สมุนไพร บางชนิดเมื่อรับประทานร่วมกับยาจะส่งผลให้การดูดซึมของยาลดลง และทำให้ปริมาณยาในกระแสเลือดลดลงด้วย อีกทั้งยังส่งผลต่อการออกฤทธิ์ยาชนิดนั้นๆ อาจทำให้ยาออกฤทธิ์แรงกว่าปกติหรือยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการรับประทานสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันค่อนข้างมีความเสี่ยงจึงควรปรึกษาแพทย์หากต้องการทานสมุนไพรคู่กับยาแผนปัจจุบัน นี่คือ 5 สมุนไพรจากการรายงานว่าส่งผลต่อการรักษาหากรับประทานคู่กัน
5 สมุนไพร ที่ไม่ควรทานร่วมกับยา
แปะก๊วย
หากรับประทานแปะก๊วยคู่กับยาแผนปัจจุบันอย่าง แอสไพริน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดจะทำให้ลดการเกาะตัวของเลือด และ วาร์ฟาริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หากรับประทานคู่กับแปะก๊วยจะส่งผลให้มีโอกาสเลือดออกง่ายและแข็งตัวช้า เพราะในแปะก๊วยมีสารที่จะไปยับยั้งการเกาะของเกล็ดเลือด
กระเทียม
วาร์ฟาริน (Warfarin) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะทำให้มีโอกาสเลือดไหลออกไม่หยุด เพราะในกระเทียมมีสารอะไลซิน (Allicin) และ อะโจอีน (Ajoene) เป็นสารสำคัญในกระเทียมที่จะไปยับยั้งการเกาะกลุ่มของเลือด
ชาและชาเขียว
ไม่ควรรับประทานคู่กับ วาร์ฟาริน เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะส่งผลให้วิตามินเคในชาเขียว ต้านการออกฤทธิ์ของยา จึงทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร และไม่ควรรับประทานชาเขียวคู่กับ ยาบำรุงเลือด เพราะชาเขียวจะไปยับยั้งการดูดซึมของกรดโฟลิกทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่
โสม
ไม่ควรรับประทานคู่กับ อิมาทินิบ (Imatininib) ซึ่งเป็นยาต้านมะเร็ง จะส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้นและยังเป็นพิษต่อตับ และไม่ควรรับประทานโสมคู่กับ ฟิเนลซิน (Phenelzine) ยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งจะส่งผลอาการข้างเคียงของยา เช่น เพิ่มการกระตุ้นระบบประสาท
ชะเอม
ไม่ควรรับประทานคู่กับยาแผนปัจจุบันอย่าง เพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาต้านการอักเสบสเตียรอยด์ เพราะมีสารสำคัญอย่าง กลีเซอไรซิน ที่จะไปยับยั้งการทำงานที่ตับทำให้ยาอยู่ในร่างกายนานขึ้น และยังส่งผลข้างเคียงของยาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เช่น กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และกระดูกพรุน
อ้างอิงจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล