องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลกที่มีปัญหาวัณโรค ทั้งวัณโรค วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยและวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งวัณโรคสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและเป็นได้ทุกอวัยวะ พบมากที่สุดคือ ปอด ส่วนวัณโรคนอกโรคปอดที่พบบ่อย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจผิวหนัง
ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์การบริการผู้ป่วยวัณโรค เพื่อลดการเกิดวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงและผู้ต้องขัง พร้อมขยายสิทธิประโยชน์ตรวจวินิจฉัยและรักษาวัณโรคดื้อยา โดยรายการสิทธิประโยชน์บริการผู้ป่วยวัณโรคที่ได้ปรับปรุง มีดังนี้
1.บริการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง
เน้นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค 90,000 ราย และผู้ต้องขังเรือนจำ 250,000 ราย คัดกรองครั้งแรกด้วยการเอกซเรย์ปอดทุกราย โดยรายที่ผลเอกซเรย์ผิดปกติจะได้รับการตรวจเสมหะโดยวิธีอณูชีววิทยา (Molecular testing) ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยดื้อต่อยา Rifampicin resistance (RR-TB) จะได้รับการตรวจโดยวิธีอณูชีววิทยาซ้ำเพื่อยืนยันผลดื้อยาอีกครั้ง
2.บริการตรวจหาเชื้อวัณโรคระยะแฝง
ด้วยวิธีทดสอบปฏิกิริยาทูเบอร์คูลิน (Tuberculin skin test: TST) ในผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีและไม่ป่วยเป็นวัณโรค 81,000 ราย
3.บริการตรวจการดื้อยาวัณโรค
โดยเพิ่มการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา First line drugs สำหรับผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกราย 80,000 ราย และการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา Second line drugs ด้วยวิธี Line probe assay (LPA) และ Culture & Drug susceptibility testing (DST) สำหรับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) 2,700 ราย
4.บริการรักษาวัณโรคดื้อยา
ครอบคลุมบริการรักษาด้วยยารักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) และบริการยารักษาวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) ทั้งนี้ รายการยารักษาวัณโรคเป็นรายการที่ระบุในบัญชียาหลักแห่งชาติ เท่านั้น