ตามทฤษฎีทางจิตวิทยา การโกหก ที่ทำจนเป็นนิสัย เป็นความเคยชิน และสร้างปัญหา มี 2 แบบ คือ การโกหกตัวเอง (Pathological Liar) และการโกหกเป็นนิสัย (Compulsive Liar) ทั้งนี้สาเหตุของ โรคหลอกตัวเอง มาจากอะไร และมีอาการอะไรบ่งชี้บ้างว่าอาจจะกำลังเป็นโรคหลอกตัวเองอยู่
รู้จัก โรคหลอกตัวเอง สาเหตุ และอาการ
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า ทางจิตวิทยา การโกหก ที่ทำจนเป็นนิสัย มี 2 แบบ แต่ละแบบคืออะไร รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
1.การโกหกตัวเอง (Pathological Liar)
มีรากภาษาละตินว่า Pseudologia fantastica หมายถึง ภาวะการโกหกที่ควบคุมไม่ได้ โดยการโกหกตัวเองแบบนี้ เชื่อว่าเป็นการหนีปัญหารูปแบบหนึ่ง และมักจะมีการแต่งเติมสิ่งที่ขาดไปด้วยการจินตนาการตามสภาพที่อยากเป็น ผู้ป่วยที่มีอาการโกหกตัวเอง อาจมีลักษณะต่อต้านสังคม ขาดสังคม หรือขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
2.การโกหกเป็นนิสัย (Compulsive Liar)
การโกหกเป็นนิสัยเป็นการลวง หรือให้ความบิดเบือนต่อผู้อื่น ซึ่งเจ้าตัวยังรู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร
ภาวะ 2 ชนิดนี้ความแตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นโรคโกหกตัวเองแล้วเขาจะหลอกแม้แต่ความทรงจำของตัวเอง ส่วนโรคโกหกเป็นนิสัยบุคคลเหล่านี้ ยังรู้ว่าความจริงและความเท็จต่างกันอย่างไร อาจโกหกเพื่อเอาตัวรอด โดยยังสามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นจริงกับเรื่องที่โกหกได้
6 สาเหตุ โรคหลอกตัวเอง
- ความขัดแย้งในครอบครัว อาจอยู่ในครอบครัวที่มีปัญหามาตั้งแต่เด็ก ๆ
- ถูกกระทำชำเรา หรือถูกทำร้ายร่างกาย บังคับขืนใจในบางเรื่อง
- มีความผิดปกติทางประสาท เช่น ความพิการทางสมอง หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้
- มีอาการของโรคบุคลิกภาพแปรปรวน เช่น อันธพาล หลงตัวเอง หรือโรคบุคลิกภาพก้ำกึ่ง เป็นต้น
- มีพฤติกรรมเลียนแบบ
- มีผลข้างเคียงมาจากโรคยั้งใจไม่ได้ เช่น ชอบขโมยของ หรือ มีโรคบ้าช้อปปิ้งร่วมด้วย
อาการ โรคหลอกตัวเอง ที่มักเห็นได้บ่อยๆ
- มักพูดไปยิ้มไป แต่เป็นยิ้มหลอกๆ ที่สามารถจับสังเกตได้
- การพูดมักมีสีหน้านิ่งเกินเหตุ ดูไม่เป็นธรรมชาติ คล้ายกำลังพูดด้วยอาการเกร็ง
- หายใจถี่และแรงขึ้น กระพริบตาถี่ ชอบเม้มริมฝีปาก
- พูดติดขัด มีเนื้อความซ้ำไปซ้ำมา
- มักใช้มือแตะหรือจับที่ปากขณะที่พูด
- อาจจับหรือแตะต้องอวัยวะบางส่วนของร่างกายขณะที่พูด
สำหรับคนที่เข้าข่ายโรคหลอกตัวเอง สามารถเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาให้หายขาดได้ อาจเป็นด้วยการพูดคุยตักเตือน พฤติกรรมบำบัด หรือด้วยยา ถ้าเปิดใจรับทำการรักษาก็จะกลับเข้าสู่โลกปกติได้
ที่มา : สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย / www.healthandtrend.com