องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำปริมาณการบริโภคโซเดียมในอาหารไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ เทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือ น้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน แต่คนไทยรับประทานโซเดียมกันถึง 3,000-5,000 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งเกินกว่าค่ามาตราฐานไปมาก การกินเค็มมากๆจะทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไต
7 อาหารโซเดียมสูง ที่คุณควรหลีกเลี่ยง!!
อาหารกึ่งสำเร็จรูป
อาหารกึ่งสำเร็จรูปที่คนไทยนิยมมากที่สุด คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,200 มิลลิกรัมต่อซอง รองลงมาคือ ปลากระป๋อง การบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเลือดหัวใจตีบ
อาหารหมักดอง
อาหารหมักดอง แช่อิ่มต่างๆ เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงจึงควรหลีกเลี่ยง ผักกาดดอง 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมถึง 1,000 มิลลิกรัม อีกทั้งอาหารหมักดองยีงมีขัณฑสกรซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูก
อาหารแปรรูป
อาหารรมควันและแปรรูปต่างๆ เช่น แฮม ไส้กรอก แหนม ปลาร้า เนื้อเค็ม เนื้อแดดเดียว การรับประทานเบคอน 100 กรัม มีปริมาณโซเดียมถึง 662 มิลลิกรัม อาหารแปรรูปมีปริมาณโซเดียมมากจากเกลือ สารกันเสีย และสารปรุงแต่งรสต่างๆ จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เครื่องปรุงรส
คนไทยส่วนใหญ่บริโภคเครื่องปรุงทุกวันซึ่งเครื่องปรุงที่นิยมมากที่สุดคือ น้ำปลา รองลงมาคือ ซีอิ๊วขาว เกลือ กะปิ ซอสหอยนาง ซุปก้อน 1 ก้อน มีโซเดียมถึง 1,750 มิลลิกรัม และ น้ำจิ้มสุกี้เพียง 2 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียมถึง 500 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงควรชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง
อาหารที่มีผงฟู
คุกกี้ โดนัท เบเกอรี่ ขนมปังต่างๆมีผงฟูเป็นส่วนผสมซึ่งผงฟูมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
อาหารจานเดียว
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า อาหารจานเดียวที่เรารับประทานเป็นประจำมีโซเดียมต่อจานถึง 1,000-2,000 มิลลิกรัม ข้าวกะเพรา 1 จาน มีโซเดียมถึง 1,200 มิลลิกรัม และ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ 1 ชาม มีโซเดียม 1,400 มิลลิกรัม ดังนั้นในหนึ่งวันไม่ควรรับประทานอาหารจานเดียวทั้ง 3 มื้อ
ขนมกรุบกรอบ
เฟรนช์ฟรายส์ มันฝรั่งทอดกรอบ ขนมปังอบกรอบ มีส่วนประกอบเป็นโซเดียมที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงควรอ่านฉลากก่อนรับประทานเพื่อเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ