นิโคลัส เกตุศร นักวิจัยและผู้ก่อตั้ง บริษัท ยาเบซ จำกัด
จากนักศึกษาปริญญาโท คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี นิโคลัส เกตุศร ผันตัวเอง
สู่การเป็นนักวิจัยและผู้คิดค้นตำรับยาสมุนไพรรักษาโรคสะเก็ดเงิน ก่อตั้งเป็นบริษัทเภสัชกรรม
ความสำเร็จของเขาคือความหวังของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่ไม่ต้องการใช้สเตียรอยด์ในการรักษา
และสามารถใช้ยาและเวชสำอางนี้ได้ในระยะยาวโดยเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
“เราศรัทธาในสิ่งที่เราคิดและต้องการจะช่วยเหลือผู้คน ผู้ป่วยสะเก็ดเงินคิดเป็น 2% ของจำนวนประชากรไทยซึ่งนับว่าไม่น้อยเลย แต่เขาแอบซ่อนปิดตัวเองจากสังคม จากคนที่เป็นญาติพี่น้อง
เขาต้องทนทรมานทั้งร่างกายจิตใจแค่ไหน พอทดลองเอายาไปแจก ทุกคนก็จะมหัศจรรย์ใจมากเลย ทำไมดีอย่างนี้ ทำให้รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว เขาอาจจะไม่ได้ป่วยตาย แต่เขาเสียครอบครัว
ถูกสามีทิ้ง ถูกภรรยามองข้าม ถูกเพื่อนรังเกียจ โรคผิวหนังอาจไม่ได้ทำให้ใครเสียชีวิตแต่การตายทั้งเป็นทรมานที่สุด คนไข้พูดกับเราว่าหมอรู้ไหมคนที่ตายทั้งเป็นมันทรมานจริงๆ คือแรงขับให้เราสู้ต่อ”
ปัญหาที่ชัดเจนนำไปสู่จุดเริ่มต้นที่แน่ชัด
เพราะคลุกคลีอยู่ในแวดวงของโรคผิวหนังทำให้เห็นปัญหาของผู้คนในสังคมอย่างชัดเจนเกี่ยวกับ
ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน และการได้มองเห็นก็เพียงพอแล้วที่จะผลักดันให้นิโคลัสผู้ซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยลุกขึ้นมาลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง
“ครอบครัวของผมเปิดคลินิกผิวหนังอยู่ที่จังหวัดระยอง วันหนึ่งมีน้องฝึกงานตั้งข้อสังเกตกับผมว่า ทำไมคนระยองเป็นสะเก็ดเงินกันเยอะจัง ปกติน่าจะเป็นเคสหายากมากกว่า ผมก็รู้สึกเหมือนกันว่า ทำไมเป็นกันเยอะ สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากมลภาวะ สิ่งกระตุ้นรอบข้าง ทำให้แม้แต่คนที่อายุน้อยก็ยังเป็น และปัญหาที่มากกว่านั้นคือคนไทยเข้าถึงยาสเตียรอยด์ง่ายเกินไป ทำให้หาซื้อมาใช้จนเกิดการดื้อยา และจังหวะตอนนั้น ได้ยินได้ฟังมาว่า แพทย์แผนไทยรักษาโรคสะเก็ดเงินได้ ผมก็เลยสนใจในแพทย์แผนไทย แล้วจังหวะที่เรากลับมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ คิดว่าเราน่าจะหาตำรับยานี้ได้ ปรากฏว่าไม่มีตำรับยาอย่างที่คิด เพราะคนที่เรียนแผนไทยมาตั้งแต่ต้นเน้นปรับสมดุล ปรับธาตุ ดินน้ำลมไฟ ขณะที่เราไปหาตำรับยา ไปค้นจนไปพบตำรับยาที่พูดถึงโรคสะเก็ดเงินก็เป็นจุดเริ่มต้นในการคิดค้นยาทาสำหรับรักษาโรคสะเก็ดเงิน”
ศรัทธานำทาง
การเป็นสตาร์ทอัพโดยเฉพาะการคิดค้นตำรับนับเป็น Deep Tech ซึ่งมีความยากและความท้าทายที่ซับซ้อนไปอีกระดับ เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตคน ความเจ็บปวดของการสร้างฝันทางธุรกิจไม่ใช่เพียงความเหน็ดเหนื่อยแต่คือแรงกดดันและสายตาของคนรอบข้าง โดยเฉพาะเมื่อโดนกล่าวหาว่า
‘หลอกลวง’ มีเพียงศรัทธาและความเชื่อมั่นที่ทำให้ยังคงฝ่าฟันถึงทุกวันนี้
“คนไม่ได้อยู่ในวงการการแพทย์ไม่เข้าใจนะว่าเราทำอะไร แล้วก็มาหาว่าเราหลอกลวง ทั้งที่จริงๆ
เราเจ็บปวดมากเลย การเป็นสตาร์ทอัพต้องมีช่วงเวลาคลุกฝุ่น ชีวิตคนเรามันมีปัญหาอยู่แล้ว
ยิ่งระหว่างที่เรากำลังทำอะไรบางอย่างแล้วมาเจอโควิด-19 เป็นเวลาที่เราต้องระดมทุน การเป็น Deep Tech ไม่มีเงินไปต่อไม่ได้ การผลิตยาหนึ่งตัวต้องใช้เงินเป็นหลักล้าน เราต้องสู้จริงๆ คนไข้คนหนึ่งของผมเป็นนักแสดงนักร้อง นับจากวันที่เขาเป็นโรคนี้ เราไม่เคยได้ยินเสียงของเขาอีกเลย
ซึ่งกรณีนี้เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้ผมไม่หยุด ผมเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ รู้สึกว่าสะเก็ดเงินไม่ธรรมดาละ พอเราเริ่มอินกับปัญหาก็เริ่มหาทางออก ในการแก้ปัญหา ไหนๆ ก็สนใจเรื่องนี้แล้ว
เรียนต่อเลยดีกว่า กระทั่งสู่การเป็นสตาร์ทอัพ”
ความอดทนนำสู่ความสำเร็จ
“ทุกอย่างผมว่าต้องมาจากความมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในสิ่งที่เราทำอยู่ อดทนให้ได้ ฟังให้เยอะ
บางคนอาจบอกว่าผมมีบุคลิกที่รุนแรงไม่ฟังใคร จริงๆ ฟังนะครับ แต่เป็นคนที่เถียงเก่ง เพราะเราอยากจะรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังเตือนเรามันจริงหรือเปล่า ถ้าจริงเราจะได้ปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งเราแฮปปี้มาก
บางครั้งเราเหนื่อย เราอยากปล่อยมือให้คนที่มีศักยภาพกว่าเข้ามาทำดีมั้ย แต่ส่วนหนึ่งของกำลังใจมาจากอาจารย์ที่ปรึกษา ดร.วัฒนา ไชยวัตน์ เวลาท่านเห็นเราท้อมาก ท่านก็ส่งคลิป บทสัมภาษณ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่คิดค้นวัคซีนมาให้ แล้วก็บอกว่าเห็นมั้ยเค้าถูกปฎิเสธจากหน่วยทุนสามสิบครั้ง ผมไม่เห็นคุณถูกปฏิเสธจากหน่วยทุนสักครั้งเดียวเลย เธอเขียนขออะไรเธอก็ได้
เธอจะท้อทำไม ตั้งใจทำให้สำเร็จลูก อดทนอีกหน่อย ไม่ต้องไปมองเพื่อนฝูงจะร่ำรวยยังไง เราทำให้มันสำเร็จ ท่านเป็นผู้ปลอบประโลมและคอยฉุดเราขึ้นมายามเราท้อ เป็นเหมือนเสาหลักให้ความมั่นคงทางจิตใจแล้วก็ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ใช่หรือไม่ใช่ เตือนเราเสมอว่าไหนเธอบอกไง
ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นผลิตภัณฑ์แรกของประเทศไทยที่จะทำให้คนอื่นเดินตามว่าทำอย่างไร
จะทำให้ยาไทยของเราไปถึงสากลได้สักที นี่คือสิ่งที่เราอยากจะทำและจะทำให้ได้”
สำคัญที่สุดคือ…Know How & Know Why
ใครจะนิยามตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจหรือเจ้าของบริษัทก็สุดแท้แต่ใจ แต่นิโคลัสเขายังเป็นเพียงนักวิจัยที่ทำหน้าที่ค้นคว้า เรียนรู้ ลองผิดลองถูกอยู่เสมอ และสำคัญที่สุดคือหน้าที่ในการดูแลรักษาความรู้และตำรับยาที่เขาบุกป่าฝ่าดงไปค้นหาสมุนไพร หมั่นเพียรจนอ่านตำราของไทยได้ จนมาถึงวันที่กำลังจะพาตัวเองไปสู่ระดับสากล
“ตอนนี้ก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิจัยครับ ส่วนบริษัทเองก็มีการปรับคอนเซ็ปต์ให้เป็นบริษัทยาและเวชภัณฑ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์การดึงมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติของเมืองไทยมาใช้รักษาและทำให้ผู้ป่วยโรคผิวหนังมีชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากทางนักลงทุนมองว่า ถ้าเป็นแผนไทยมากกลัวจะเป็น
พรมน้ำหมากราดน้ำมนต์ และในขณะที่เราจะไปต่อในระดับสากลก็อาจจะทำได้ยากแทนที่จะพูดว่าเป็นสมุนไพรเราก็พูดถึงธรรมชาติแทน
นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทพยามติดต่อขอซื้อสิทธิบัตร แต่ผมก็จะนึกถึงอาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นคนพูดจาค่อนข้างรุนแรงที่ตอนแรกผมไม่ชอบท่านเลย โกธรมากตอนท่านบอกว่า อย่าขายนะ ถ้าขายก็โง่ แต่จริงๆ ครับ คำนั้นเข้ามาในหัวตลอด และก็ยังมีคำพูดของอาจารย์ท่านที่บอกว่า อาจจะมีคนมาหยิบตำรับยาคุณได้ แต่เขาไม่รู้หรอกว่าคุณได้สมุนไพรต่างๆ มาจากไหน
คุณได้มายังไง คุณมีวิธีการอย่างไร นั่นคือ Know how และ Know why ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด”
พร้อมหรือยังกับชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาล
ไม่เคยมีสตาร์อัพรายใดที่บอกว่าเส้นทางสายนี้ง่ายดายและไม่ต้องพยายาม แต่อาจจะยากยิ่งกว่าเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่การเป็น Deep Tech ที่ไม่ใช่เพียงแค่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ แต่คือการทุ่มเทหมดทั้งชีวิตและเวลาของตัวเองเพื่อสร้างธุรกิจ และไม่มีทางที่จะกล้าคิดถึงวันที่จะล้มเลิก
“Deep tech ต้องใช้ทีมงานหลายคน ร้อยพ่อพันแม่ หลายช่วงวัย หลายเจนเนอเรชั่น ย่อมมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น เราเป็นผู้ก่อตั้งก็ต้องเปิดใจว่า ทุกคนผิดได้ พลาดได้ การเป็นเจ้าของกิจการจะเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอด เพราะชีวิตเราคือธุรกิจ ชีวิตเราคือสตาร์ทอัพ เราจะไม่มีวันหยุดอีกต่อไป
เราจะมีเวลาของเราก็คือเวลาของสตาร์ทอัพ เราพร้อมไหมที่จะเข้ามาสู่ชีวิตใหม่ ชีวิตที่จะสู้เหมือนเกิดใหม่แล้วไม่ได้เป็นพนักงานกินเงินเดือน ไม่ได้เป็นหมอที่เข้าเวร ไม่ได้เป็นอาจารย์ที่สอนตามตาราง แต่เราต้องเป็นคนๆ หนึ่งที่ล้มลุกคลุกคลาน เราต้องพร้อมที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมาโดยที่เราจะไม่ทอดทิ้งธุรกิจของเรา เพราะเรามีความเชื่อมีความมุ่งมั่นต่อให้เปอร์เซ็นต์ความอยู่รอดน้อยมากเราก็ต้องสู้จนถึงที่สุด”
ดูรายละเอียดของ Yabez เพิ่มเติมได้ที่ https://yabezlab.com และ https://www.facebook.com/yabezlab/
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)