มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic Stem Cell) ในไขกระดูก โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามการดำเนินโรคได้แก่
1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดลดลง ผู้ป่วยจึงมีอาการผิดปกติในระยะเวลา 1-2 เดือน อาการที่มักพบได้แก่อาการอ่อนเพลีย ซีดลงจากภาวะโลหิตจาง มีไข้เนื่องจากการติดเชื้อเนื่องจากเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่มีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อมีปริมาณลดลง และเลือดออกง่ายโดยเฉพาะตามเยื่อบุต่างๆ เนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ
2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง เป็นโรคที่มีการเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวอย่างผิดปกติ แต่ยังสามารถเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ได้ ทำให้อาการของโรคค่อยเป็นค่อยไป โดยในระยะแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ จนกระทั่งปริมาณเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดสูงขึ้นมาก จนทำให้ซีดหรือโลหิตจาง หรือไปสะสมในม้ามทำให้ม้ามโต ทำให้อืดท้องหรือคลำได้ก้อนในท้อง และบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดได้
สำหรับสาเหตุการเกิดโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัส และรังสี ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงสารเคมีบางอย่าง หรือการสัมผัสกับสิ่งที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์โรคทางพันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรมและโครโมโซมที่ผิดปกติทำให้เกิดโรคนี้ได้
อาการของโรคที่แสดงจะแตกต่างกันตามชนิดของเม็ดเลือดที่ผิดปกติ แต่โดยทั่วไปจะมีอาการแสดงให้เห็น อาทิ เลือดจาง ซีด หน้ามืด เวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย เลือดออกง่ายบริเวณผิวหนังและเหงือก เป็นจ้ำตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต อาจพบก้อนในท้องเนื่องจาก ตับ ม้ามโต ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย และมีไข้ หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยทั่วไปจะใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก ส่วนการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือโรคสงบได้
อย่างไรก็ตาม สามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งทั่วไปได้ด้วยการเลือกทานอาหารมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งรวมไปถึงการตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยคัดกรองโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังหรือมะเร็งชนิดที่เป็นก้อนได้ การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะทำให้มีการตอบสนองต่อการรักษาและมีโอกาสหายมากกว่าระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย เพราะโดยส่วนใหญ่มักพบว่าผู้ป่วยกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อาการก็อยู่ในระยะลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคมะเร็งยิ่งพบโรคได้เร็วเพียงใด ชีวิตก็ปลอดภัยมากขึ้นด้วย
บทความสุขภาพโดย พญ.สุภาวี แสงบุญ อายุรแพทย์โรคเลือด รพ.เวิลด์เมดิคอล
ติดต่อสอบถาม 02-836-9999 ต่อ 2921 แผนกอายุรกรรมเฉพาะทาง