โรคมะเร็งผิวหนัง คือเนื้อร้ายที่เกิดบนผิวหนังและเยื่อบุ เนื่องจากความผิดปกติของการเจริญเติบโต และการแบ่งเซลล์ของผิวหนังและเยื่อบุ มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่
– มะเร็งผิวหนังชนิดเบเซลเซลล์ เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ
– มะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ มักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ
– มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นมะเร็งจากเซลล์เม็ดสี เมลานิน พบไม่บ่อย แต่มีความร้ายแรง เพราะสามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว
มะเร็งผิวหนังอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นช้าๆ และลุกลามเฉพาะที่ หรืออาจจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ส่วนมากจะพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี และพบในชายมากกว่าหญิง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
1.แสงอัลตราไวโอเลต (UVA,UVB) ดังนั้นผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด เล่นกีฬากลางแจ้ง ชอบอาบแดด จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง
2. เชื้อชาติ คนผิวขาว ผมสีบลอนด์ มีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ
3.มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
4. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน
5. ผิวหนังในบริเวณที่เคยได้รังสีรักษา
อาการที่ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
1.ดูบริเวณไฝที่เป็นว่ามีผื่นหรือก้อนที่โตเร็วกว่าปกติ หรือมีสีที่เปลี่ยนไป ขอบไม่เรียบ แตกเป็นแผล และมีเลือดออก
2.มีแผลเรื้อรังที่ไม่หาย
3.ผื่นเรื้อรัง
การตรวจวินิจฉัย
การรักษามะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุดคือการค้นพบตั้งแต่แรกเริ่ม โดยต้องสำรวจร่างตายตัวเองให้ทั่วซึ่งต้องใช้กระจกและมือช่วย ถ้ามีข้อสงสัย ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัย ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
การป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงแสงแดด ใช้ครีมกันแดด SPF > 15
2.หลีกเลี่ยงภาวะระคายเคืองผิวหนัง
การบำบัดรักษา
มะเร็งผิวหนังระยะเริ่มต้น ใช้วิธีการผ่าตัดก็สามารถหายขาดได้ แต่หากเป็นมะเร็งระยะกระจายหรือมะเร็งผิงวหนังเมลาโนมา หลังผ่าตัดอาจต้องมีการใช้การฉายแสงหรือเคมีบำบัดร่วมได้