กัญชาทางการแพทย์

แอ๊บป้าสนับสนุนทุน ม.พายัพกว่า 71 ล้านบาท สร้างศูนย์วิจัยกัญชา และพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักศึกษา ตั้งเป้าไทยเป็น Hub ของโลก

แอ๊บป้า อินดัสตรีส์ ร่วมกับ ม.พายัพ เปิดศูนย์วิจัยการผลิตสารออกฤทธิ์จากกัญชาและพืชสมุนไพร ณ มหาวิทยาลัยพายัพ ภายหลังสนับสนุนทุนกว่า 71 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการวิจัย “การผลิตและการใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร…

Home / HEALTH / แอ๊บป้าสนับสนุนทุน ม.พายัพกว่า 71 ล้านบาท สร้างศูนย์วิจัยกัญชา และพัฒนาหลักสูตรสำหรับนักศึกษา ตั้งเป้าไทยเป็น Hub ของโลก

แอ๊บป้า อินดัสตรีส์ ร่วมกับ ม.พายัพ เปิดศูนย์วิจัยการผลิตสารออกฤทธิ์จากกัญชาและพืชสมุนไพร ณ มหาวิทยาลัยพายัพ ภายหลังสนับสนุนทุนกว่า 71 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการวิจัย “การผลิตและการใช้สารสกัดจากกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพร ด้วยเทคนิคไบโอรีเอ็คเตอร์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ยารักษาโรคและเครื่องดื่ม” โดยได้ปรับปรุงอาคารวิวรณ์ มหาวิทยาลัยพายัพ เพื่อทำเป็นศูนย์วิจัยฯ ซึ่งประกอบด้วยห้องปฏิบัติการชีวภาพของกัญชา (Bioreactor) ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชกัญชาและสมุนไพร และห้องปฏิบัติการสนับสนุนการเรียนการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชากัญชาศาสตร์และพืชสมุนไพรเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินงาน 7 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566-ปี พ.ศ.2573 ) ตั้งเป้าให้ไทยเป็น Hub ของกัญชา กัญชง กระท่อม พืชสมุนไพรของเอเชียและของโลก

นายประพนธ์ กุลไพศาล ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ๊บป้า อินดัสตรีส์ จำกัด กล่าวว่า แอ๊บป้าฯ เป็นผู้นำธุรกิจ OEM บรรจุภัณฑ์ปฐมภูมิด้านเวชภัณฑ์ มานานกว่า 59 ปี เรามีพันธกิจในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนหรือ Sustainability สำหรับประเทศไทย จึงเป็นที่มาของความร่วมมือเข้าเป็นหน่วยงานภาคีร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ นำโดย อาจารย์อภิชา อินสุวรรณ อธิการบดี ในการสร้างบุคลากรและงานวิจัยที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป ด้วยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ ในโครงการการผลิตสารออกฤทธิ์จากเซลล์ของกัญชากัญชงและพืชสมุนไพรอื่นๆ  โดยปฏิกรณ์ชีวภาพสำหรับใช้ในทางการแพทย์ อาหารเสริม เครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม ในงบประมาณมูลค่ากว่า 71 ล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งสายพันธุ์ที่เหมาะสม และสารสกัดสำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคและนำมาเป็นส่วนประกอบในทางการแพทย์ทางเลือก รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทุกระดับได้รับประโยชน์ โดยมีรูปแบบกระบวนการพัฒนาแบบครบวงจร อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านวิชาการ ระบบบริการสุขภาพและการวิจัยที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาเพื่อให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยในครั้งนี้

คุณศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ให้เกียรติเยี่ยมชมศูนย์วิจัย RPAH

“ทุนดังกล่าวยังได้ช่วยสนับสนุนการวิจัยในการสร้างห้องปฏิบัติการ จัดหาเครื่องวิเคราะห์ เครื่องมืออันทันสมัย มีมาตรฐานสูง จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนทุนการศึกษานักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในสาขากัญชาศาสตร์และพืชสมุนไพรเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเพื่อพัฒนาบุคลากรให้ได้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ในการนำไปปฏิบัติเห็นผลได้จริงตามความมุ่งหมาย โดยมีความคาดหวังในอนาคตว่า หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ และศูนย์วิจัยแห่งนี้ จะเป็นศูนย์ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์ม ยิ่งไปกว่านั้นบุคลากรและองค์ความรู้จากความร่วมมือในโครงการนี้จะได้คุณประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายและส่งออกไปต่างประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจระดับประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็น Hub ของกัญชา กัญชง กระท่อม และพืชสมุนไพรของเอเชีย และของโลก ตามนโยบายของภาครัฐบาลครับ” นายประพนธ์กล่าว

ทางด้าน ดร.ธนะชัย พันธ์เกษมสุข หัวหน้าโครงการวิจัย มหาวิทยาลัยพายัพ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยการผลิตสารออกฤทธิ์จากกัญชาและพืชสมุนไพร (RPAH) แห่งนี้จะดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยการผลิตสารออกฤทธิ์จากกัญชาและพืชสมุนไพรด้วยเทคนิคไบโอรีเอ็คเตอร์ คือการเลี้ยงเซลล์กัญชาและพืชสมุนไพรภายในหม้อปฏิกรณ์ชีวภาพ จากนั้นจะปรับสภาพแวดล้อมและสูตรอาหารให้เหมาะสมกับการสร้างสารออกฤทธิ์ที่ต้องการจากเซลล์กัญชาและพืชสมุนไพรที่เลี้ยงไว้ วิธีการนี้จะทำให้ได้ผลผลิตที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนของสารพิษ และยังสามารถควบคุมชนิดและปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่ต้องการได้อีกด้วย นอกจากนี้ประโยชน์ของการผลิตสารออกฤทธิ์ของกัญชาและพืชสมุนไพรโดยเทคนิคไบโอรีเอ็คเตอร์ยังสามารถลดระยะเวลาในการผลิต กำหนดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่แน่นอน และขั้นตอนการปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวและหลังการเก็บสามารถกระทำได้ง่ายกว่าการปลูกพืชเป็นต้นแบบเดิม สามารถลดแรงงานที่ใช้ในการผลิต และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนากัญชากัญชงและพืชสมุนไพรอื่น เพื่อใช้ในทางการแพทย์เป็นหลัก โดยมีการศึกษาค้นคว้าและวิจัยอย่างเป็นระบบครบ กระบวนการเริ่มจากต้นน้ำ ซึ่งครอบคลุมกระบวนการเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ช่วงกลางน้ำที่ครอบคลุมการแปรรูปวัตถุดิบ สู่ช่วงปลายน้ำเพื่อนำผลิตภัณฑ์กัญชง กัญชา และพืชสมุนไพร ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยพายัพยังได้เปิดสอนหลักสูตรสอนนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชากัญชาศาสตร์และพืชสมุนไพรเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเรียนรู้ด้านกัญชาครบวงจร อีกทั้งยังเป็นการผลิตนักวิจัยและนักพัฒนาที่มีความรู้ความสามารถและทักษะด้านการวิจัยชั้นสูง สามารถนำความรู้และประสบการณ์ออกไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้จัดการฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการด้านนวัตกรรมการเกษตรในสังกัดของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาและสมุนไพรด้านอาหารและยา ข้าราชการ และ นักวิชาการเกษตร