ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เราควรต้องป้องกันดูแลตนเองมากขึ้น เพื่อการเฝ้าระวังในการแพร่กระจายเชื้อ จึงทำให้หลายคนจะต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานเป็นที่บ้าน (work from home) หรือบางคนยังสลับกันมาทำงานที่ออฟฟิศ และปัญหาสุขภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มวัยทำงานมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อม จากพฤติกรรมในการนั่งทำงานด้วยท่านั่งไม่ถูกต้อง
กลุ่มวัยทำงาน มีความเสี่ยง โรคกระดูกคอเสื่อม จากพฤติกรรมนั่งทำงานด้วยท่าที่ไม่ถูกต้อง
สาเหตุและอาการเสี่ยง โรคกระดูกคอเสื่อม
นพ.ชาญวิทย์ ทวีรติธรรม ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางโรคกระดูกสันหลัง ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า กลุ่มวัยทำงานมีพฤติกรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวัน เคลื่อนไหวคอในท่าซ้ำๆ เกร็งคอในท่าทางผิดปกติเป็นเวลานาน หรือจดจ่ออยู่กับสมาร์ทโฟนอย่างหนัก อีกทั้งยังก้มๆ เงยๆ ผิดวิธี จึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดโรคกระดูกคอเสื่อมเร็ว
โดยอาจแสดงอาการให้เห็น เช่น รู้สึกปวดคอ สะบัก ร้าวไปที่แขน บางรายอาจร้าวไปถึงมือมีอาการชาและอ่อนแรง และมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากเกิดอาการดังกล่าวควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและแนวทางในการรักษา
การรักษา และการปรับพฤติกรรมให้ห่างไกลโรค
สำหรับการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมแพทย์จะประเมินจากความรุนแรงของอาการ โดยเริ่มจากการใช้ยา การทำกายภาพบำบัด แต่หากปล่อยไว้นานจนกระดูกคอเสื่อมมากเกินไปเกิดภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ ถึงแม้ว่าโรคกระดูกคอเสื่อมไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากเป็นความเสื่อมจากสภาพร่างกายที่มักเกิดขึ้นตามช่วงอายุที่มากขึ้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงได้ เช่น การทำงานไม่ควรก้มหน้าเกินไปหรืออยู่ท่าเดิมนานเกินไป ทุกๆ 30 นาที ควรเปลี่ยนอิริยาบถ หมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอทุกวัน วันละ 5 – 10 นาที เลือกหมอนที่รองรับสรีระของคอให้พอดี ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป
ที่มา: ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว