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ มีความเชื่อมโยงกัน จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ และส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงนั้น 1…

Home / HEALTH / เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 2 โรค ที่ไม่ต้องสร้าง แต่เกิดขึ้นเองได้ หากดูแลตัวเองไม่ดีพอ

เมื่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโคจรมารวมอยู่ในคนๆ เดียว ส่งผลกระทบและความยุ่งยากในการใช้ชีวิตไม่น้อย ดังนั้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ 2 โรคนี้ให้ชัดเจน น่าจะเป็นทางออกที่สามารถทำให้การใช้ชีวิตเป็นปกติและสร้างสมดุลย์ในชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ มีความเชื่อมโยงกัน

จากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ และส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงนั้น 1 ใน 3 จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยเมื่อโรคดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกัน ผลของโรคหนึ่ง จะมีแนวโน้มที่ทำให้อาการของอีกโรคแย่ลง ซึ่งโรคเบาหวานจะไปลดความสามารถในการขยายตัวของหลอดเลือดและทำให้ร่างกายจัดการกับอินซูลินได้ไม่เหมือนเดิม ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นด้วย

เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงมักเกิดขึ้นร่วมกันเพราะโรคเหล่านี้มีปัจจัยเสี่ยงเหมือนกัน ได้แก่ น้ำหนักเกินมาตรฐาน , ทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการไม่ได้ออกกำลังกาย การเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคไตและมีปัญหาเกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพและอาจจะอันตรายถึงชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดทั้ง 2 โรคนี้ได้แก่

1. ประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคหัวใจ

2. เกิดภาวะความเครียด

3. การรับประทานอาหารที่มีไขมันหรือโซเดียมสูง

4. การไม่ออกกำลังกาย

5. อายุมากขึ้น

6. น้ำหนักเกินมาตรฐาน

7. การสูบบุหรี่

8. การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

9. โรคเรื้อรัง อาทิ โรคหยุดหายใจขณะหลับหรือ โรคไต เป็นต้น

เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

สำหรับแนวทางการป้องกัน ได้แก่

1. การลดน้ำหนัก ผู้ป่วยที่มี BMI ≥25 กก./ม.2 ทุกๆ น้ำหนัก ที่ลดลง 1 กก. สามารถลดความดันตัวบน ได้ เฉลี่ย 1 มม.ปรอท โดยรวมการลดน้ำหนัก 10 กก. สามารถลดความดันตัวบนได้เฉลี่ย 5-20 มม.ปรอท

2. การออกกำลังกาย แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน การออกกำลังกายสามารถลดความดันตัวบนลงเฉลี่ย 4 มม.ปรอท

3. การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

– การบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มก./วัน สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ทั้งในผู้ป่วยที่มี และไม่มีโรคความดันโลหิตสูง
– เกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) 1 ช้อนชา (5กรัม) โซเดียม 2,000 มก.
– น้ำปลา 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ 350-500 มก.
– ซีอิ๊ว 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ 320-455 มก.
– ผงชูรส 1 ช้อนชามีโซเดียม 492 มก.

4. การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่น้อย ผู้หญิงไม่เกิน 1 ดื่มมาตรฐาน ( Standard drink ) ต่อวัน และผู้ชายไม่เกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน ปริมาณ 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายถึง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 10 กรัม ได้แก่ เบียร์ 5% : 240มล., เบียร์ 6.4% : 1/2 กระป๋อง หรือ 1/3 ขวดใหญ่, ไวน์ 12% : 100 มล.

5. ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ทำให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง

คลิป > เบาหวาน โรคสุดฮิตที่คนเป็นเยอะ ดูแลตัวเองอย่างไร มาหาคำตอบได้ที่นี่!

บทความโดย : นายแพทย์ ชาญ สุภาพโสภณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้าน อายุรกรรมหัวใจ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล