ยาคุมกำเนิด เป็นการคุมกำเนิดที่ง่าย สะดวก ปลอดภัย และได้ผลจริง ซึ่งผู้หญิงหลายๆ คนอาจยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้และผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งต้องรับประทานอย่างถูกวิธีจึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดและลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ไขข้อสงสัย ยาคุมกำเนิด เสี่ยง ‘มะเร็งเต้านม’ จริงหรือ?
ยาคุมกำเนิด คืออะไร
การรับประทานยาคุมกำเนิด เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ออกฤทธิ์ปรับเปลี่ยนระดัยฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายเพื่อยับยั้งการตกไข่ ซึ่งหากรับประทานอย่างถูกวิธีจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่หากรับประทานผิดวิธีอาจทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์และผลข้างเคียงตามมาได้
ประเภทของ ยาคุมกำเนิด
ปัจจุบันยาคุมกำเนิดมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาคุมชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมาก หากรับประทานเป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีผลดีช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอและช่วยลดปวดประจำเดือนได้
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสโตเจนชนิดเดี่ยว สามารถรับประทานได้ทุกวันโดยไม่ต้องหยุด ส่วนใหญ่ผู้ใช้จะไม่มีประจำเดือน
- ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ควรใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ประสิทธิภาพต่ำ และอาจเพิ่มโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
การกินยาคุมกำเนิดนานๆ เสี่ยงมั้ย?
กินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นหรือกลุ่มที่ใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี แต่ความเสี่ยงจะลดลงเมื่อหยุดกิน และถึงแม้ว่ายาคุมกำเนิดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง รังไข่และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้เมื่อใช้ติดต่อกันนานหลายปี ลดอาการปวดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาคุมกำเนิดควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนการใช้ เพื่อเลือกชนิดของยาคุมกำเนิดและปริมาณการใช้ที่เหมาะสม รวมถึงควรตรวจเช็คแมมโมแกรมหากใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว
ที่มา: ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียว 02-223-1351 ต่อ 5626