โรคตุ่มน้ำพอง หรือ เพมฟิกัส (pemphigus) และเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการแยกตัวของผิวหนัง จึงทำให้มีตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ โรคนี้พบไม่บ่อยอาจเกิดขึ้นใน 1 ใน 4 แสนคน ทั้งนี้โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อสามารถรักษาให้หายได้ แต่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุของโรคตุ่มน้ำพอง
- เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
- พันธุกรรม
- ปัจจัยพื้นฐานสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น เช่น เชื้อโรค สารเคมี
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมักมีอายุประมาณ 50-60 ปี แต่สามารถพบโรคนี้ได้ทุกวัย ทั้งหญิงและชาย
อาการของโรคตุ่มน้ำพอง
- มีตุ่มน้ำพองหรือแผลถลอกที่ร่างกายและเยื่อบุต่างๆ
- ตุ่มน้ำแตกจะทำให้ปวดแสบมาก และอาจเกิดแผลหรือรอยถลอก
- มีอาการแผลในปาก เป็นแผลถลอกที่เหงือก เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม
- เมื่อเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปากจะทำให้กลืนอาหารไม่สะดวก
- ผิวหนังที่เป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนองได้
- ถ้าเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดอาจทำให้มีไข้
การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเป็นโรคตุ่มน้ำพอง
- หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
- ถ้ามีแผลในปากควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพราะจะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น
- ไม่แกะเกาผื่น
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่หนักจนเกินไป
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวหนังอักเสบมากขึ้น
- ถ้ามีตุ่มน้ำแตกเป็นแผลในปาก ให้อมน้ำเกลือกลั้วปากบ่อย ๆ แต่ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากยาฆ่าเชื้อ
- ควรทำความสะอาดร่างกายและบริเวณแผล ด้วยการใช้น้ำเกลือเช็ดเบาๆ
- ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง