การป้องกันตนเอง คุกคามทางเพศ ล่วงละเมิดทางเพศ วิธีสอนลูก เพศศึกษา เลี้ยงลูก

แนวทางการ สอนลูกให้ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

วิธีสอนลูกให้ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ สิทธิในชีวิตและร่างกาย คือสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด จะยอมให้ผู้ใดมาทำการละเมิดสิทธิไม่ได้

Home / HEALTH / แนวทางการ สอนลูกให้ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

สิทธิในชีวิตและร่างกาย คือสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด มีกฎหมายรับรองและคุ้มครอง จะยอมให้ผู้ใดมาทำการละเมิดสิทธิไม่ได้ รวมคำแนะนำ วิธีสอนลูกให้ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

วิธีสอนลูกให้ปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ

สอนให้รู้จักร่างกาย

ช่วงที่เด็กเริ่มเรียกอวัยวะได้ บอกให้ลูกเรียนรู้เรื่องอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงอวัยวะเพศส อนเรียกอวัยวะเพศโดยใช้ชื่อที่เด็กเข้าใจ ไม่ต้องเป็นชื่อทางการ แต่เมื่อถึงวัยที่ลูกรู้ ความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียกด้วยคำที่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดปัญหาและลูกต้องการบอกเล่า การใช้คำทางการทำให้มีความเข้าใจตรงกัน อธิบายเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง

พูดคุยเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ

พูดคุยกับลูกเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ หาบรรยากาศสบาย ๆ สอนให้ลูกเข้าใจตนเอง และความหมายการล่วงละเมิด สิทธิที่จะปกป้องตัวเอง หากลูกสงสัยจะได้ถามพ่อแม่ได้ตรง ๆ ไม่รู้สึกกดดัน เพื่อที่ลูกเกิดความวางใจและมั่นใจ

เน้นย้ำสิทธิในร่างกายตัวเอง

ย้ำกับลูกเสมอว่า ลูกมีสิทธิในร่างกายของลูกคนเดียวเท่านั้น หากไม่ยอมให้ใครมาสัมผัส ไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิมาสัมผัส นอกจากการสัมผัสเพื่อทำความสะอาดหรือการรักษาจากแพทย์ หากใครมาสัมผัสแล้วรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ต้องกล้าบอกไปว่าไม่ชอบหรือไม่พอใจ

สอนและให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว/พื้นที่ส่วนตัว

บอกลูกว่าส่วนไหนบนร่างกายที่คนอื่นห้ามสัมผัส ห้ามจ้องมอง ห้ามถ่ายรูป เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถทำสิ่งนี้กับลูกได้ เมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วพ่อแม่ต้องคอยดูแล แนะนำ โดยให้ระมัดระวังการสัมผัสร่างกายของลูก และให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว เช่น การแยกห้องนอน

ค่อยๆ ให้ความคิดลูกเรื่องความเป็นส่วนตัว บอกลูกว่าผู้ใหญ่จะไม่แต่งตัวต่อหน้าคนอื่น หรือไม่ให้ใครแตะต้องอวัยวะเพศ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ว่าลูกสาวหรือลูกชาย ฝึกให้ลูกรู้จักใส่เสื้อผ้าเองในที่มิดชิด เท่ากับสอนให้เขาหวงเนื้อหวงตัวตั้งแต่ยังเด็ก

อย่าแตะต้องอวัยวะเพศของลูก

หลังจากลูกขับถ่ายทำความสะอาดได้เองแล้ว ไม่ควรให้มีใครนอกจากตัวเด็กเองที่จับต้องอวัยวะเพศ/ของตนได้ หรือถ้าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับ อวัยวะเพศ ก็ควรให้ลูกเป็นผู้จับให้พ่อแม่ดูเอง

สอนให้รู้จักคำว่าหยุด สอนให้รู้จักปฏิเสธ

ในเกมที่เล่นกับลูก หรือลูกเล่นกัน ถ้าใครสักคนบอกว่าหยุดหรือพอ อีกคนต้องให้ความสำคัญ และยอมเลิก เรื่องนี้สำคัญเพราะจะสอนให้เด็กรู้ว่าคำพูดหรือความต้องการของเรามีความหมาย ยิ่งไปกว่านั้นหากอีกฝ่ายไม่ยอมหยุด ลูกก็มีสิทธ์ที่จะเดินหนี หรือไปขอความช่วยเหลือจากคนที่โตกว่าได้

และสอนลูกด้วยว่า หากถ้ามีใครมาสัมผัสพื้นที่สงวนของร่างกาย สอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธ ต้องพูดไปเลยว่า “ไม่ได้” และอาจจะส่งเสียงขอความช่วยเหลือดัง ๆ และวิ่งหนีออกมาไม่ต้องเกรงใจ

ภาษาที่แสดงความรู้สึก และการเป็นผู้ฟัง

พ่อแม่ควรสอนให้เด็กเข้าใจความหมาย และหัดใช้คำพูดถ่ายทอดความรู้สึก เช่น มีความสุข เศร้าใจ กลัว ไม่มีความสุข โกรธ วันใดที่ลูกรู้สึกไม่สบายใจหรือกังวลใจ จะได้สามารถพูดแสดงความรู้สึกออกมาได้ไม่ยาก ไม่ต้องเก็บไว้จนเกิดปัญหา กฎที่ปราศจากความกลัว ระเบียบกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้ในบ้านต้องไม่มีบทลงโทษที่ทำให้ลูกกลัว ต้องไม่มีการดุด่า ประณาม หรือ ทุบตี แต่ต้องฟังลูก ให้พูดถึงเหตุผลที่ไม่ทำตามกฎที่วางไว้ เพราะนี่คือการสอนลูกว่า ลูกมาหาพ่อแม่ได้ทุกครั้งที่ลูกรู้สึกผิด และพ่อแม่จะฟัง และไม่ทำร้ายลูกทั้งกาย และใจ

ไม่ใจอ่อนหรือปิดบัง เกิดปัญหาให้พูดออกมาเลย

กำชับลูกเสมอว่า ไม่ว่าคนที่ทำลูกจะขอร้องหรือขู่อย่างไร หากลูกไม่พอใจในสิ่งที่ถูกกระทำ ลูกต้องบอกพ่อแม่ ผู้ปกครองทันที ไม่ต้องปิดเป็นความลับ ไม่มีใครทำอะไรลูกได้เด็ดขาด เพื่อให้ลูกมั่นใจว่าการบอกออกไปนั้นจะสามารถช่วยปกป้องเขาได้

อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า

สอนลูกว่าอย่าไว้ใจคนเเปลกหน้าที่มาคุยเด็ดขาด ถึงเเม้คนเหล่านั้นจะเอาขนมมาให้กินอย่ากินเด็ดขาด หรืออ้างว่ารู้จักกับพ่อเเม่ก็ตาม ไม่ต้องเกรงใจแม้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นคนที่เด็กเคารพก็ตาม เนื่องจากคนที่ทำอนาจารบางครั้งอาจจะเป็นคนใกล้ชิด

ที่มา: thaiparents, saijai, กรมอนามัย