ตามปกติแล้ว วิตามินบี เป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงต้องได้รับจากการรับประทานอาหารเข้าไปเท่านั้น ซึ่งแหล่งอาหารที่มีปริมาณวิตามินบีสูง ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ถั่ว รำข้าว ยีสต์ เครื่องในสัตว์ ตับ เนื้อหมู ปลา นมเปรี้ยว และผักใบเขียว เป็นต้น อีกทั้งการเลือกรับประทานข้าวขาวขัดสีเป็นหลัก ประกอบกับการหุงต้ม ยังทำให้วิตามินบีในอาหารสูญเสียไปถึงร้อยละ 10–50 นั่นจึงส่งผลให้เรามีโอกาสขาดวิตามินบีมากขึ้นอีกด้วย
จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่า Vitamin B มีความจำเป็นต่อร่างกายมาก เพราะเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ของปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่างๆ มากมาย หรือเข้าใจง่ายๆ คือ ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเป็นปกติ จึงไม่แปลกที่การขาดวิตามินบี จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะกับผิวหนัง เส้นผม สายตา ตับ และระบบประสาท นอกจากนั้น วิตามินบียังมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตและกระบวนการสร้างเม็ดเลือดเพื่อนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ได้อย่างทั่วถึงด้วย
วิตามิน บี 1 (ไธอะมีน) มีส่วนช่วยสร้างสารสื่อประสาท และเป็นวิตามินต้านความเครียดที่ช่วยดึงสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไปเผาผลาญให้เป็นพลังงานของร่างกายในการจัดการสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน และยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ
การขาดวิตามินบี 1 อาจทำให้เกิดโรคเหน็บชา แขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย และเกิดความรู้สึกสับสนได้
วิตามิน บี 2 (ไรโบฟลาวิน) มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับสารต้านอนุมูลอิสระ โดยป้องกันเซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่ให้ถูกทำร้าย และช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตให้เป็นปกติมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ต่างๆ
การขาดวิตามินบี 2 จะทำให้เกิดแผลที่มุมปากหรือโรคปากกระจอก
วิตามิน บี 3 (ไนอะซิน) เป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางชีวเคมีมากกว่า 50 ปฏิกิริยา สามารถช่วยในการรักษาอาการเครียดและซึมเศร้า ช่วยส่งเสริมการไหลเวียนโลหิต และบรรเทาอาการปวดไมเกรน
การขาดวิตามินบี 3 จะทำให้เกิดโรค Pellagra ทำให้มีอาการผิวหนังอักเสบคล้ายถูกแดดเผา ปากลิ้นอักเสบ เบื่ออาหาร หงุดหงิด กังวล และเป็นโรคซึมเศร้าได้
วิตามิน บี 5 (แพนโทธีนิก แอซิด) มีความจำเป็นต่อปฏิกิริยาชีวเคมีต่างๆ ในเซลล์ ช่วยกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนลดเครียดออกมาทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
การขาดวิตามินบี 5 จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ไม่มีแรง นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย เป็นลม ปวดตามแขนและขา การสร้างแอนติบอดีลดลงและติดโรคง่าย มีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย หรือซึมเศร้า
วิตามิน บี 6 (ไพริดอกซิน) มีความจำเป็นต่อการทำงานของสมอง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ทำให้การย่อยอาหาร การดูดซึมของไขมันและโปรตีน การสร้างระบบภูมิต้านทานในร่างกายเป็นปกติ ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนให้เป็นปกติจากการกระตุ้นสมองให้หลั่งสารผ่อนคลายที่สำคัญ เช่น สารเซโรโทนิน เมลาโทนิน และนอร์เอพิเนฟริน ซึ่งมีส่วนช่วยลดความแปรปรวนทางอารมณ์
การขาดวิตามินบี 6 จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ซึมและความคิดสับสน คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังบริเวณรอบๆ ตา จมูก ปากและหลังหูจะมีลักษณะเป็นมัน
วิตามินบี 7 (ไบโอติน) ช่วยในการสร้างพลังงาน การเจริญเติบโต และการสร้างกรดไขมันในร่างกาย มีส่วนช่วยกักเก็บสารอาหารประเภทโปรตีนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ เช่น เส้นผม ผิวพรรณ และเล็บให้มีสุขภาพดี
การขาดวิตามินบี 7 จะทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ลิ้นอักเสบ ผิวหนังซีด แห้ง และหลุดออกเป็นหย่อมๆ มีอาการซึมเศร้า
วิตามินบี 8 (อินโนซิทอล) ช่วยในปฏิกิริยาชีวเคมีของไขมัน ทำให้ร่างกายใช้ไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ช่วยเสริมอาหารให้แก่สมอง
การขาดวิตามินบี 8 จะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ผิวหนังอักเสบ บวมแดง คัน และผิวหนังหลุดลอกเป็นขุย
วิตามินบี 9 (โฟลิก แอซิด) ทำงานร่วมกับวิตามินบี12 ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง บรรเทาอาการหมดแรง หงุดหงิดง่าย ปวดศรีษะ อาการหลงลืม ช่วยป้องกันอาการหน้ามืดจากภาวะโลหิตจาง ลดอาการซึมเศร้าจากการตั้งครรภ์ รวมถึงช่วยเสริมสร้างระบบประสาทและสมองของลูกน้อยในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่สมบูรณ์อีกด้วย
การขาดวิตามินบี 9 จะทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้
วิตามินบี 11 (โคลีน) ช่วยในการสร้างสารอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญในสมอง
การขาดวิตามินบี 11 อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ผนังหลอดเลือดแดงแข็งตัว ไขมันสะสมที่ตับ
วิตามิน บี 12 (โคบาลามิน) ช่วยการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ประสาท เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือด และช่วยการดูดซึมของทางเดินอาหาร
การขาดวิตามินบี 12 จะทำให้โลหิตจาง อ่อนเพลีย เกิดความบกพร่องของระบบประสาท ชาตามปลายมือปลายเท้า และความจำเสื่อมได้
อ้างอิงข้อมูลจาก เภสัชกรหญิงวิชชุลดา ผรณเกียรติ์