รู้จักวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องฉีด

จะเกิดอะไรขึ้นหากว่า เสียงฮัดชิ้ววววสลับกับเสียงไอบ่อยๆ ในวันนี้ของคุณ ไม่ได้นำไปสู่หวัด หรือไข้หวัดธรรมดา แต่กลับนำไปสู่ “โรคไข้หวัดใหญ่” สิ่งที่ตามมานอกจากการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว ถ้าไม่มีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อน การรักษาได้ผลก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาประกอบกับร่างกายอ่อนแอ โอกาสที่จะเสียชีวิตก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ดังรายงานล่าสุดจากสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค…

Home / HEALTH / รู้จักวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องฉีด

จะเกิดอะไรขึ้นหากว่า เสียงฮัดชิ้ววววสลับกับเสียงไอบ่อยๆ ในวันนี้ของคุณ ไม่ได้นำไปสู่หวัด หรือไข้หวัดธรรมดา แต่กลับนำไปสู่ “โรคไข้หวัดใหญ่” สิ่งที่ตามมานอกจากการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว ถ้าไม่มีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อน การรักษาได้ผลก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมาประกอบกับร่างกายอ่อนแอ โอกาสที่จะเสียชีวิตก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

ดังรายงานล่าสุดจากสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2562 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ 211,551 ราย มีผู้เสียชีวิตถึง 16 ราย ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาและสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังถึง 5 ปี โดยช่วงอายุที่พบอัตราการป่วยมากที่สุดคือ เด็กอายุ 5-9 ปี 

อย่างไรก็ดี แม้ไข้หวัดใหญ่จะมีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดมาก เช่น ฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี  

อ่านเพิ่ม: ไข้หวัดใหญ่คืออะไร

ทำไมไข้หวัดใหญ่จึงรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา 

แม้จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) เช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล  แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A/H1N1 หรือไข้หวัดหมู ไวรัสสายพันธุ์นี้คนส่วนมากยังไม่มีภูมิคุ้มกันอีกทั้งยังสามารถระบาดได้ในวงกว้าง นอกจากนี้ยังพบไวรัสสายพันธุ์ A/H3N2 และสายพันธุ์ B Yamagata และ B Victoria อีก รวมทั้งสิ้น 4 สายพันธุ์หลักๆ 

ไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดามาก อาการแสดงสำคัญ ได้แก่ มีไข้สูง บางรายอาจมีอาการหนาวสะท้าน ปวดศีรษะ ไอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ที่น่ากลัวที่สุดและเป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียชีวิตคือ “ภาวะแทรกซ้อนของโรค” เช่น โรคปอดอักเสบ โรคสมองอักเสบ 

นอกจากวิธีป้องกันตนเองด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคไข้หวัด พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็เป็นอีกวิธีที่ดี แม้ว่าจะสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 70-80% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้มาก

อ่านเพิ่ม: คู่มือโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu) ฉบับสมบูรณ์

ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน -2 ปี
  • ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  • ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจ ไตวาย และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด  
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยโรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม) 
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

นอกจากกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่มนี้แล้ว ยังแนะนำให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางบ่อย ผู้ที่ต้องไปโรงพยาบาล หรือ

คลินิกบ่อยๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้ว โดยกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่ม และคนกลุ่มหลังที่กล่าวถึงนี้ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกๆ ปี

อ่านเพิ่ม: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดหรือไม่ เมื่อไหร่ถึงควรไปรับวัคซีน

ใครบ้างที่ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • ผู้ที่มีไข้ หรือเจ็บป่วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าอาการจะหายดี
  • ผู้ป่วยที่มีอาการโรคประจำตัวกำเริบ
  • ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง 
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ หรือแพ้ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนชนิดนี้ผลิตจากไข่ไก่ 

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ หรือปวดเมื่อยตามเนื้อตัว 

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 นาทีหลังจากฉีด หรือบางรายอาจใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงจึงเกิดอาการ อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้ควรหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน แต่หากมีความผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจไม่สะดวก หายใจเสียงดัง หัวใจเต้นเร็ว ควรรีบไปพบแพทย์

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ไวรัสอินฟลูเอนซามีการเปลี่ยนแปลงด้านพันธุกรรมตลอดเวลา การผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ออกมาในแต่ละปีจึงต้องมีความสอดคล้องกับชนิดของไวรัสที่แพร่ระบาดในช่วงนั้นๆ ด้วย ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพจึงควรฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกๆ ปี ปีละ 1 ครั้ง นั่นเอง 

การตัดสินใจฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แม้จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความพร้อมของแต่ละบุคคล แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะดีที่สุด 

หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422  

หากต้องการฉีดวัคซีน เปรียบเทียบราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากคลินิกและโรงพยาบาลชั้นนำ และรับส่วนลดพิเศษเมื่อซื้อดีลผ่าน HonestDocs พร้อมทีมงานคอยดูแลและจองคิวให้ทุกวัน 09.00 – 00.00 น.

ที่มา

HonestDocs คุณหมอมือถือ