เฉลยข้อสงสัย! วิธีกินยาที่ถูก ต้องทำอย่างไรกันแน่?

เคยได้ยินข้อจำกัดของการใช้ยาบางอย่างไหม เช่น กินยาแล้วต้องกินน้ำตามมาๆ ห้ามกินยาพร้อมกับนม กินยาแก้ปวดตอนท้องว่างไม่ได้ ฯลฯ หลายคนอาจจะสงสัยใช่ไหมว่า เพราะอะไร แล้วถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น ตามมาทางนี้ค่ะ เดี๋ยวเราจะพาหาคำตอบวิธี การใช้ยาที่ถูกต้อง กัน 1. นอนกลางวันต้องกินยาก่อนนอนไหม?…

Home / HEALTH / เฉลยข้อสงสัย! วิธีกินยาที่ถูก ต้องทำอย่างไรกันแน่?

เคยได้ยินข้อจำกัดของการใช้ยาบางอย่างไหม เช่น กินยาแล้วต้องกินน้ำตามมาๆ ห้ามกินยาพร้อมกับนม กินยาแก้ปวดตอนท้องว่างไม่ได้ ฯลฯ หลายคนอาจจะสงสัยใช่ไหมว่า เพราะอะไร แล้วถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น ตามมาทางนี้ค่ะ เดี๋ยวเราจะพาหาคำตอบวิธี การใช้ยาที่ถูกต้อง กัน

1. นอนกลางวันต้องกินยาก่อนนอนไหม?

หากฉลากบนยาระบุว่า ให้ทาน 1 เม็ดก่อนนอน นั่นหมายถึง ตอนคุณเข้านอนตอนกลางคืนเท่านั้น ห้ามกินก่อนนอนตอนกลางวันเด็ดขาด! เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณยาที่มากเกินไป

2. ยาแก้ปวด แก้ไข กินอย่างไร?

หน้าซองยาแก้ปวด แก้ไข จะเขียนว่า ให้กินทุกๆ 4 ชั่วโมง เมื่อครบ 4 ชั่วโมงค่อยกินซ้ำ หากอาการยังไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ยาแก้ปวด ให้กินเฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้เท่านั้น เมื่อหายดีแล้ว ก็ไม่ต้องทานซ้ำอีก

3. เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว หยุดกินยาปฏิชีวนะได้ไหม?

หากเป็นยาปฏิชีวนะ จะต้องกินยาติดต่อกันให้หมดตามที่แพทย์สั่ง อย่าหยุดกินยาเพียงแค่รู้สึกว่าร่างกายค่อยยังชั่วแล้ว เพราะอาจจะทำให้เกิดการดื้อยาได้ในภายหลัง เช่น หน้าซองเขียนไว้ว่า 1 เม็ด 3 เวลา หลังอาหารและก่อนนอน มียาทั้งหมด 20 เม็ดก็ต้องกินยาให้ครบ คือรับประทานครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ติดต่อกัน 5 วัน จนยาหมด

การใช้ยาที่ถูกต้อง

4. เป็นหวัด กินยาแล้วหาย พอเป็นใหม่ ซื้อยาตัวเดิมมากินอีกได้ไหม?

หากกินยาปฏิชีวนะแล้วหายจากอาการเป็นหวัด เจ็บคอ คอแดง ไม่ควรไปซื้อยาตัวเดิมมาทาน เมื่อกบัยมาเป็นหวัดอีก เพราะเราอาจได้ยาไม่เพียงพอ หรืออาจไม่ใช่โรคหวัดที่เคยเป็น งานนี้แทนที่จะหาย กลับอาการแย่ลง แถมยังดื้อยาในภายหลังอีกด้วย

5. ทำไมยาบางตัว ต้องดื่มน้ำตามมากๆ

ยาที่ดื่มน้ำตามมากๆ คือ ยาประเภทซัลฟา โดยทั่วไปเป็นยาที่ตกตะกอนในไตได้ง่าย การที่ดื่มน้ำตามมากๆ จะเป็นการช่วยให้การขับยาออกจากร่างกายได้มากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการตกตะกอนในไต

6. วิธีใช้ยาที่เป็นผง ที่ถูกต้อง

ยาผงมีอยู่หลายชนิด หลายรูปแบบ มีทั้งใช้ภายนอกอย่างผงโรยแผล หรืออาจเป็นยาที่บรรจุในขวดเล็กๆ มีผงอยู่ก้นขวดและมีน้ำคู่กันมา พวกนี้เป็นยาฉีด เวลาที่จะฉีดต้องเอาผงและน้ำผสมกัน ซึ่งพยาบาลจะเป็นคนผสมให้ ส่วนยาผงที่ใช้กิน โดยทั่วไปเป็นยาปฏิชีวนะในรูปผงแห้ง หากผู้ป่วยได้รับยาไป 2 ขวด เราจะผสมน้ำให้ขวดเดียว เพราะหากผสมทิ้งไว้นานเกิน 7 วัน ก็อาจทำให้ยานั้นเสื่อมสภาพได้ ขวดที่ 2 จึงมักให้ผู้ป่วยกลับไปผสมเองหลังจากกินยาขวดแรกหมดแล้ว

7. ยาผงที่ผสมน้ำแล้ว เก็บรักษาอย่างไร?

ควรเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานไม่เกิน 7 วัน วิธีการผสมยาก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะในบางครั้งยาที่เป็นผงบรรจุมาจากโรงงานทิ้งไว้นาน อาจเกาะกันอยู่ก้นขวด ก่อนที่จะผสมยาควรเขย่าขวดให้ผงยากระจายตัวเสียก่อน แล้วจึงเติมน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ระวังอย่าเติมทีเดียวหมด ให้เติมเศษสามส่วนสี่ก่อนแล้วเขย่า สังเกตดูว่าฟองที่เกิดยุบตัวหมด ค่อยเติมน้ำอีกครั้งให้ถึงขีดที่กำหนด เขย่าอีกครั้งให้ผงยาละลายให้หมด

8. ยาที่เกิดตกตะกอน แยกตัวเป็นชั้น ยังใช้ได้หรือไม่

ยาที่ตกตะกอนชนิดกิน ถ้าเราเขย่าแล้วยากระจายตัวได้ดี ไม่แข็งนอนอยู่ที่ก้นขวด สี กลิ่น และรสชาติไม่เปลี่ยน ยังใช้ได้อยู่ ต้องดูวันหมดอายุของยาบนฉลากด้วย แต่จะมียาบางชนิดซึ่งตกตะกอนเร็วมาก ฉะนั้นก่อนใช้ยาจะต้องเขย่าขวดก่อน สังเกตฉลากยาข้างขวดจะมีคำว่า “เขย่าขวดก่อนใช้” ส่วนยาที่ใช้ภายนอกก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

การใช้ยาที่ถูกต้อง

9. ยาแขวนตะกอน กินอย่างไร?

เขย่าขวดก่อนกินเสมอ ถ้าเป็นยาที่มีตะกอนหรือแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรดที่ระบุไว้ว่าให้กินก่อนอาหาร หมายถึง ให้กินยาก่อนกินอาหาร 1 ชั่วโมง ถ้าลืมกินก่อนอาหารให้กินหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ยาจะมีประสิทธิภาพมาก เพราะเป็นช่วงที่ท้องว่าง และจะช่วยในกรณีผู้ป่วยกินยามากกว่า 1 ชนิด ซึ่งยาอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน และลดการดูดซึมยาอื่นที่กินร่วมกันได้

10. ทำไมต้องเคี้ยวยา (บางชนิด) ก่อนกลืน?

มียาบางชนิดที่ให้เคี้ยวก่อนแล้วกลืนพร้อมน้ำ เช่น ยาลดกรด ยาขับลม เพื่อให้ยาที่ถูกเคี้ยวละลายน้ำได้ดี และยากระจายตัวได้ทั่วถึง ทำให้ผลการรักษาดีที่สุด

11. ทำไมห้ามกินยาแก้ปวดต่างๆ ตอนท้องว่าง?

ยาแก้ปวดต่างๆ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ห้ามกินในขณะท้องว่าง เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือกระเพาะอาหารเป็นแผล ต้องกินหลังอาหารทันที แต่บางครั้งผู้ป่วยกินอาหารไม่ได้ ก็ขอให้ดื่มน้ำตามยาไปมากๆ หรืออาจดื่มนม น้ำข้าวต้มก่อนกินยาพวกนี้ จะช่วยลดอาการระคายเคืองของกระเพาะอาหารได้

12. ทำไมต้องระวัง เวลาทานยาแก้หวัด แก้แพ้ต่างๆ

เนื่องจากยาแก้หวัด แก้แพ้ต่างๆ มีผลข้างเคียงคือ ทำให้ง่วง เพราะฉะนั้นหลังจากกินเข้าไปแล้ว ไม่ควรขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้รวมถึงยาแก้เมารถ เมาเรือด้วยนะ

13. นอกจากยาแก้แพ้ แก้หวัด ต้องระวังในการกินยาอะไรอีกไหม?

มียาจำพวกระงับประสาทหรือยานอนหลับ ซึ่งมีข้อควรระวังเช่นเดียวกัน เพราะในบางครั้งผู้ป่วยกินยานี้ดึกมากเกินไป บางทีตื่นขึ้นมาฤทธิ์ยายังไม่หมด อาจทำให้เกิดอาการมึนงง มีความง่วงเหลืออยู่ จึงต้องระวังเวลาที่ขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร แต่ไม่ว่าจะกินยาประเภทใด ไม่ควรกินพร้อมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาดองต่างๆ เพราะแอลกอฮอล์จะไปเสริมฤทธิ์ของยาทำให้เป็นอันตรายได้

14. การใช้ยาภายนอกมีข้อควรปฏิบัติอย่างไร

ยาผิวหนังอาจเป็นน้ำ ครีม ผง หรือขี้ผึ้ง ก่อนใช้ยาประเภทนี้ต้องให้บริเวณผิวหนังที่จะทายาสะอาดเสียก่อน จึงทาหรือโรยยาลงไป ส่วนยาครีม ขี้ผึ้งให้ทาบางๆ การทาหนาๆ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ หรือแผลหายเร็วขึ้น ซ้ำเป็นการสิ้นเปลืองเสียอีก

ที่มา : ภญ.ชัยวรรณี เกาสายพันธ์ ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล