ผักผลไม้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่สำหรับ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาหารบางอย่างอาจก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
โรคเบาหวาน
ผลไม้แม้จะมีใยอาหารมากแต่ผลไม้บางชนิดก็มีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน องุ่น ลำไย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด น้อยหน่า ในเพียงลูกพลับ 1 ลูก มีปริมาณน้ำตาล 6 ช้อนชา อีกทั้งเครื่องดื่มน้ำหวานต่างๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง เช่น น้ำอัดลม กาแฟเย็น ชาเย็น โกโก้เย็น แค่ชาไข่มุก 1 แก้ว ก็ปริมาณน้ำตาลมากถึง 11 ช้อนชา
โรคไต
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีกรดอ็อกซาลิกและโพแทสเซียม
- กรดอ็อกซาลิกสูง สารชนิดนี้เมื่อไปจับกับแคลเซียมจะตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไต ทำให้เกิดเป็นนิ่วอุดตันทางเดินปัสสาวะได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง แครอท ผักโขม ผักแพว ปวยเล้ง ใบชะพลู มันสำปะหลัง กระเทียม
- โพแทสเซียม เมื่อไตทำงานลดลงการขับโพแทสเซียมทางปัสสาวะก็จะลดลงตามไปด้วย จึงทำให้เกิดการสะสมของโพแทสเซียม ดังนั้นถ้าหากร่างกายได้รับปริมาณโพแทสเซียมมากเกินไปก็จะส่งผลให้ไตทำงานหนัก ผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ทุเรียนก้านยาว มะพร้าว อะโวคาโด ขนุน ขี้เหล็ก น้ำลูกยอ มันสำปะหลัง ใบชะพลู ผักโขม
โรคธาลัสซีเมีย
เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องถ่ายเลือดและใช้ยาขับเหล็กไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง ใบตำลึง ใบแมงลัก ใบเพรา ยอดกระถิน ผักเม็ก ดอกโสน มะเขือพวง ใบย่านาง ยอดขี้เหล็ก ผักกระเฉด ยอดตำลึง ผักแพว
โรคกระเพาะอาหารและลำไส้
ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารควรระมัดระวังการรับประทานพริก เพราะในพริกมีสารแคปไซซินซึ่งจะทำให้เกิดความเผ็ดร้อน แสบท้อง ระคายเคือง จนอาจนำไปสู่กระเพาะอักเสบ ยิ่งโดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารอาจยิ่งส่งผลให้อาการแย่ลง