ในปัจจุบันในประเทศไทยทางการแพทย์สามารถนำเอาอวัยวะและเนื้อเยื่อที่ได้รับบริจาคไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยได้สำเร็จ ทำให้หลายคนกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีผู้ป่วยรอ การปลูกถ่ายอวัยวะ เพิ่มมากขึ้นทุกปี การบริจาคอวัยวะและเนื้อเยื่อ 1 คน สามารถช่วยได้อีกหลายชีวิต เนื้อเยื่อที่สามารถนำมาปลูกถ่ายได้มีลิ้นหัวใจ เยื่อกระดูก ผิวหนัง กระจกตา หลอดเลือด เส้นเอ็น ส่วนอวัยวะสำคัญที่มีการปลูกถ่ายมากที่สุด ในช่วงปี 2537-2560 ได้แก่
อันดับที่ 1 ไต
การปลูกถ่ายไต เป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้องรังระยะสุดท้าย ซึ่งได้ผลดีกว่าการฟอกเลือดและการล้างไตทางช่องท้องด้วยน้ำยา โดยนำไตจากผู้ที่บริจาคนำมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายไตสามารถรับไตจากญาติร่วมสายเลือดกัน พี่น้อง พ่อแม่ ลูก ที่เต็มใจบริจาคไตข้างหนึ่งให้แก่ผู้ป่วย จึงไม่ต้องใช้เวลาในการรอการปลูกถ่ายไตนานเกินไป
อันดับที่ 2 ตับ
การปลูกถ่ายตับ เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยตับวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคตับแข็ง และ มะเร็งตับ โดยแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าหากให้การรักษาด้วยวิธีทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน จึงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับใหม่ เพราะเป็นการรักษาทางเดียวที่จะรักษาให้หายขาดได้
อันดับที่ 3 หัวใจ
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย การปลูกถ่ายหัวใจเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้าย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้จึงจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ นี่จึงเป็นวิธีสุดท้ายที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ผลจากการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจพบว่าผู้ป่วย 70-80% สามารถมีชีวิตได้เกิน 1 ปี และผู้ป่วย 60% สามารถมีชีวิตได้เกิน 5 ปี
อันดับที่ 4 ปอด
การปลูกถ่ายปอด คือการผ่าตัดปลูกถ่ายปอดบางส่วนหรือทั้งหมดให้แก่ผู้ป่วยที่มีสภาวะโรคปอด ซึ่งจำเป็นต้องรับการปลูกถ่ายปอดทั้งสองข้าง เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น การปลูกถ่ายปอด เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดระยะสุดท้าย หากไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนปอดก็จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่เกิน 6-12 เดือน
อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย