ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ความรุนแรงขึ้นกับตำแหน่งที่เลือดออก พยาธิสภาพ และ ปริมาณเลือดที่ออก ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารเป็นสัญญาณเตือนอันตรายของโรคทางเดินอาหารที่สำคัญหลายชนิด
ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน
ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract หรือ GI tract) ของคนเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก (ซึ่งประกอบด้วย duodenum, jejunum และ ileum) ลำไส้ใหญ่ (ส่วน colon และ rectum) และ ทวารหนัก
1.ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI bleeding)
หมายรวมถึง ภาวะเลือดออกตั้งแต่ตำแหน่งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (เหนือต่อรูเปิดของ Ampulla of Vater บริเวณ duodenum)
อาการแสดง : อาเจียนเป็นเลือดสด (hematemesis) หรือสีน้ำกาแฟ (coffee ground) และถ่ายดำเหมือนยางมะตอย (melena) หากมีเลือดออกปริมาณมากอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำและถ่ายเป็นเลือดได้เช่นกัน
การตรวจวินิจฉัย : การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Esophagogastroduodenoscopy หรือ EGD)
2.ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนกลาง (Mid GI bleeding)
หมายถึง ภาวะเลือดออกบริเวณลำไส้เล็ก (นับตั้งแต่ใต้ต่อรูเปิดของ Ampulla of Vater บริเวณ duodenum ถึง ileum) ซึ่งอาจพบได้ไม่บ่อยนัก
อาการแสดง : ภาวะซีดเรื้อรัง ตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดงแฝง หรือสามารถถ่ายอุจจาระได้หลายรูปแบบ เช่น ถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด ขึ้นกับตำแหน่งของพยาธิสภาพบริเวณลำไส้เล็กและปริมาณเลือดที่ออก
การตรวจวินิจฉัย : การกลืนแคปซูล (Capsule endoscopy) หรือ การส่องกล้องลำไส้เล็ก (Enteroscopy)
3.ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง (Lower GI bleeding)
หมายถึง ภาวะเลือดออกบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
อาการแสดง : ถ่ายอุจจาระเป็นสีแดงเลือดนก (maroon stool) หรือสีเลือดแดง (hematochezia) ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพอยู่ส่วนต้นหรือส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ หากเลือดออกบริเวณทวารหนัก มักถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดแยกจากอุจจาระ
การตรวจวินิจฉัย : การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม
อนึ่ง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารสามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ลักษณะพยาธิสภาพที่พบได้อาจแตกต่างกันตามกลุ่มวัย และตำแหน่งในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคประจำตัว การใช้ยาประจำบางชนิด ความเสื่อม หรือไม่ทราบสาเหตุชัดเจน อาทิเช่น แผล เส้นเลือดขอด เส้นเลือดผิดปกติ ก้อนเนื้อ กระเปาะในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้หากพบว่ามีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารตามเทคนิคต่างๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถทำหัตถการห้ามเลือดขณะส่องกล้องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้
นาฬิกาข้อมือสุขภาพ DTECH รุ่น NB125
นาฬิกาข้อมือ Smart watch เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น มีการแจ้งเตือนเห็นภาพความคืบหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น
ราคา 1,299 บาท
ข้อมูลจาก พญ.ศิริณา เอกปัญญาพงศ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว