โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นมะเร็งที่มีผู้เสียชีวิตติด 5 อันดับแรกของคนไทย เราทุกคนจึงควรเตรียม ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงก็คือผู้มีอายุ 50-70 ปี ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่คือผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดังนั้นจึงควรรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้นก็จะช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
- ท้องผูกเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ส่งผลให้สารก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน
- เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม
- มีประวัติคนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มักชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีสีแดงและมีไขมันสูง
- การดื่มสุราและการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ป่วยมักจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกปนเลือด
- ท้องผูกสลับท้องเสีย
- ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักเวลาที่ต้องถ่ายอุจจาระ
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- อุจจาระลำบาก
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- คลำพบก้อนในท้อง
ระยะของโรค
ระยะก่อนมะเร็ง หรือ ระยะ 0 มักพบเซลล์มะเร็งบริเวณผิวของลำไส้ ในระยะนี้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
ระยะ 1 มะเร็งจะอยู่ที่บริเวณผิวผนังลำไส้ด้านใน ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายได้
ระยะ 2 มะเร็งลุกลามไปที่ชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
ระยะ 3 ในระนะยนี้มะเร็งจะลุกลามไปยังผนังลำไส้ใหญ่และต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ
ระยะสุดท้าย หรือ ระยะ 4 มะเร็งจะเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ
คำแนะนำ : สำหรับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น การตรวจเลือดในอุจจาระทุก 1-2 ปี, การสวนสารทึบรังสีตรวจลำไส้ใหญ่, การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี หรือ การเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง