แผลจากการถูกงูกัดจะมี 2 แบบ คือ งูไม่มีพิษจะมีแต่รอยฟันไม่มีรอยเขี้ยว ส่วนงูมีพิษจะมีรอยเขี้ยวสองจุด ไม่ว่าจะงูมีพิษหรือไม่มีพิษก็ควรรีบทำการปฐมพยาบาล ซึ่งงูมีพิษที่มักพบเจอได้บ่อยๆ ได้แก่
งูที่มีพิษต่อระบบประสาท
พิษของงูจะมีผลต่อประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชาที่ริมฝีปาก มีน้ำลายมาก ตาพร่ามัว หนังตาตก พูดไม่ชัด เป็นอัมพาต หยุดหายใจ
- งูเห่า
- งูจงอาง
- งูสามเหลี่ยม
- งูทับสมิงคลา
งูที่มีพิษต่อระบบโลหิต
พิษของงูจะกระตุ้นหรือออกฤทธิ์ต่อระบบการกลายเป็นลิ่มของเลือด ทำให้เลือดไม่แข็งตัวและมีเลือดออกง่าย
- งูแมวเซา
- งูกะปะ
- งูเขียวหางไหม้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เวลาโดน งูกัด
- ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัด โดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือใช้น้ำเกลือล้างทันที
- ใช้ผ้ายืดหรือผ้าพันเคล็ดที่ยืดหยุ่นได้ เริ่มพันตั้งแต่รอยแผลงูขึ้นมาจนถึงข้อต่อของอวัยวะส่วนนั้นๆ หรือพันให้เหนือบาดแผลมากที่สุด
- ใช้ไม้กระดานหรือของแข็งๆ มาดามแล้วพันด้วยผ้าพันแผลอีกครั้ง เป็นการเข้าเฝือกชั่วคราว เพื่อแผลที่ถูกกัดจะได้เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
- ควรจัดท่า ให้อวัยวะที่ถูกงูกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ
- รีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
- ควรพยายามจดจำลักษณะของงู หรือถ่ายรูปมาให้แพทย์ดูเพื่อความถูกต้องในการรักษา
ภาพจาก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ข้อห้ามเมื่อถูกงูกัด
- ห้ามใช้ปากดูดแผล หรือ กรีดแผล หรือใช้ไฟจี้ เพราะจะทำให้แผลสกปรก และเกิดการเชื้อได้
- ไม่ควรใช้วิธีขันชะเนาะเพราะหากรัดแน่นและนานเกินไป จะทำให้เนื้อเยื่อตายขาดเลือดได้
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มสุราหรือยาที่มีสุราเจือปน
- ไม่ควรให้ยาแก้แพ้ต่างๆ
- ห้ามใช้น้ำแข็งหรือถุงประคบเย็นประคบที่บาดแผล
วิธีป้องกันการถูกงูกัด
- หากเจองูในระยะไกล อย่าเข้าใกล้งู พยายามรักษาระยะห่างไว้ อย่าไปไล่ตีเพราะเสี่ยงต่อการถูกงูกัดได้
- หากเจองูในระยะใกล้ ให้อยู่นิ่งๆรักษาระยะห่างไว้ รอให้งูเลื้อยหนีไป อย่าตีโดยไม่จำเป็นเพราะงูส่วนใหญ่จะทำร้ายเพื่อป้องกันตัวเอง
- ถ้างูไม่เลื้อยหนีให้ก้าวขาถอยหลังช้าๆ ออกมาประมาณ 2 เมตร
- หากต้องเดินเข้าป่าหรือทางที่รก ควรใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว รองเท้าบู๊ท และใช้ไม้แกว่งตลอดทางเพื่อที่งูจะได้หนีไป
- ไม่ควรเดินป่าในเวลากลางคืน หากจำเป็นควรมีไฟฉายก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้น