กลางวันเครียดงาน กลางคืนทั้งเศร้าทั้งเหงา เรียกได้ว่า ชีวิตติดดราม่า เป็นคนที่คิดมากแบบขั้นสุด! เก็บทุกเรื่องมาคิดก่อนจะเข้านอน แล้วตอนไหนกันล่ะที่จะได้สัมผัสกับความสุขบ้าง ไม่เอาแล้ว! ไม่อยากจะจมจ่อมกับความรู้สึกแย่ๆ แบบนี้! มาดูกันว่าควรเลี่ยงอะไรบ้าง จะได้หลุดพ้นจากความดราม่าสักที!
นิสัยคิดมาก ผู้หญิงและผู้ชาย ปฏิกิริยาตอบสนองต่างกัน
ผลงานวิจัยบางส่วนคาดว่า นิสัยคิดมากของผู้หญิงอาจเป็นปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความเศร้า ส่วนในผู้ชายมักเกิดจากการตอบสนองต่อความรู้สึกโกรธ
5 ปัจจัยที่ทำให้เป็นคนมี นิสัยคิดมาก
- บุคลิกภาพเฉพาะตัว : เช่น นิยมความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) บุคลิกภาพที่มีความหวั่นไหวทางอารมณ์สูง (Neuroticism) หรือจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป เป็นต้น
- อดีตที่บอบช้ำ : คุณอาจจะเคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจ สร้างความทรงจำที่ไม่ดีสักเท่าไรในชีวิตที่ผ่านๆ มา
- เข้าใจว่ายิ่งคิดมากอาจจะยิ่งดี: คนที่มีนิสัยคิดมากในบางคน อาจจะเข้าใจว่าการคิดมาก ช่วยให้เขาได้ตระหนักรู้ในบางเรื่อง หรือบางสถานการณ์ได้ดีขึ้นกว่าเดิมได้
- ควบคุมไม่ได้: อาการคิดมาก แม้ไม่อยากจะคิด เป็นเพราะคุณไม่สามารถควบคุมมันได้ อาจจะคิดว่ามันเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีทางแก้ไขได้
- รับข้อมูลระหว่างวันมากเกินไป : คนส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการคิดมากตอนช่วงก่อนจะนอนหลับ นั่นเพราะในระหว่างวันคุณอาจจะได้รับข้อมูลมากจนเกินไป และไม่มีเวลามากพอที่จะจัดการทุกเรื่องได้ ก่อนจะเข้านอนจึงทำให้เก็บเรื่องราวต่างๆ มาคิด แทนที่จะได้นอนหลับอย่างสบายใจ
ทั้งนี้ ข้อเสียของการเป็นคนมีอาการ คิดมาก อาจส่งกระทบต่อสุขภาพทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อโรคติดสุรา เสี่ยงเป็นโรคการกินผิดปกติ และความเครียดอย่างต่อเนื่องอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ฯลฯ
หยุดนิสัยคิดมาก ยังไงดี?
1.รู้ว่าตัวเองกำลังคิดอะไรอยู่
ถือเป็นด่านแรกที่สำคัญที่สุด ถ้าคุณนึกถึงเรื่องใดเรื่องเดิมๆ แบบซ้ำๆ แล้วเรื่องนั้นไม่มีประโยชน์อะไรเลย คุณบอกตัวเองได้เลยว่านี่แหละคุณกำลังคิดมากอยู่ จากนั้นก็หาทางออกที่จะหยุดปัญหานั้น จะหยุดยังไง ตามมาอ่านขึ้นตอนต่อไปนี้
2.ปรับเปลี่ยนความคิด เพื่อหยุดอาการคิดมาก
หากคุณพบแล้วว่าเรื่องใดที่ทำให้คุณคิดมาก ขั้นตอนต่อไปคุณต้องพยายามปรับเปลี่ยนความคิดนั้นเพื่อหยุดมัน! เช่น
- การใช้คำพูด : ให้พูดกับตัวเองว่า หยุดคิด ตั้งสติ ไม่ต้องคิดแล้วพอ! เป็นต้น
- คิดว่าไม่ใช่เรื่องจริง : หากคุณกำลัคิดถึงเรื่องใดแล้วไม่สบายใจ ให้พยายามปรับความคิดว่าเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ตัวคุณคิดมาเอง ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น!!
- อย่าสนใจอดีต : อย่าจมจ่อมอยู่กับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว หากมันเป็นข้อผิดพลาดก็เก็บมันมาไว้เป็นบทเรียน เท่านั้นพอแล้ว!
- เรามีสิทธิ์เดินออกมาจากความไม่สบายใจได้ทุกเมื่อ : หากคุณกำลังกังวล หรือกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ให้คุณรู้ไว้เลยว่า คุณนั้นมีสิทธิ์ที่จะเดินออกจากตรงนั้นได้ทุกเมื่อ เดินออกมาได้เลยไม่ต้องสนใจว่าใครจะรู้สึกยังไง คุณควรแคร์ความรู้สึกตัวเอง!
- อย่ากลัวการเริ่มอะไรใหม่ๆ : ให้คุณนึกไว้เสมอว่า การลงมือทำดีกว่าไม่ทำอะไรเลย การออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ มีโอกาสที่จะได้ประสบการณ์ ได้ลงมือทำ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรอย่าไปกลัว เพราะถ้าคุณไม่ลองคุณจะไม่พบกับคำตอบและก็จะยังวนเวียนมาให้คุณคิดมากไม่จบไม่สิ้น
3.ระบายกับคนสนิท
บางครั้งการได้ระบายออกไปก็ดีกว่าเก็บไว้คนเดียว ถ้าคุณรู้สึกเครียดวิตกมากๆ จนรับไม่ไหว ไประบายให้คนใกล้ตัว คนที่สนิทได้ฟังบ้างก็ได้ แล้วสนทนาเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกแฮปปี้ไปด้วยก็ยิ่งดี จะได้ไม่ต้องไปโฟกัสที่เรื่องลบๆ แย่ๆ
4.กิจกรรมช่วยได้
การมีเวลาว่างอาจทำให้คุณคิดมากก็เป็นได้นะ! ดังนั้นลองหากิจกรรมที่ชอบทำดู หรือกิจกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำก็ได้ เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหาร เข้าคอร์สวาดรูป ร้องเพลง ดูหนัง คือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ อาจจะช่วยให้ยับยั้งอาการวิตกต่างๆ ได้ดีขึ้น
คำแนะนำทั้งหมดที่กล่าวมา อาจจะทำไม่ได้ในทันที แต่ให้คุณลองพยายามค่อยๆ ปรับพฤติกรรมกันไป หมั่นทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะช่วยยับยั้งอาการวิตกอาการคิดมากให้ดีขึ้นได้
ที่มา : pobpad