การขับรถเป็นเวลานานๆก็ส่งผลต่อร่างกายทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยล้าทั้งยังส่งผลเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลัง เพราะการขับรถนานๆโดยเฉพาะคนที่ต้องขับรถนานเกินกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งมีความเสี่ยงของอาการปวดหลังส่วนล่างและกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า ดังนั้นการนั่งขับรถที่ถูกท่าก็จะช่วยบรรเทาอาการ ปวดหลัง
ปรับความเอียงของเบาะพิงหลัง
การขับรถยนต์ ควรเริ่มจากปรับเบาะให้ตรงก่อนแล้วค่อยๆปรับเอนเล็กน้อยเพื่อระยะห่างจากพวงมาลัยให้พอดีจะได้รู้สึกสบาย ไม่เกร็งจนเกินไป ประมาณ 110 องศา การเอนเบาะหรือตั้งเบาะตรงเกินไปก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง เริ่มต้นจากขยับแผ่นหลังและสะโพกให้แนบกับพนักพิงให้มากที่สุดจนรู้สึกกระชับเพื่อลดอาการเมื่อยล้า หากนั่งไม่เต็มเบาะก็จะทำให้เกิดอาการเกร็งและรู้สึกปวดเมื่อยหลัง สำหรับใครที่นั่งแล้วหลังไม่แนบชิดกับเบาะให้ใช้หมอนรองนั่งมารองกระดูกสันหลังส่วนล่างก็จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้เช่นกัน
การจับพวงมาลัย
การจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง มือขวาควรอยู่ตำแหน่งที่ 3 นาฬิกา และมือซ้ายอยู่ตำแหน่งเลข 9 นาฬิกา ระยะห่างจากพวงมาลัยต้องให้พอดีกับช่วงแขน โดยที่แขนของเราต้องไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป การนั่งใกล้พวงมาลัยจนเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อแขนตึงจนเกิดอาการเมื่อยล้าที่ช่วงหัวไหล่
ปรับระยะนั่ง
ควรปรับระยะห่างของเบาะให้พอดี เลื่อนเบาะให้เหยียบเบรคได้ถนัด การนั่งที่เหยียดขามากเกินไปจะทำให้ใช้ปลายเท้าเหยียบได้เท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อกระดูกสันหลังส่วนล่างทำให้โค้งมากจนเส้นประสาทที่หลังและขาตึงเกินไป จึงทำให้รู้สึกเมื่อยล้าและปวดหลังได้ และควรปรับระยะห่างของเบาะนั่งให้พอดีอย่าให้เข่างอมากจนเกินไป
ปรับความสูงต่ำของเบาะ
ระดับความสูงต่ำของเบาะเป็นสิ่งสำคัญเพราะหากคุณเป็นคนตัวสูงการนั่งอาจจะต้องโค้งงอตัวจนทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ซึ่งการปรับความสูงของเบาะควรให้ระยะห่างศีรษะกับเพดานเล็กน้อย
การปรับหมอนรองคอ
หมอนรองคอ เป็นสิ่งสำคัญเมื่อเกิดอุบัติเหตุสิ่งนี้จะช่วยลดแรงกระแทกและอาการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอและกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆนั้น โดยปรับให้อยู่ประมาณครึ่งของศีรษะแล้วพิงช่วงกลางหมอนให้พอดี