โรคเบาหวาน อีกหนึ่งภัยเงียบที่ทำร้ายสุขภาพและสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานและไม่ได้รับข้อมูลความรู้ รวมถึงการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยไว้ อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ไตวาย โรคเกี่ยวกับดวงตา และอาจอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่รู้ตัวและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเสียแต่เนิ่น ๆ
4 เรื่องเข้าใจผิด โรคเบาหวาน ควรรู้ข้อมูลที่ถูกต้องในการป้องกันและรักษา
รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ กล่าวว่า “เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา มีคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวานสูงถึงกว่า 5 ล้านคน ควบคู่มากับภาวะอ้วน ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาอีกมากมาย การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงสอดคล้องกับธีมรณรงค์ประจำปีนี้ของสมาพันธ์เบาหวานโลก นั่นคือ ความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันและรักษาดูแลโรคเบาหวานที่ต้องทำเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ (access to diabetes care – If not now, when?) เพราะหากไม่ทำทันที อาจส่งผลกระทบที่ไม่ใช่แค่คนคนเดียว แต่จะกระทบถึงลูกหลานและสังคมของเราโดยรวมได้มากกว่าที่เราคิด”
1.คำถาม/ความเชื่อ: จริงหรือไม่ที่โรคเบาหวานมักมาคู่กับความอ้วน
คุณหมอตอบ: เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือคนที่เป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว เริ่มจากน้ำหนักตัวที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 126 เท่ากับเป็นเบาหวานแล้ว (เทียบกับระดับน้ำตาลในเลือดปกติควรอยู่ที่ 100) เมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ๆ และมีภาวะอ้วน ร่างกายจะดื้อต่อการใช้อินซูลินและทำให้มีปริมาณน้ำตาลในร่างกายเกินความจำเป็น แม้น้ำหนักจะลดลงภายหลังก็ไม่ควรย่ามใจ เพราะแท้จริงอาจเป็นเบาหวานแล้ว ต้องเฝ้าระวังและหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะคนที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานอยู่แล้ว รวมถึงคนที่มีภาวะอ้วนลงพุงก็เสี่ยงเช่นกัน โดยวัดจากขนาดรอบเอวที่เหมาะสมด้วยการนำส่วนสูงมาหารสอง ขนาดรอบเอวที่ดีไม่ควรเกินเลขส่วนสูงหารสอง หากมากกว่านั้นก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้
ส่วนผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่สองคือ เป็นเบาหวานที่พบตั้งแต่เด็ก ไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะอ้วน ร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะขาดอินซูลิน ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ร่างกายจะผอมมาก ถือเป็นเบาหวานขั้นรุนแรง และมีความจำเป็นที่ต้องใช้อินซูลินในการรักษา
2.คำถาม/ความเชื่อ: โรคเบาหวานสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้จริงไหม และคนที่เป็นลูกของผู้ป่วยเบาหวานจะต้องเป็นเบาหวานแน่นอนหรือเปล่า
คุณหมอตอบ: โรคเบาหวานสามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกหลานได้ แต่ไม่ใช่ว่าต้องเป็นทุกคน มีงานศึกษาวิจัยที่ศึกษาครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เป็นเบาหวาน พบว่าร้อยละ 60 ของบุตรหลานผู้ป่วยเหล่านั้นไม่เป็นเบาหวานหากมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ในทางกลับกัน สำหรับคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานหวานมาก ๆ แม้ไม่มีพ่อแม่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน ก็สามารถสร้างยีนส์โรคเบาหวานขึ้นมาและส่งต่อให้ลูกหลานได้เช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หากพบว่าเป็นเบาหวาน ปริมาณน้ำตาลที่มากเกินพอดีจะถูกส่งไปที่ลูกในครรภ์ ทำให้ลูกมีขนาดตัวใหญ่ผิดปกติและส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกได้
สิ่งที่ต้องพึงระวังมากกว่าคือ การได้รับอิทธิพลพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในหมู่คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว ที่ไม่ใช่แค่กับคนในครอบครัว แต่รวมถึงเพื่อน และเพื่อนร่วมงาน ที่พากันรับประทานหวานกันเป็นกลุ่ม เช่น ชวนกันกินของหวานหรือดื่มชาไข่มุกหลังมื้อเที่ยงเป็นประจำ จำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
3.คำถาม/ความเชื่อ: สัญญาณเตือนโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง และหากป่วยเป็นเบาหวานแล้ว ควรดูแลตัวเองอย่างไรไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา
คุณหมอตอบ: สัญญาณเตือนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีอาการ ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแต่ไม่มีอาการ หรือกลุ่มคนที่มีประวัติพ่อแม่ป่วยเป็นเบาหวาน กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีอาการมา ๆ หาย ๆ ได้แก่ อ้วนแล้วผอมลง อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก รับประทานอาหารเก่งแต่ไม่อ้วนขึ้น ตาพร่ามัวชั่วคราว สายตาเปลี่ยนเร็ว มือเท้าชา กลุ่มคนเหล่านี้ควรไปตรวจสุขภาพ
สาเหตุส่วนใหญ่ของเบาหวานคือ รับประทานหวานมากเกินความจำเป็นและไม่มีการออกกำลังกายและ/หรือเคลื่อนไหวร่างกายเพียงพอ น้ำตาลจึงเข้าไปสะสมและก่อโรคที่ไม่ใช่แค่เบาหวาน แต่รวมถึงโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันพอกตับ และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้า วิธีดูแลตัวเอง คือ ควบคุมอาหารให้เหมาะสมและออกกำลังกาย หากรับประทานหวานแล้ว ควรออกเดินและ/หรือออกกำลังกายภายในวันเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการได้รับข้อมูลความรู้ในการดูแลป้องกันตัวเองที่ดีและถูกต้อง และปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
4.คำถาม/ความเชื่อ: ผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าใช้อินซูลินแล้ว แปลว่าเป็นเบาหวานระยะสุดท้าย จริงหรือไม่
คุณหมอตอบ: ไม่จริง ความจริงแล้วอินซูลินมีบทบาทสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยเบาหวานเกือบทุกระยะ เนื่องจากอาการเบาหวานของผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกัน บางรายเป็นเบาหวานระยะเริ่มต้นแต่จำเป็นต้องได้รับอินซูลินสม่ำเสมอเพราะร่างกายไม่สามารถดึงเอาน้ำตาลมาใช้ได้ปกติ และในอนาคต อินซูลินอาจพัฒนาไปมากขึ้นจนสามารถฉีดได้สัปดาห์ละครั้ง เทียบกับปัจจุบันที่ต้องฉีดวันละหลายครั้ง และมีขนาดพกพาเท่าปากกา รวมถึงการสร้างตับอ่อนเทียมเพื่อช่วยสร้างอินซูลิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้ป่วยเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น
การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวานถือเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เราสามารถดูแลตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ยิ่งไปกว่านั้น การต่อสู้เอาชนะโรคเบาหวานไม่ใช่เรื่องใครคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างจริงจังในระยะยาว ทั้งกับครอบครัว เพื่อน และที่ทำงาน เพื่อป้องกันโรคร้ายนี้ให้ลดน้อยลงไปและช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้นไปด้วยกัน
ที่มาจาก : รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ในการให้ความรู้ในงานกิจกรรมหัวข้อ “วันดีดีเกี่ยวกับเรื่องเบาหวาน” โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด และเฟซบุ๊กเพจ ร้อยเรื่องโรคเบาหวาน