ผู้สูงอายุ

เตรียมกายและใจ ใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อจะเป็น ผู้สูงวัย ที่มีคุณภาพ

อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อประเทศไทยในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในขณะที่วัยแรงงานลดลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น “ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเข้ามารับผิดชอบดูแล…

Home / HEALTH / เตรียมกายและใจ ใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อจะเป็น ผู้สูงวัย ที่มีคุณภาพ

อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2564 ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อประเทศไทยในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในขณะที่วัยแรงงานลดลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น

“ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเข้ามารับผิดชอบดูแล และเชื่อมประสานระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเองชน และภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งประชากรไทยร้อยละ 40 ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และวัยแรงงานกว่า 15 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อการเกษียณยังมีเงินออมไม่มากพอ หลักประกันทางเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความไม่พร้อมจำเป็นต้องมีการผลักดันให้พร้อมรองรับสังคมสูงวัย” ข้อความดังกล่าวบอกเล่าโดย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ภายในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “สังคมสูงวัยไทย-ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล” (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand)

จากการพูดคุยกับ ‘ครูเล็ก’ ภัทราวดี  มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ ตัวแทนผู้สูงวัยที่มีพลังในโลกยุคดิจิทัล ครูเล็กเล่าว่า “พออายุถึง 60 ปี ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยการให้ความรู้และประสบการณ์ที่เรามีกลับคืนไปสู่เด็ก ๆ และคนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ถือว่าเป็นการพัฒนาตนเองไปอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งช่วงนี้เรามีเวลาและมีความพร้อม จึงสามารถนำความรู้กลับไปสู่คนอื่น ๆ ได้ เหมือนทดแทนบุญคุณแผ่นดิน”

‘ครูเล็ก’ บอกว่าการจะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีคุณภาพนั้น สิ่งที่ควรคำนึงคือ ความคิด ถ้าคิดว่าแก่แล้วไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีคุณค่า ก็จะเกิดการป่วยไข้และเป็นภาระของลูกหลาน ผู้ใหญ่ต้องคิดให้เป็นก่อนว่าตัวเองมีคุณค่า และทุกคนไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ทุกคนมีคุณค่า

“การเรียนรู้เพิ่มเติม แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับผู้คนที่หลากหลาย การเรียนมันจุดประกายให้ได้คิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง ถึงจะไม่ได้มากมายแต่ก็ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า”

 “เราต้องสร้างกำลังใจให้กับตัวเองด้วยความมุ่งมั่นที่ว่า เราจะอยู่บทแผ่นดินนี้อย่างมีคุณค่าต่อไป ต้องสร้างเอง คิดให้เป็น และหาวิธี ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ เราจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ และอย่าไปคิดถึงตัวเลข อย่าไปคิดว่าแก่แล้วปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ดูแลตัวเอง อย่าปล่อยสมอง ต้องทันสมัยทั้งสมองและความคิด” ครูเล็กได้พูดให้กำลังใจกับผู้สูงอายุที่หมดไฟ หรือกำลังมองข้ามคุณค่าของตนเอง

นอกจากแนวคิดการเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพของครูเล็ก ยังมีปัจจัย 4 ด้าน ที่ทุกคนควรเตรียมความพร้อมสู่วัยผู้สูงอายุก็คือ “สุขภาพดี มีเงินออม เตรียมพร้อมบ้านปลอดภัย เตรียมกายใจสู่วัยผู้สูงอายุ” ดังนี้

สุขภาพที่ดี

เพราะสุขภาพที่ดีจะทำให้เราเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยที่ไม่มีปัญหาทางร่างกายเป็นอุปสรรค

1. ดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย

2. รับทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม

3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

4. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป

5. หมั่นตรวจร่างกายประจำปี

– สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจร่างกายทุก 5 ปี

– ผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

6. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่

หากคุณไม่เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ อนาคตคุณอาจจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ – อัมพาต หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ อย่างแน่นอน

มีเงินออม การออมเงินในทุกช่วงวัยเป็นเป็นหลักประกันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

เทคนิคการออม

– ช่วงอายุก่อน 30 ปี เป็นช่วงที่มีโอกาสในการเก็บออมสูง จึงควรแบ่งเงินออมไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้

– ช่วงอายุ 30-40 ปี เป็นช่วงมีภาระค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นรอยต่อของชีวิตคู่และมีครอบครัว ควรแบ่งเงินออมไม่ต่ำกว่า 35% ของรายได้

– ช่วงอายุ 40-50 ปี เป็นช่วงวัยที่มีรายจ่ายค่อนข้างมากกว่าช่วงอื่น ๆ แต่ก็ควรแบ่งเงินออมไม่ต่ำกว่า 30% ของรายได้

– ช่วงอายุ 50-60 ปี เป็นช่วงวัยที่เหลือเวลาทำงานไม่นาน ควรเน้นการนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้ไปเก็บออม โดยควรแบ่งเงินออมไม่ต่ำกว่า 70% ของรายได้

– ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยเพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยว ควรแบ่งเงินออมไม่ต่ำกว่า 25 % ของรายได้

แม้วิธีการออมนี้อาจจะยาก เนื่องจากหลาย ๆ คนพบกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีค่อนข้างมาก มีรายได้เข้ามาก็ต้องมีเหตุให้จ่ายออกไป ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การควบคุมค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับที่เข้ามา เพื่อจะได้ไม่ติดลบ และมีเงินเหลือเก็บ

เตรียมพร้อมบ้านปลอดภัย

ทำไมต้องเตรียมพร้อมบ้านปลอดภัย ? เพราะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็มีการเสื่อมสภาพตามอายุด้วย อะไรที่เคยใช้ได้ดี เคยแข็งแรงก็จะลดประสิทธิภาพลง ดังนั้นการเตรียมพร้อมบ้านปลอดภัย เหมาะสมจนกระทั่งคุณเป็นผู้สูงอายุ จะทำให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น และลดการเกิดอุบัติเหตุ

ตัวอย่างการเตรียมบ้านให้ปลอดภัย

– หลีกเลี่ยงพื้นที่ต่างระดับ

– พื้นผิวไม่ลื่น

– ใช้สีที่ตัดกันเพื่อการมองเห็นที่ชัดเจน เช่น ขอบบันได ขอบโต๊ะ

– ทำราวจับหรือราวเกาะช่วยพยุงตัวบริเวณห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทางเดินไปห้องน้ำ และในห้องน้ำ

– ปรับขนาดความสูงของบันไดให้ไม่สูงและชัน มีชานพัก

เตรียมกายใจสู่วัยสูงอายุ

เตรียมใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อจะเป็นสูงวัยที่มีคุณภาพ

ด้านสุขภาพกาย ดูแลสุขภาพให้ดี อย่าปล่อยให้เจ็บป่วยเรื้อรัง สุขภาพช่องปากก็สำคัญ รักษาฟันและเหงือกให้ดี ดูแลเท้า ขา และหัวเข่าให้แข็งแรง เพื่อให้เดินได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

ด้านสุขภาพจิต ทำใจให้พร้อมเตรียมรับมือและยอมรับกับความเสื่อมของร่างกาย หมั่นทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน ศึกษาธรรมะหรือร่วมกิจกรรมทางศาสนา และรู้จักปล่อยวาง

ด้านสังคม เป็นผู้สูงวัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ ประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามวัย สภาพร่างกาย และนิสัยความชอบของตนเอง ไปร่วมกิจกรรม เช่น นันทนาการ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง การเป็นอาสาสมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ หรือทำงานอดิเรก การขยายวงสังคมช่วยให้ได้รู้จักเพื่อนต่างวัยก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้คลายเหงา มีชีวิตชีวามากขึ้น ทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอจะทำให้อายุยืน

การจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพได้นั้นเริ่มที่ตัวเรา ปรับเปลี่ยนความคิดสักนิด โดยเปลี่ยนจากความคิดที่ว่า เราควรใช้ชีวิตตามแบบฉบับผู้สูงอายุในตำรา เป็นการคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้นำแนวคิด การดำเนินชีวิต และประสบการณ์ของเราไปปรับใช้ มองว่าเราคือบุคคลหนึ่งที่พร้อมจะพัฒนาประเทศชาติไปพร้อม ๆ กับคนรุ่นใหม่เช่นกัน

………………………………………………………………………….

ข้อมูลจาก : แผ่นพับ “เตรียมความพร้อมไม่ต้องเดี๋ยว เผลอแป๊บเดียวก็สูงวัย” โดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “สังคมสูงวัยไทย-ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล” (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand)

ให้สัมภาษณ์โดย : ครูเล็ก ภัทราวดี  มีชูธน ศิลปินแห่งชาติและเจ้าของโรงละครภัทราวดี