โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นโรคร้ายที่ไม่มีอาการเฉพาะของโรค แต่จะมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก จึงกลายเป็นภัยเงียบที่กว่าจะรู้ก็สายเกินไปแล้ว ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดคือการดูแลร่างกายของตัวเองก็ห่างไกลโรคแล้ว
5 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
อาหารหมักดอง
การรับประทานอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควัน เช่น ไข่เค็ม ไส้กรอก แฮม เบคอน ปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เนื้อแดดเดียว จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น อาหารหมักดองด้วยเกลือเป็นตัวการร้ายที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร แม้แต่อาหารรมควัน อาหารใส่สี ใส่ดินประสิว อาหารแปรรูปต่างๆ เมื่อรับประทานสะสมไปนานๆก็เสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็ง
อาหารประเภทปิ้งย่าง
สารก่อมะเร็งที่สำคัญก็คืออาหารที่ไหม้เกรียม ซึ่งทำให้ก่อมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน ดังนั้นถ้าต้องไปรับประทานอาหารปิ้งย่างก็ควรเลือกทานเนื้อที่มีไขมันน้อยอย่างปลา หรือถ้าต้องทานเนื้อหมู เนื้อวัว ก็ควรตัดส่วนที่เป็นมันทิ้งออกไปบ้าง ถ้าปิ้งไหม้จนเกรียมควรตัดส่วนที่ไหม้ทิ้งออกไปก่อนรับประทานก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลงได้
รับประทานผักและผลไม้น้อยเกินไป
ควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูงและมีวิตามินสูง เช่น แอปเปิ้ล แก้วมังกร ฝรั่ง ชมพู่ ส้ม มะละกอ เพราะในผักผลไม้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูงจึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ได้ช่วยในการกระตุ้นระบบขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้
ภาวะอ้วน
ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน จึงทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนซึ่งเป็นสาเหตุของการอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งผู้ชายที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน
ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร แอลกอฮอล์มีผลโดยตรงต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จึงส่งผลให้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจนนำไปสู่โรคมะเร็ง